รศ.ดร.ศิริเดช สุชีวะ คณบดีคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการสำรวจโพล Education Watch เรื่อง “ปัจจัยความสำเร็จและความล้มเหลวของการปฏิรูปการศึกษาไทย” พบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการศึกษา ในระดับสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนและการวัดผลในชั้นเรียน, การเปลี่ยนแปลงการผลิตและพัฒนาครู, การเปลี่ยนแปลงนโยบายของ ศธ. ส่วนปัจจัยที่เกี่ยวข้องในระดับต่ำสุด 3 ระดับ ได้แก่ การตั้งกองทุนสนับสนุนผู้ขาดแคลนและด้อยโอกาส, การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการบริหารงานของ ศธ., การเปลี่ยนแปลงการบริหารงานของศึกษาธิการภาค ศึกษาธิการจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา เมื่อดูในรายละเอียดนั้น ด้านนโยบายการศึกษาพบว่า นโยบายไม่ตอบโจทย์และความต้องการที่แท้จริงของครูและนักเรียน, ด้านการบริหารจัดการ พบว่า ศึกษาธิการและศึกษาธิการจังหวัดไม่สามารถประสานงานกับเขตพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ, ด้านหลักสูตรและการเรียนการสอน พบว่า หลักสูตรแกนกลางไม่เหมาะสมกับความต้องการของพื้นที่, ด้านการวัดและประเมินผล พบว่า ข้อสอบระดับประเทศไม่สอดคล้องกับสิ่งที่ผู้เรียนได้เรียนและยากเกินไป , ด้านครู พบว่า การมุ่งทำผลงานเลื่อนวิทยฐานะที่ไม่ได้ช่วยพัฒนาผู้เรียนอย่างแท้จริง, ด้านประกันคุณภาพ พบว่า ครูเสียเวลากับการเตรียมรับการประกันคุณภาพ ทั้งการประกันคุณภาพไม่ได้มีส่วนช่วยพัฒนาสถานศึกษาอย่างแท้จริง.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 6 ตุลาคม 2560