ผลประเมิน PISA 2015 "วิชาวิทยาศาสตร์" นร.ไทยรั้งท้ายเอเชีย คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยและต่ำกว่าทุกประเทศยกเว้นอินโดนีเซีย พบเกือบครึ่งหนึ่งยังรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน พบเป็นกลุ่ม ร.ร.สังกัดท้องถิ่น กทม. อาชีวะ ขณะที่กลุ่มท็อปฟอร์มมีเพียง 0.5% จาก ร.ร.เน้นสอนวิทย์ ด้าน ร.ร.สาธิตได้ระดับปานกลาง และ ร.ร.สพฐ.แค่ระดับพื้นฐาน
ดร.พรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า สสวท.ได้จัดทำเว็บไซต์เกี่ยวกับโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ (PISA) คือ PISA Thailand และได้มีการวิเคราะห์ประเด็นต่างๆ จากการประเมินผล PISA หรือ “FOCUS ประเด็นจาก PISA” โดยล่าสุดได้วิเคราะห์หัวข้อ "วิทยาศาสตร์ของนักเรียนไทยกับนักเรียนในภูมิภาคเอเชีย" พบว่า ใน PISA 2015 วิชาวิทยาศาสตร์มีค่าเฉลี่ย OECD เป็นคะแนนมาตรฐานที่ 493 คะแนน โดยกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์สูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ จีนไทเป มาเก๊า เวียดนาม ฮ่องกง และจีนสี่มณฑล ส่วนกลุ่มที่มีคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย OECD ได้แก่ ไทย และอินโดนีเซีย โดยไทยมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าอินโดนีเซียทุกวิชา
"ประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่มีคะแนนเฉลี่ยวิทยาศาสตร์อยู่ในกลุ่มบนสุดสิบอันดับแรก (Top 10) ได้แก่ 1.สิงคโปร์ 556 คะแนน 2.ญี่ปุ่น 538 คะแนน 3.เอสโตเนีย 534 คะแนน 4.จีนไทเป 532 คะแนน 5.ฟินแลนด์ 531 คะแนน 6.มาเก๊า 529 คะแนน 7.แคนาดา 528 คะแนน 8.เวียดนาม 525 คะแนน 9.ฮ่องกง 523 คะแนน และ 10.จีนสี่มณฑล 518 คะแนน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในบรรดากลุ่มบนสุดสิบอันดับแรกนี้ เป็นประเทศ/เขตเศรษฐกิจในเอเชียถึง 7 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจด้วยกัน" ดร.พรพรรณ กล่าว
ดร.พรพรรณ กล่าวว่า นอกจากประเมินด้วยคะแนนเฉลี่ย ยังขยายภาพให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่ระบบการศึกษามากขึ้น เพื่อให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า นักเรียนรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากน้อยต่างกันอย่างไร โดยรายงานเป็นระดับการรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ แบ่งออกเป็น 6 ระดับ เริ่มจากระดับต่ำสุด คือ ระดับ 1 จนถึงระดับสูงสุด คือ ระดับ 6 โดยระดับ 2 ถือเป็นระดับพื้นฐานต่ำสุดที่นักเรียนวัย 15 ปี ควรจะต้องรู้และสามารถใช้ประโยชน์วิทยาศาสตร์ในชีวิตจริงได้ แต่ถ้าต่ำกว่าระดับ 2 ลงไป ถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่นักเรียนแสดงว่ามีความสามารถไม่ถึงระดับพื้นฐาน โดยพบว่า นักเรียนไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2 (410-480 คะแนน) โดยมีจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งคือ 46.7% ที่มีผลการประเมินต่ำกว่าระดับพื้นฐาน หรือรู้เรื่องวิทยาศาสตร์ไม่ถึงระดับพื้นฐาน ขณะที่ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และจีนไทเป มีนักเรียนจำนวนมากที่สุดมีคะแนนที่ระดับ 4 (คะแนน 559 - 633) โดยเฉพาะสิงคโปร์มีนักเรียนมากกว่าครึ่ง หรือ 51.9% ที่แสดงความสามารถตั้งแต่ระดับ 4 ขึ้นไป
"หากดูเฉพาะกลุ่มคะแนนบนสุดหรือระดับ 5 และระดับ 6 สิงคโปร์มีนักเรียนประมาณหนึ่งในสี่ หรือ 24.2% จีนไทเปและญี่ปุ่นมีนักเรียนเกือบหนึ่งในหก คือ 15.4% และ 15.3% ตามลำดับ จีนสี่มณฑล 13.6% เกาหลี 10.6% มาเก๊า 9.2% เวียดนาม 8.3% ฮ่องกง 7.4% ส่วนไทยมีนักเรียนกลุ่มบนสุดเพียง 0.5% ทั้งนี้ นักเรียนไทยกลุ่มที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรงเรียนเน้นวิทยาศาสตร์มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 4 กลุ่มโรงเรียนสาธิตมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 3 กลุ่มโรงเรียน สพฐ. ในสังกัดกรมสามัญศึกษาเดิม (สพม.) มีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 2 กลุ่มโรงเรียนเอกชนสายสามัญมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่จุดตัดระหว่างระดับ 1a กับระดับ 2 ส่วนกลุ่มโรงเรียนที่เหลือมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1a ได้แก่ โรงเรียน สพฐ. ที่มาจากโรงเรียนขยายโอกาสเดิม (สพป.) โรงเรียนในสังกัดกรมการปกครองท้องถิ่น (กศท.) โรงเรียนในสังกัดสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และโรงเรียน/วิทยาลัยอาชีวศึกษาของเอกชนและของรัฐ (อศ.1 และ อศ.2)" ดร.พรพรรณ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก MGR Online วันที่ 3 ต.ค. 2560