สสวท.แจงปรับหลักสูตรคณิต-วิทย์-ภูมิศาสตร์ ให้สอดคล้องการเปลี่ยนแปลงโลกในปัจจุบันทั้ง 12 ชั้นปี รับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เริ่ม ป.1 และ ป.4 ม.1 และ ม.4 ปี 61 และครบทุกชั้นในปี 63 เนื้อในเน้นภาคปฏิบัติตั้งแต่ระดับประถม เพื่อให้เด็กได้สนุกกับการเรียน ย้ายสาระเทคโนโลยีเข้ากลุ่มวิชาวิทย์ ปรับมาตรฐานเป็นรายชั้นปี ยันได้มาตรฐานสากล ผ่านการประพิจารณ์และการประเมินจากมหาวิทยาลัยแคมบริดจ์ด้วย
ที่สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) นางพรพรรณ ไวทยางกูร ผู้อำนวยการ สสวท. กล่าวว่า ตามที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้ออกคำสั่ง ศธ.ที่สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขึ้นพื้นฐาน (สพฐ.) 1239/2560 เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 นั้น ทาง สสวท.ได้ดำเนินการปรับมาตรฐานการเรียนรู้ในกลุ่มสาระดังกล่าวใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม สภาพแวดล้อมในปัจจุบัน ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เจริญก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว รวมถึงเป็นการยกระดับการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ด้วย โดยการปรับมาตรฐานการเรียนรู้ครั้งนี้เป็นการปรับหลักสูตรทั้ง 12 ชั้นปี ซึ่งสาเหตุที่จะต้องมีการปรับเป็นชั้นปี เพราะจะทำให้ครูผู้สอนสามารถลำดับเนื้อหาที่ง่าย-ยากได้ตามระดับชั้น อีกทั้งการที่ไม่ได้ระบุชั้นปีจะทำให้การจัดเนื้อหาขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้สอน ไม่ใช่ผู้เรียน
นางพรพรรณกล่าวต่อว่า และในการปรับครั้งนี้ยังได้ย้ายสาระเทคโนโลยีที่เดิมอยู่ในกลุ่มสาระฯ การงานอาชีพและเทคโนโลยี มาอยู่ในกลุ่มสาระฯ วิทยาศาสตร์ เนื่องจากเราต้องเตรียมความพร้อมคนให้มีความรู้ โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี ซึ่งเนื้อหาก็จะสนับสนุนกับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับหลักสูตรแล้วจะส่งผลให้การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล รวมไปถึงแบบเรียน ก็จะต้องมีการปรับให้ได้มาตรฐานสอดคล้องตามกันไปด้วย โดยเงื่อนไขการใช้มาตรฐานการเรียนรู้จะเริ่มตั้งแต่ปี 2561 โดยเริ่มใช้ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และ 4 และตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไปจะให้ใช้ในทุกระดับชั้น ซึ่งระดับประถมศึกษาจะเน้นในเรื่องการอ่านมากขึ้น รวมถึงการเก็บสาระสำคัญ การสรุปความ ให้มีการฝึกปฏิบัติการมากขึ้น เพื่อให้เด็กได้สนุกกับการเรียนรู้ ส่วนในระดับมัธยมศึกษาก็จะมีการเพิ่มการฝึกปฏิบัติการเพิ่มขึ้น รวมถึงออกแบบตัวชี้วัดในรายวิชาพื้นฐานเพิ่มเติมให้มีความแตกต่างกันด้วย เพื่อไม่ให้ยากเกินไปสำหรับเด็กที่ไม่ได้เรียนสายวิทยาศาสตร์
"ทั้งนี้ สำหรับกรณีที่มีหลายคนเป็นห่วงว่าการปรับมาตรฐานการเรียนรู้ครั้งนี้จะได้มาตรฐานสากลหรือไม่นั้น ต้องบอกว่าการปรับหลักสูตรทั้ง 3 วิชาได้ผ่านการประชาพิจารณ์ และได้รับการประเมินจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่ามาตรฐานของเราสอดคล้องกับสากล" ผอ.สสวท.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 22 กันยายน 2560