สพฐ. ปักธง 2561 “ปีแห่งการปฏิบัติ” โรงเรียนไร้ขยะ Zero Waste School มุ่งแก้ปัญหาระยะยาว
วันนี้ (17 ก.ย.) ที่โรงแรมเอวานา กรุงเทพฯ สำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา (สนก.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) โดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)สมุทรปราการ เขต 1 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดประชุมปฏิบัติการการขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืน “โรงเรียนปลอดขยะสัญจร” ระดับภูมิภาค สนอง “ยุทธศาสตร์ชาติ 20ปี”สู่การปฏิบัติการ “ประเทศไทย ไร้ขยะ” ปักธงรุก 2560 “Set Zero Waste School” เพื่อขับเคลื่อนนโยบายการจัดการขยะในสถานศึกษาสู่การปฏิบัติที่ยั่งยืนและเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และถอดบทเรียนในการขับเคลื่อนการจัดการขยะในสถานศึกษา
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. กล่าวว่า จากข้อมูลสถานการณ์ขยะมูลฝอยของกรมควบคุมมลพิษ ปี พ.ศ. 2559 พบว่า แนวโน้มของปริมาณขยะมูลฝอยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 27.06 ล้านตัน คิดเป็น 1.14 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน สะท้อนให้เห็นต้นเหตุแห่งปัญหาขยะที่เกิดจากกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งการกำจัดขยะจากเทศบาลหรือการนำขยะไปกำจัดหรือทำลายเป็นการกำจัดที่กลางทางและปลายทาง ดังนั้น ในทางที่ถูกต้องคือการแก้ปัญหาที่ต้นทาง โดยต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนเป็นหลัก เช่น การคัดแยกขยะต้องเริ่มจากที่บ้าน สถานศึกษาเองก็ต้องเป็นต้นแบบในการให้ความรู้ที่ถูกต้อง รวมถึงบริบทของสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการสร้างวินัยด้านการลดใช้ทำให้ขยะเกิดขึ้นให้น้อยลง ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาในระยะยาว โดยจะต้องทำให้เป็นระบบเพื่อความอย่างยั่งยืน
“สพฐ.ตั้งเป้าหมายให้ ปี 2561 เป็น “ปีแห่งการปฏิบัติ” โรงเรียนของ สพฐ.ทุกแห่งต้องไร้ขยะ เนื่องจาก สพฐ.ได้เริ่มสร้างความตระหนัก สร้างจิตสำนึกการลดใช้พลังงาน จัดการขยะ และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้แก่หน่วยงานทั้งเขตพื้นที่การศึกษา โรงเรียน ครู นักเรียน ตั้งแต่ปี 2559-2560 ซึ่งเมื่อเราได้สร้างความตระหนักไปแล้วต่อไปก็ต้องนำไปสู่การปฏิบัติ โดยต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน ซึ่งอาจจะเป็นลักษณะงบประมาณแลกเป้า โดยเขตพื้นที่การศึกษาทุกเขตจะต้องลดเรื่องของการจัดกิจกรรม แต่เน้นการปฏิบัติที่เป็นไปตามบริบทของโรงเรียน และต้องผลลัพธ์ต้องเกิดที่ตัวเด็ก โดยให้โรงเรียนจัดทำแผนเสนอขึ้นมา สพฐ.จะทำหน้าที่ให้การสนับสนุนและติดตามประเมินผล” นายบุญรักษ์กล่าว
นางนิจวดี เจริญเกียรติบวร ผอ. สนก. สพฐ. กล่าวว่า สพฐ.มอบหมายให้ สนก. ดำเนินการจัดกิจกรรมการสร้างจิตสำนึกและวินัยในการจัดการขยะ น้ำเสีย และมลพิษทางอากาศในสถานศึกษา ในปี 2559 – 2560 โดยได้กำหนดนโยบายด้านการสร้างวินัยในสถานศึกษา การจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เน้นโรงเรียนปลอดขยะ โดยกำหนดให้เขตพื้นที่การศึกษา 225 เขตทั่วประเทศ ทำบันทึกข้อตกลงกับโรงเรียนให้ดำเนินการเรื่องการจัดการขยะในสถานศึกษา โดยร่วมบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สิ่งแวดล้อมจังหวัด องค์การปกครองท้องถิ่น ซึ่งในปี 2559 ได้คัดเลือกโรงเรียนตัวอย่าง 20 โรงจากโรงเรียนที่เข้าโครงการ 15,000 โรง เป็นโรงเรียนนำร่อง ส่วนในปี 2560 ได้ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั่วประเทศขยายผลให้ครบทุกโรงเรียน และให้คัดเลือกโรงเรียนลำดับ 1-3 ของโรงเรียนต้นแบบระดับเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และถอดบทเรียน เพื่อนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนการดำเนินงานในปีงบประมาณ 2561 ต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอาทิตย์ที่ 17 กันยายน 2560 เวลา 17.13 น.