เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 485/2560 เรื่อง มอบนโยบาย ผอ.สพท.แต่งตั้งใหม่ ที่นครนายก โดยมีรายละเอียด ดังนี้
จังหวัดนครนายก - นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบนโยบายแก่ผู้เข้ารับการอบรมตามหลักสูตร "การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา" พร้อมทั้งบรรยายพิเศษ เรื่อง "Education in Thailand: Evidence-based Policy" เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2560 ณ ห้องศรีนาวา โรงแรมภูเขางามรีสอร์ท โดยมีนายบุญรักษ์ ยอดเพชร เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, นายพิเชฐ โพธิ์ภักดี หัวหน้าสำนักงานรัฐมนตรี และผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา/มัธยมศึกษา ที่ได้รับการคัดเลือกจำนวน 110 คน ร่วมรับฟังการบรรยาย
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า ในนามของกระทรวงศึกษาธิการ ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าอบรมตามหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทั้ง 110 คน ที่ผ่านการคัดเลือกและเป็นที่ยอมรับในสังคม เพราะเข้ามาดำรงตำแหน่งอย่างขาวสะอาด จึงขอให้ภาคภูมิใจที่ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ อีกทั้งขอระลึกอยู่เสมอว่าท่านคือบุคคลที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศในการปฏิรูปการศึกษา ซึ่งการมีผู้นำที่ดีเปรียบเสมือนกองทัพที่ต้องมีแม่ทัพที่ดี ไม่เช่นนั้นรบเมื่อไรก็แพ้
นอกจากนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้นำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์ผลการสอบ Programme for International Student Assessment หรือ PISA ของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2558 ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สะท้อนข้อเท็จจริงหลายประการ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมได้นำไปเป็นแนวทางในการบริหารภายหลังเสร็จสิ้นการอบรม ความว่า การสอบ PISA ดำเนินการโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) เป็นการสอบที่วัดความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการเขียน ของเด็กอายุ 15 ปีในแต่ละประเทศว่าเด็กเหล่านั้นมีทักษะและความรู้เพียงพอที่จะนำไปใช้ในโลกของความเป็นจริงในขณะนั้นได้อย่างไรโดยจะวัดผลทุก ๆ 3 ปี
จากการวิเคราะห์ผลการสอบ PISA ของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่า เด็กไทยมีคะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 420 คะแนน ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาแล้วที่เป็นสมาชิก OECD มีคะแนนเฉลี่ยประมาณ 500 คะแนน ซึ่งนักวิชาการได้ทำการวิเคราะห์แล้วว่า ทุก ๆ 30 คะแนนที่ต่างกัน แสดงถึงความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 1 ปี หมายความว่าเด็กไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษากับเด็กในประเทศสมาชิก OECD ประมาณ 2 ปีกว่า ๆ
ที่สำคัญ เมื่อวิเคราะห์ผลการสอบ PISA ของเด็กในประเทศไทยด้วยกันเอง พบว่ามีเด็กที่ได้คะแนนสูงเฉลี่ย 550 คะแนน ส่วนเด็กที่ได้คะแนนต่ำเฉลี่ย 350 คะแนน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าในประเทศไทยเองมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเกือบ 7 ปี สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อเราใช้ผลการสอบ PISA เป็นเทอร์โมมิเตอร์วัดปรอทด้านการศึกษา เด็กในประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาอย่างมาก ดังนั้น หากเรามองแต่สังคมคนมีหรือสังคมคนเมือง การปฏิรูปก็จะไม่มีวันประสบผลสำเร็จ อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ได้จากการวิเคราะห์ผลการสอบ PISA คือ ช่องว่างคะแนน PISA ของเด็กไทยที่ได้คะแนนมากที่สุดกับเด็กที่ได้คะแนนน้อยที่สุดตั้งแต่ปี พ.ศ.2543-2558 ไม่ได้แคบลง แปลว่าการปฏิรูปการศึกษาที่ผ่านมายังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร
ดังนั้น เป้าหมายของเราตอนนี้คือการทำให้ช่องว่างนั้นแคบลง ด้วยการยกระดับข้างล่างขึ้นมาให้ได้ จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่สำคัญของผู้ที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในยุคนี้ สำหรับเด็กที่เก่งอยู่แล้ว อาทิ เด็กในโรงเรียนฐานวิทย์ที่ได้คะแนนสูงอยู่แล้ว ขอให้รักษามาตรฐานไว้ แต่สำหรับเด็กที่ได้คะแนนต่ำ ต้องช่วยกันพัฒนาและยกระดับขึ้นมาให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กที่ยากจนหรือเด็กในชนบท เพราะผลการวิเคราะห์ PISA อีกประการหนึ่งแสดงให้เห็นว่า ความจนไม่ใช่ชะตากรรม (Poverty is not destiny.) กล่าวคือ มีเด็กนักเรียนที่ครอบครัวมีฐานะยากจนจากมาเก๊า ฮ่องกง เวียดนาม และเอสโตเนีย สามารถทำคะแนน PISA ติดระดับท็อปของโลก นั่นคือความจนไม่ใช่อุปสรรคในการศึกษา ตราบใดที่ระบบการศึกษาดี ประกอบกับเด็กต้องมี Mindset ที่ดี คือมีความกระตือรือร้นในการเรียน และมีความต้องการที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาด้วย
ทั้งนี้ รมว.ศึกษาธิการ ได้ฝากข้อคิดในการบริหารงานในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดังนี้
- ไม่ควรพูดในสิ่งที่ไม่รู้ เพราะถ้าไม่รู้จริงแล้วพูดออกไป สิ่งที่พูดก็ไม่มีประโยชน์ ในขณะเดียวกันให้คำนึงถึงผู้ที่เราต้องการสื่อสารด้วยว่า ผู้ฟังคือใคร และมีเป้าหมายอย่างไร
- Thailand 4.0 เป็นคำที่นิยมใช้กันมากในปัจจุบัน ในแวดวงการศึกษาก็นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย แต่ก่อนที่เราจะไปถึง Thailand 4.0 นั้น เราต้องรู้ที่มาก่อน ซึ่งคำว่า 4.0 มีที่มาเมื่อปี ค.ศ.2011 สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีต้องการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมในประเทศของตนเองเพื่อให้ทันต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม 4.0 โดยมีวิวัฒนาการของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ดังนี้ การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรก (1st Industrial Revolution) คือการปฏิวัติกลไก (Mechanical) ที่มีการนำเครื่องจักรไอน้ำมาเป็นเครื่องทุ่นแรง, การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 2 (2nd Industrial Revolution) นำระบบไฟฟ้า (Electrical) เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรม, การปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 3 (3rd Industrial Revolution) ด้วยการมีระบบดิจิทัล (Digital) เช่น การนำคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้ ทำให้เกิดการประมวลผลที่รวดเร็วขึ้นและเกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และการปฏิวัติอุตสาหกรรม ครั้งที่ 4 (4th Industrial revolution) เน้นการบูรณาการ (Integral) ดังนั้น หากเราต้องการพัฒนาการศึกษาให้ไปถึง 4.0 เราต้องไม่ลืมว่าโรงเรียนบางแห่งยังไม่มีอินเทอร์เน็ตที่ใช้ทำการเรียนการสอน นั่นแปลว่าการศึกษาของโรงเรียนนั้นยังพัฒนาไม่ถึงขั้นยุค 3.0 แล้วเราจะพัฒนาให้เป็น 4.0 ได้อย่างไร เพราะถ้าพื้นฐานไม่ดี 4.0 ก็มีไม่ได้ นอกจากนี้ หากเราต้องการพัฒนาไปสู่ยุค 4.0 เราต้องมี Mindset 4.0 ด้วย ซึ่ง Mindset ก็มีวิวัฒนาการตั้งแต่ 1.0-4.0 คือ 1.0 Ego-centric : ยึดตนเองเป็นหลัก, 2.0 Group-centric : หลักเกณฑ์, 3.0 World-centric : หลักการ และ 4.0 Integral : บูรณาการ
- นำหลักนิติธรรม (The Rule of Law) ของ Tom Bingham ไปปรับใช้ในการบริหารและการดำรงชีวิตด้วย ซึ่งหลักนิติธรรมดังกล่าว ประกอบด้วย สาระสำคัญ 8 ประการ คือ
1) The accessibility of the law กฎหมายที่ประชาชนทั่วไปต้องเข้าถึงได้ เข้าใจได้ และกระจ่างชัดเจน
2) Law, not discretion การใช้กฎหมายต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่ใช่การใช้ดุลพินิจ
3) Equality before the law กฎหมายต้องถูกใช้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม
4) Dispute resolution กฎหมายต้องมีช่องทางและกระบวนการแก้ไขข้อพิพาท ที่จะคลายความขัดแย้ง
5) A fair trial กระบวนการยุติธรรมต้องเป็นธรรม
6) The exercise of power เจ้าหน้ารัฐที่ทุกระดับชั้นต้องใช้อำนาจอย่างสุจริต เป็นธรรม เพื่อวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ใช้อำนาจนั้น
7) Human rights กฎหมายต้องคุ้มครองสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน
8) The rule of law in the international legal order หลักทั้งหมดต้องอยู่ในกรอบตามกฎหมายสากล
อนึ่ง การอบรมหลักสูตรการพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 กันยายน - 24 ตุลาคม 2560 มีผู้เข้าอบรมจำนวนทั้งสิ้น 110 คน แบ่งเป็นสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา จำนวน 93 คน และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา จำนวน 17 คน โครงสร้างหลักสูตรประกอบด้วย 3 ส่วน คือ 1) การเสริมสร้างสมรรถนะของผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา 2) การเรียนรู้ในสภาพจริง และ 3) การจัดทำและนำเสนอแผนกลยุทธ์การพัฒนาการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา โดยผู้เข้ารับการอบรมต้องมีระยะเวลาในการเข้ารับการพัฒนาไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 และต้องผ่านเกณฑ์การประเมินผลระหว่างพัฒนาและสิ้นสุดการพัฒนาในแต่ละส่วนไม่น้อยกว่าร้อยละ 80
อรพรรณ ฤทธิ์มั่น, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
ยุทธพงศ์ เลือกกลั่นดี: ถ่ายภาพ
14/9/2560
ขอบคุณที่มาจาก เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 14 กันยายน 2560