กยศ.เร่งตรวจสอบข้อมูลนักศึกษาปลอมเอกสารผู้คำประกัน ยันการทำสัญญากู้ยืมรัดกุม และสถานศึกษามีหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลนักศึกษาก่อนส่งกองทุนฯ พร้อมพัฒนาระบบตรวจสอบข้อมูลผู้กู้
จากกรณีอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง(มฟล.) แอบนำสำเนาบัตรประชาชนของผู้อื่นมาเป็นผู้ค้ำประกันในการกู้ยืมเงินกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) และไม่ยอมใช้หนี้ จนมีหมายศาลส่งไปถึงผู้ถูกนำบัตรประชาชนไปแอบใช้นั้น นายปรีชา บูชางกูร รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.) กล่าวว่า กยศ.ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว และขณะนี้กำลังจะตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ของผู้กู้ดังกล่าว รวมทั้งจะไปคุยกับทางมหาวิทยาลัยและผู้เสียหายก่อน อย่างไรก็ตามในการกู้ยืมเงิน กยศ.จะมีการทำสัญญากู้ยืมเงินที่รัดกุมมาก โดยเฉพาะกรณีผู้ค้ำประกันนั้น ต้องไปลงลายมือชื่อต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารสถานศึกษา แต่ถ้าผู้ค้ำประกันไม่สามารถมาลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินต่อหน้าเจ้าหน้าที่ หรือผู้บริหารสถานศึกษาได้ ก็ให้เจ้าพนักงานทะเบียนท้องที่หรือท้องถิ่น ณ ภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้านหรือภูมิลำเนาที่ประกอบอาชีพของผู้ค้ำประกันรับรองแทนได้
นายปรีชา กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ทางกองทุนฯจะให้สถานศึกษาตรวจสอบสัญญากู้ยืมเงิน และแบบลงทะเบียนเรียน/แบบยืนยันค่าเล่าเรียน ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาและค่าครองชีพ และเอกสารประกอบให้ถูกต้องครบถ้วนทุกฉบับก่อนรวบรวมส่งให้ทางกองทุนฯ แต่ก็ต้องยอมรับว่าแต่ละปีจะมีผู้กู้ยืมเงิน กยศ.จำนวนมาก เอกสารต่าง ๆ ก็มีให้ตรวจสอบมาก จึงอาจเกิดความผิดพลาดในการตรวจสอบเอกสารได้ อย่างไรก็ตามในอนาคต กยศ.จะพัฒนาเข้าสู่ระบบดิจิทัลเต็มรูปแบบ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบข้อมูลมีความชัดเจน และสะดวกต่อการติดตามด้วย
“กรณีที่เกิดขึ้นก็ไม่ทราบว่า เกิดความผิดพลาดตรงไหน แต่เมื่อเรื่องมาถึงศาล ผู้เสียหายก็ต้องต่อสู้และชี้แจงให้ศาลได้รับทราบถึงข้อเท็จจริง เชื่อว่าศาลจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน และหากใครเจอปัญหาเหมือนกรณีนี้ก็สามารถต่อต่อมาที่ กยศ.เพื่อจะได้ให้คำแนะและแก้ไขปัญหาต่อไป”นายปรีชากล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 14 กันยายน 2560 เวลา 08.00 น.