"ชัยพฤกษ์" แจงกรณี สศช.ห่วงดัชนีความก้าวหน้าคนด้านการศึกษามีค่าเฉลี่ยต่ำ เชื่อแผนการศึกษาชาติ 20 ปีจะไต่ระดับค่าเฉลี่ยการศึกษาเป็น 12.5 ปีได้ ผนวกกับรัฐธรรมนูญหนุนบังคับจัดการศึกษาปฐมวัย จะส่งผลให้ไอคิวเด็ก ป.1 สูงขึ้น ชี้ไม่ได้มีเพียง ศธ.ที่ต้องช่วยยกระดับการศึกษาไทย แต่หน่วยงานอื่นๆ ต้องร่วมมือด้วย แนะ กศจ.ใช้เป็นฐานข้อมูลวางแผนงานในการพัฒนาการศึกษาของจังหวัด เชื่อส่งผลให้ดัชนีกระเตื้องขึ้น
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา (เลขาฯ สกศ.) กล่าวถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความเป็นห่วงการศึกษาไทย หลังพบดัชนีความก้าวหน้าของคนไทยปี 2560 ในการพัฒนาคนด้านการศึกษามีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดเพียง 0.47 ว่า จากการที่ตนได้นำรายงานฉบับดังกล่าวมาศึกษาพบว่า ความก้าวหน้าการพัฒนาคนมีอยู่ 8 ด้าน และการศึกษาเป็น 1 ใน 8 ด้าน โดยดัชนีที่เป็นตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าในการพัฒนาคนด้านการศึกษามี 4 ตัวชี้วัด คือ 1.จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป 2.อัตราการเข้าเรียนรวมระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและอาชีวศึกษา 3.ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ 4.คะแนนเฉลี่ยการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ซึ่งจากตัวชี้วัดดังกล่าวพบว่า 5 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าด้านการศึกษามากที่สุดเรียงตามลำดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต และนครปฐม ในขณะที่ 5 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุดคือ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู และตาก
"ตัวชี้วัดที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ได้มีการกำหนดไว้ในแผนการศึกษาแห่งชาติ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) อยู่แล้ว อย่างเรื่องจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ปัจจุบันจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของคนไทยอยู่ที่ 10 ปี ภายใน 5 ปีจะเพิ่มเป็น 10.7 ปี ภายใน 15 ปีจะเพิ่มเป็น 12 ปี และเพิ่มเป็น 12.5 ปีภายใน 20 ปี และไม่ใช่เพียง ศธ.เท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องช่วยกันดำเนินการให้เป็นไปตามแผน และการที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยหรืออนุบาล 3 ปี เชื่อว่าจะทำให้ไอคิวของนักเรียนชั้น ป.1 ดีขึ้น" รักษาราชการแทนเลขาฯ สกศ.กล่าว
นายชัยพฤกษ์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ดัชนีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนด้านการศึกษาดังกล่าว ได้มีการจัดทำข้อมูลเป็นรายจังหวัด ซึ่งตนมองว่าจะเป็นข้อมูลสารสนเทศอย่างดีให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) นำไปเป็นฐานข้อมูลในการวางแผนงานในการพัฒนาการศึกษาของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับการจัดทำคำของบประมาณร่ายจ่าย ประจำปีงบประมาณ 2562 ที่จะเป็นงบบูรณาการงานจังหวัด ดังนั้นเชื่อว่าจะส่งผลให้ดัชนีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนด้านการศึกษากระเตื้องขึ้น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 12 กันยายน 2560