“ชัยพฤกษ์”เชื่อดัชนีคนไทยกระเตื้อง สะกิด กศจ.รับไปจัดทำแผนพัฒนา
ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) รักษาราชการแทนเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวถึงกรณีสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แสดงความห่วงใยการศึกษาไทย หลังพบดัชนีความก้าวหน้าคนไทยปี 2560 ด้านการศึกษามีค่าเฉลี่ยต่ำที่สุดว่า จากการศึกษารายงานดังกล่าวพบว่าความก้าวหน้าการพัฒนาคนด้านการศึกษาเป็น 1 ใน 8 ด้าน ดัชนีตัวบ่งชี้ความก้าวหน้าด้านการศึกษามี 4 ตัว คือ 1.จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป
2.อัตราการเข้าเรียนรวมระดับ ม. ปลายและอาชีวศึกษา 3.ค่าเฉลี่ยระดับสติปัญญาของนักเรียนชั้น ป.1 และ 4.คะแนนเฉลี่ยการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ซึ่งจังหวัดที่มีความก้าวหน้าด้านการศึกษามากที่สุด 5 จังหวัดได้แก่ กทม. ชลบุรี นนทบุรี ภูเก็ต และนครปฐม ขณะที่ 5 จังหวัดที่มีความก้าวหน้าน้อยที่สุดคือ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน หนองบัวลำภู และตาก
ดร.ชัยพฤกษ์กล่าวอีกว่า ทั้งนี้ตัวชี้วัดดังกล่าว ศธ.ได้บรรจุในแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 อาทิ จำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ปัจจุบันอยู่ที่ 10 ปี ในแผนดังกล่าวกำหนดว่าภายใน 5 ปี จะเพิ่มเป็น 10.7 ปี ภายใน 15 ปีเพิ่มเป็น 12 ปี และเพิ่มเป็น 12.5 ปีภายใน 20 ปี ซึ่งเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวต้องช่วยดำเนินการให้เป็นไปตามแผน ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาตั้งแต่ปฐมวัยหรืออนุบาล 3 ปี เชื่อว่าจะทำให้ไอคิวของนักเรียนชั้น ป.1 ดีขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีความก้าวหน้าในการพัฒนาคนด้านการศึกษาได้จัดทำข้อมูลเป็นรายจังหวัด ซึ่งจะเป็นข้อมูลสารสนเทศอย่างดีให้คณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดนำไปเป็นฐานข้อมูลวางแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น เชื่อว่าจะส่งผลให้ดัชนีด้านการศึกษากระเตื้องขึ้นแน่นอน.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 12 กันยายน 2560