Advertisement
FOCUS ประเด็นจาก PISA : ฉบับที่ 21 (กันยายน 2560)
การกำกับดูแลที่มีประสิทธิผลส่งผลอย่างไรต่อการเรียนรู้
การกำกับดูแล (Governance) ในระบบโรงเรียนในที่นี้มีหลายด้าน เป็นต้นว่า การจัดการโรงเรียนโดยภาครัฐบาลและเอกชน อำนาจอิสระของโรงเรียน การแข่งขันกันระหว่างโรงเรียน ความเป็นผู้นำของครูใหญ่ และการจัดการด้านความสำนึกในภาระรับผิดชอบ เราจะมาดูว่าในระบบโรงเรียน ตัวแปรการกำกับดูแลเหล่านี้มีผลกระทบอย่างไรบ้าง
โรงเรียนที่จัดการโดยรัฐบาลและเอกชน
โรงเรียนเอกชนมาจากแนวคิดการกระจายทรัพยากรให้ภาคเอกชนเป็นตัวแทนของรัฐในการกระจายทรัพยากรการศึกษาให้ทั่วถึง โดยให้ผู้อื่นนอกจากภาครัฐได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน และไม่เพียงแต่เป็นการกระจายทรัพยากรเท่านั้น แต่ยังมีแนวคิดให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการศึกษาระหว่างการบริหารจัดการโรงเรียนโดยรัฐหรือโดยเอกชน ตามหลักสากลแล้ว การที่รัฐให้การอุดหนุนโรงเรียนที่จัดการโดยเอกชนก็เพื่อกระจายทรัพยากรให้ทั่วถึง โดยมีสมมติฐานว่า การบริหารจัดการโดยเอกชนจะทำให้นักเรียนเข้าถึงได้ดีกว่าและมีประสิทธิภาพสูงกว่าการจัดการโดยรัฐ
ผลการประเมินจาก PISA 2015 (OECD, 2016b) ในภาพรวมนานาชาติ ข้อมูลเบื้องต้นชี้ว่านักเรียนจากโรงเรียนของรัฐมีคะแนนวิทยาศาสตร์เฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนเอกชน แต่หลังจากอธิบายด้วยภูมิหลังทางเศรษฐกิจและสังคมแล้วพบว่า นักเรียนจากโรงเรียนของรัฐมีคะแนนสูงกว่า และเป็นเช่นนี้ตั้งแต่การประเมินในรอบก่อน ๆ ข้อมูลนี้สะท้อนถึงผลกระทบของสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนต่อการเรียนรู้ สำหรับ OECD ดัชนีเฉลี่ยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมของนักเรียนเท่ากับ -0.04 เมื่อดัชนีเพิ่มขึ้น 1 หน่วย คะแนนวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป 38 คะแนน ส่วนดัชนีเฉลี่ยของไทยเท่ากับ -1.23 เมื่อดัชนีเพิ่มขึ้น 1 หน่วย คะแนนวิทยาศาสตร์เปลี่ยนแปลงไป 22 คะแนน
ค่าเฉลี่ย OECD นักเรียนประมาณ 82% เรียนในโรงเรียนของรัฐ ประมาณ 18% เรียนในโรงเรียนเอกชน โดยเฉลี่ยนักเรียนในโรงเรียนของรัฐมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชน (ต่ำกว่าประมาณ 0.4 ของค่าดัชนี) สำหรับประเทศในอาเซียน นักเรียนส่วนใหญ่เรียนในโรงเรียนของรัฐ เช่น สิงคโปร์ (92%) เวียดนาม (96%) และอินโดนีเซีย (59%) และหลายระบบโรงเรียนในเอเชียนักเรียนในโรงเรียนของรัฐมีคะแนนสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชนทั้งก่อนและหลังอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เช่น ญี่ปุ่นก่อนอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมนักเรียนในโรงเรียนของรัฐมีคะแนนสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชน 16 คะแนน และหลังอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมนักเรียนในโรงเรียนของรัฐมีคะแนนสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชน 50 คะแนน ในทำนองเดียวกัน จีนไทเปมีผลต่างของคะแนนเป็น 41 และ 47 คะแนน ส่วนเวียดนามเป็น 44 และ 52 คะแนน
สำหรับประเทศไทยมีนักเรียน 85% เรียนอยู่ในโรงเรียนของรัฐ และ 15% เรียนอยู่ในโรงเรียนเอกชน ทั้งนี้ โรงเรียนที่มีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำส่วนมากเป็นโรงเรียนของรัฐ โดยเฉลี่ยนักเรียนไทยในโรงเรียนของรัฐมีสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมต่ำกว่านักเรียนในโรงเรียนเอกชน (0.5 ของค่าดัชนี) แต่นักเรียนในโรงเรียนของรัฐมีคะแนนสูงกว่าทั้งก่อนและหลังอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม ก่อนอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมนักเรียนในโรงเรียนของรัฐมีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงกว่าอยู่ 28 คะแนน หลังอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมมีคะแนนสูงกว่า 41 คะแนน ช่องว่างระหว่างคะแนนก่อนและหลังอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมนี้กว้างกว่าในการประเมิน PISA 2006 ซึ่งในครั้งนั้นก่อนอธิบายด้วยสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม โรงเรียนของรัฐมีคะแนนวิทยาศาสตร์สูงกว่าอยู่ 5 คะแนน และหลังอธิบายด้วยตัวแปรดังกล่าวมีคะแนนสูงกว่า 21 คะแนน
ดังนั้น อย่างน้อยสำหรับประเทศไทย ข้อมูลจึงไม่สนับสนุนว่าภาคเอกชนจะจัดการโรงเรียนได้ดีกว่ารัฐ และข้อมูลชี้นัยว่า รัฐบาลควรกำกับดูแลทรัพยากรที่รัฐบาลสนับสนุนให้กับโรงเรียนเอกชนเพื่อให้การใช้ทรัพยากรมีประสิทธิผลมากขึ้น
อำนาจอิสระของโรงเรียน
อำนาจอิสระของโรงเรียน (School autonomy) แนวคิดหลักอย่างหนึ่งของการปฏิรูปโรงเรียนในช่วงทศวรรษ 1980 ที่เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับคุณภาพการศึกษา อำนาจอิสระที่ให้โรงเรียน ได้แก่ อำนาจการตัดสินใจในด้านงบประมาณ บุคลากร และสาระหลักสูตรและการสอน พร้อมทั้งความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบทำให้โรงเรียนเป็นที่ไว้วางใจของผู้เกี่ยวข้อง อำนาจอิสระเหล่านี้ถูกมอบหมายให้ครูใหญ่ (ผู้บริหารโรงเรียน) เป็นผู้รับผิดชอบในการใช้อำนาจ และในบางกรณีผู้บริหารโรงเรียนอาจมอบอำนาจต่อให้หัวหน้ากลุ่มสาระหรือครูเป็นผู้รับผิดชอบ อำนาจอิสระที่ได้รับทำให้โรงเรียนมีภาระและความรับผิดชอบมากขึ้นทั้งในด้านอำนาจการตัดสินใจด้านหลักสูตรและการสอน การบริหารจัดการด้านทรัพยากร ซึ่งรวมทั้งทรัพยากรการเงิน ทรัพยากรวัตถุ และทรัพยากรบุคคล การปฏิรูปในลักษณะนี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ว่า โรงเรียนรู้ดีที่สุดว่ามีความจำเป็นและต้องการอะไร และรู้ดีถึงวิธีที่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร และการกำหนดหลักสูตรเพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของโรงเรียนและนักเรียน
ระบบโรงเรียนหลายระบบได้นิยามบทบาทของผู้นำในโรงเรียนขึ้นมาใหม่ จากการที่โรงเรียนบริหารจัดการแบบ “ทำตามสั่ง” มาสู่กรอบความคิดใหม่ “ทำอย่างใช้ความรู้” ที่ผู้ทำงานรับผิดชอบต่อการผลิตผลงาน การให้บริการ มีการควบคุมดูแลวิธีการที่ทรัพยากรถูกใช้อย่างเหมาะสม PISA แสดงให้เห็นว่าในระบบโรงเรียนที่ประสบความสำเร็จนั้นโรงเรียนมีอำนาจอิสระในการตัดสินใจมากกว่า มีแรงจูงใจและสมรรถนะที่จะปรับปรุง ตัวอย่างเช่น ในระบบโรงเรียนของฮ่องกง ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเกาหลี โรงเรียนมีอิสระที่จะกำหนดนโยบายระเบียบวินัย นโยบายการวัดผลและประเมินผล นโยบายการรับนักเรียนเข้าโรงเรียน และการเลือกหนังสือเรียนสำหรับใช้เรียน และตัดสินใจเลือกวิชาที่จะเปิดสอนได้ อย่างไรก็ตาม นโยบายที่ให้อำนาจอิสระแก่โรงเรียนเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่เส้นทางที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่าเสมอไป การให้อำนาจอิสระต้องมาพร้อมกับการกำหนดภาระหน้าที่ความรับผิดชอบ โดยต้องมีการวางจุดประสงค์และกรอบเวลาที่ชัดเจน และให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ได้รับรู้ถึงจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ด้วย และ/หรือครูใหญ่กับครูในโรงเรียนต้องได้รับการเตรียมความพร้อม
ผลการวิจัยในระดับนานาชาติชี้ว่า อำนาจการตัดสินใจของโรงเรียนที่มีผลทางบวกต่อการเรียนรู้มากที่สุดคืออำนาจการตัดสินใจด้านหลักสูตรและการสอน แต่คะแนนที่สูงนั้นต้องเชื่อมโยงกับนโยบายการควบคุมคุณภาพของมาตรฐานการศึกษาด้วย ในประเทศสมาชิก OECD พบว่า โรงเรียนที่มีอำนาจอิสระด้านหลักสูตร การสอน และการประเมินผล แต่ไม่มีนโยบายด้านมาตรฐาน นักเรียนมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าโรงเรียนที่มีอำนาจอิสระน้อยกว่าแต่ใช้นโยบายการควบคุมคุณภาพของมาตรฐานการศึกษา และสำหรับโรงเรียนที่ใช้นโยบายการควบคุมคุณภาพของมาตรฐานการศึกษาด้วยกัน นักเรียนในโรงเรียนที่มีอำนาจอิสระมากกว่ามีคะแนนสูงกว่านักเรียนในโรงเรียนที่มีอำนาจอิสระน้อยกว่า นอกจากนี้อำนาจอิสระยังมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับบรรยากาศทางระเบียบวินัย แต่ในระบบโรงเรียนไทย โรงเรียนที่ครูใหญ่รายงานว่ามีอำนาจอิสระสูงกว่าค่าเฉลี่ย OECD กลับมีคะแนนไม่สูง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะครูใหญ่อาจเข้าใจเรื่องอำนาจอิสระไม่ตรงกับระดับนโยบาย จากการสำรวจโดยธนาคารโลกเรื่องอำนาจอิสระและความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของโรงเรียน (School Autonomy and Accountability) ในประเทศไทย พบว่า คำตอบของครูใหญ่กับระดับนโยบายในเรื่องนี้ไม่สอดคล้องกัน (Patrinos, et al., 2015)
ในระบบโรงเรียนไทยเมื่อมีการปฏิรูปการศึกษา พ.ศ. 2542 ได้ใช้การบริหารแบบการกระจายอำนาจที่ให้โรงเรียนเป็นฐานการตัดสินใจ แต่จากผลการวิจัยชี้ว่า โรงเรียนประสบปัญหามากมาย อีกทั้งครูมีความเห็นว่า ครูใหญ่ขาดความเป็นผู้นำ เพราะโรงเรียน ครูใหญ่ และครูไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมที่พอเพียง (Gamage, David T., & Sooksomjitra, P., 2004) ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่กล่าวข้างต้น ทำให้การปฏิรูปการศึกษาไม่ประสบความสำเร็จ และเกิดสถานการณ์ที่นักวิเคราะห์เรียกว่า Paradoxical Thailand (Patrinos, et al., 2015) หรือ Thai Education Paradox (Fry & Bi, 2013) แม้ผลการวิจัยชี้ว่าการกระจายอำนาจอิสระบางด้านส่งผลดีต่อการเรียนรู้ แต่ก่อนที่จะกระจายอำนาจก็มีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้โรงเรียน ครูใหญ่ และครูในโรงเรียนด้วย
ความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของโรงเรียน
ความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบของโรงเรียน (School Accountability) มีเป้าหมายหลัก เพื่อทำให้โรงเรียนปฏิบัติภาระหน้าที่จนเป็นที่ไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย สำหรับในระบบการศึกษา ส่วนหนึ่งของภาระหน้าที่รับผิดชอบที่สามารถอธิบายหรือทำให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตรวจสอบได้ว่าโรงเรียนปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นที่ไว้วางใจตามภาระหน้าที่รับผิดชอบจนบรรลุเป้าหมายหรือไม่ ได้แก่ การประเมินผล
ในกลุ่มประเทศสมาชิก OECD มี 19 ประเทศ ที่มีการสอบระดับชาติทุกวิชาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจในโครงการ PISA มีการสอบระดับชาติในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งการสอบนั้นถูกใช้เพื่อตัดสินการจบการเรียนของวิชา หรือการจบการศึกษาตามหลักสูตร แต่ในประเทศสมาชิก OECD ทุกประเทศ ผลการสอบนอกจากจะเป็นที่รับรู้โดยตรงของบุคลากรทางการศึกษาที่รับผิดชอบและผู้บริหารโรงเรียนแล้ว ยังเป็นที่รับรู้ด้วยกันระหว่างนักเรียน บุคคลภายนอกอื่น ๆ และผู้มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลระดับสูงขึ้นไป รวมทั้งพ่อแม่ผู้ปกครองนักเรียน (ยกเว้นในเยอรมนี) ผลการสอบระดับมัธยมศึกษาตอนปลายนอกจากถูกใช้เพื่อการจบการศึกษาในระดับนั้นแล้ว ยังถูกใช้เพื่อคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาอีกด้วย (ยกเว้นโปรแกรมการศึกษาทั่วไปของโปแลนด์)
การประเมินในระบบการศึกษาไม่ใช่เฉพาะการประเมินผลการเรียนของนักเรียนเท่านั้น แต่รวมถึงการติดตามตรวจสอบหรือกำกับดูแลการปฏิบัติงานของครู สำหรับครูใหญ่ไทยรายงานว่า มีมาตรการตรวจสอบประสิทธิภาพของครูเช่นกัน ซึ่งประกอบด้วย การตรวจสอบประสิทธิภาพการสอนของครูโดยดูจากผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน การสังเกตการสอนของครูโดยครูใหญ่หรือครูอาวุโส การทบทวนและวิจารณ์เกี่ยวกับแผนการสอน เครื่องมือประเมินผล และบทเรียนโดยเพื่อนครูด้วยกัน การสังเกตการสอนโดยผู้ตรวจการหรือบุคคลภายนอก
การทำให้เห็นว่าโรงเรียนปฏิบัติตามภาระหน้าที่จนเป็นที่ไว้วางใจได้นั้น ส่วนหนึ่งคือการใช้ข้อมูลผลสัมฤทธิ์ทาง การเรียนของนักเรียน ซึ่งนอกเหนือจากจะใช้รายงานให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง นักเรียน และครูแล้ว ยังสามารถใช้เพื่อนำเสนอถึงภาระหน้าที่รับผิดชอบที่ทำให้โรงเรียนเป็นที่ไว้วางใจอีกด้วย จากรายงานของครูใหญ่ โดยเฉลี่ยในประเทศสมาชิก OECD นักเรียน 44% อยู่ในโรงเรียนที่มีการประกาศผลสัมฤทธิ์อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ สำหรับในเนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม มีนักเรียนมากกว่า 75% อยู่ในโรงเรียนที่มีการประกาศผลสัมฤทธิ์อย่างเปิดเผยต่อสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลผลการสอบของ PISA ทำให้เกิดประเด็นปัญหาขึ้นเช่นกัน กล่าวคือทำให้มีการใช้ข้อสอบมาตรฐานแบบ PISA อย่างกว้างขวางในทุกประเทศ/เขตเศรษฐกิจในโครงการ PISA แม้ว่าเป้าหมายหลักของ PISA คือ การให้ข้อมูลว่าระบบการศึกษาได้เตรียมความพร้อมสำหรับอนาคตให้เยาวชนเพียงพอหรือไม่ แต่ในทางปฏิบัติผลการประเมิน PISA ได้ถูกใช้แสดงความเป็นเลิศ หรือความอ่อนด้อยของระบบ ทำให้หลายประเทศ/เขตเศรษฐกิจในโครงการ PISA แทนที่จะเน้นการสอนที่ทำให้นักเรียนมีตรรกะในการคิด กลับเร่งรัดการใช้ข้อสอบตามแนวทาง PISA เพื่อให้นักเรียนคุ้นชินมากขึ้น ข้อมูลชี้ว่า โดยเฉลี่ยมีโรงเรียนห้าในหกโรงจัดให้มีการวัดผลโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานภาคบังคับอย่างน้อยปีละครั้ง และในอีกสามในสี่ประเทศมีการวัดผลนักเรียนที่ไม่ใช่ภาคบังคับโดยใช้ข้อสอบมาตรฐานมากขึ้น ประเด็นนี้จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ PISA ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าแทนที่จะเป็นการให้ข้อมูลกับระดับนโยบาย กลับถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวการที่กระตุ้นให้เกิดการสอนเพื่อสอบไม่ใช่การสอนเพื่อการเรียนรู้อย่างแท้จริง (The Guardian, 2014)
สาหรับประเทศไทยก็เช่นกัน มีการเน้นการสร้างข้อสอบมาตรฐานแบบ PISA อย่างกว้างขวาง แต่ไม่เน้นการสอนที่ ทาให้นักเรียน “รู้เรื่อง” ตั้งแต่การอ่าน การคิดวิเคราะห์ เข้าใจปัญหาและแก้ปัญหา พร้อมทั้งการสื่อสารความคิดให้ เป็นที่เข้าใจได้
จุดยุติ (End Point)
อำนาจอิสระและความสำนึกในหน้าที่รับผิดชอบขององค์กรมีผลต่อการยกระดับผลงานขององค์กร เช่นเดียวกันกับในการศึกษา ข้อมูลชี้ว่าอำนาจการตัดสินใจด้านหลักสูตรและการสอน ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อผลการเรียนรู้ แต่คะแนนที่สูงนั้นต้องเชื่อมโยงกับนโยบายการควบคุมคุณภาพของมาตรฐานการศึกษาด้วย นอกจากนี้อำนาจอิสระยังมีความสัมพันธ์การปฏิบัติภาระหน้าที่ให้โรงเรียนเป็นที่ไว้วางใจด้วย |
อ่านเพิ่มเติม
- Gamage, David T., & Sooksomjitra, P., (2004), Decentralization and school-based management in Thailand, International Review of Education, July 2004, Volume 50, Issue 3–4, pp 289–305.
- Fry, G.W., & Bi, H. (2013). The evolution of educational reform in Thailand: The Thai educational paradox. Journal of Educational Administration, 51(3), 291-319.
- OECD and PISA tests are damaging education worldwide - academics, (2014, May 6), (Online), https://www.theguardian.com/education/2014/may/06/oecd-pisa-tests-damaging-education-academics. Retrieved August 9, 2017.
- OECD (2016a), PISA 2015 Results (Volume I): Excellence and Equity in Education, PISA, OECD Publishing, Paris.
- OECD (2016b), PISA 2015 Results (Volume II): Policies and Practices for Successful Schools, PISA, OECD Publishing, Paris.
- Patrinos, H.A., Arcia, G. & Macdonald, K., (2015), School autonomy and accountability in Thailand: Does the gap between policy intent and implementation matter?, PROSPECTS, December 2015, Volume 45, Issue 4, pp.429-445.
โฟกัส หรือ จุดโฟกัส (Focal Point)
§ ภาษาทางฟิสิกส์ หมายถึง จุดบนแกนของเลนส์หรือกระจกที่เป็นจุดรวมของรังสีขนานของแสงที่เกิดการหักเหเมื่อผ่านเลนส์ หรือเกิดการสะท้อนของรังสีขนานของแสงเมื่อตกกระทบทำให้จุดนั้นมีความชัดที่สุด ในทางสังคม หมายถึง ประเด็นที่เป็นที่สนใจ
จุดยุติ (End Point)
§ ภาษาทางเคมี หมายถึง จุดที่การทำปฏิกิริยาเคมีเกิดขึ้นสมบูรณ์และมีสารใหม่เกิดขึ้นซึ่งอาจสังเกตได้จากการเปลี่ยนสีของสาร
|
ขอบคุณที่มาจาก โครงการ PISA ประเทศไทย สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ
เตาปิ้งย่างไม่ง้อไฟฟ้า Lucky Flame เตาย่างปิคนิค ใช้แก๊สกระป๋อง ตะแกรงสแตนเลส LF-90G ในราคา ฿1,029https://s.shopee.co.th/10n3MpBmWf?share_channel_code=6
Advertisement
เปิดอ่าน 7,974 ครั้ง เปิดอ่าน 33,101 ครั้ง เปิดอ่าน 9,987 ครั้ง เปิดอ่าน 52,871 ครั้ง เปิดอ่าน 11,696 ครั้ง เปิดอ่าน 32,260 ครั้ง เปิดอ่าน 44,748 ครั้ง เปิดอ่าน 19,406 ครั้ง เปิดอ่าน 23,270 ครั้ง เปิดอ่าน 26,236 ครั้ง เปิดอ่าน 64,703 ครั้ง เปิดอ่าน 46,349 ครั้ง เปิดอ่าน 10,197 ครั้ง เปิดอ่าน 11,281 ครั้ง เปิดอ่าน 11,909 ครั้ง เปิดอ่าน 16,244 ครั้ง
|
เปิดอ่าน 16,041 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,303 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 16,810 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 10,687 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 14,561 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 29,129 ☕ คลิกอ่านเลย |
เปิดอ่าน 8,939 ☕ คลิกอ่านเลย |
|
≡ เรื่องน่าอ่าน/สาระน่ารู้ ≡
เปิดอ่าน 12,564 ครั้ง |
เปิดอ่าน 15,545 ครั้ง |
เปิดอ่าน 24,856 ครั้ง |
เปิดอ่าน 137,702 ครั้ง |
เปิดอ่าน 14,223 ครั้ง |
|
|