นายรัฐกรณ์ คิดการ คณบดีคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา เปิดเผยถึงผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นเรื่องทิศทางการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพสู่การรับรองปริญญา ประกาศนียบัตรทางการศึกษาเพื่อการประกอบวิชาชีพแนวใหม่ จัดโดยคุรุสภา ที่โรงแรมตรัง โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษา คณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จากทั่วประเทศ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาร่างมาตรฐานและประสบการณ์วิชาชีพครู เชิงสมรรถนะ ประกอบด้วย 1.ด้านความรู้ความเข้าใจในเนื้อหา 2.การจัดการเรียนรู้ 3.คุณลักษณะความเป็นครู 4.ความผูกพันกับชุมชน ซึ่งคุรุสภาได้จัดทำมาตรฐานดังกล่าว โดยความเห็นพ้องต้องกันของกลุ่มประเทศอาเซียน ในอนาคตประเทศในกลุ่มอาเซียนจะใช้มาตรฐานครูเดียวกัน ตนคิดว่าเป็นเรื่องดีที่จะช่วยให้การแลกเปลี่ยนทั้งนักศึกษาและครูในกลุ่มประเทศอาเซียนเกิดขึ้นได้จริง
นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า ส่วนการผลิตครู จะเป็น 4 ปี หรือ 5 ปี ซึ่งในการประชุมสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) สมาชิกมีความเห็นต่างกัน ยังไม่สามารถตกลงกันได้ โดยคณบดีกลุ่ม มรภ. กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ รวมถึงคณบดีในกลุ่มมหาวิทยาลัยเดิมบางคนก็ไม่เห็นด้วย และเตรียมเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ให้ใช้หลักสูตร 5 ปีต่อไปนั้น โดยส่วนตัวคิดว่าเป็นเรื่องดีที่จะมีการปฏิรูปการผลิตและพัฒนาครูทั้งระบบ แต่ไม่ควรมองแค่เรื่องจำนวนปี ควรทำวิจัยสร้างโมเดลการผลิตครูใหม่ให้ครอบคลุมทั้งบริบทประเทศไทย อาเซียน และสากล โดยเฉพาะเรื่องมาตรฐานวิชาชีพครู เมื่อได้โมเดลที่ดีแล้ว การจะปรับเปลี่ยนต้องให้สอดรับกับวงรอบการปรับหลักสูตรด้วย เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับนักศึกษา และการบริหารจัดการหลักสูตรของสถาบันอุดมศึกษา เนื่องจากหลักสูตรครู 5 ปี เพิ่งมีการปรับปรุงตามวงรอบ 5 ปี และเพิ่งรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ในปีการศึกษา 2560 ดังนั้น หากจะมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรควรเริ่มใช้ในปี 2565 ซึ่งจะทำให้มีเวลาศึกษาวิจัยในการจัดทำหลักสูตรใหม่โดยได้ข้อมูลที่สมบูรณ์ครบถ้วน ได้หลักสูตรใหม่ที่จะช่วยปฏิรูปการผลิตครู ปฏิรูปการศึกษา เพื่อพัฒนาคน พัฒนาประเทศได้อย่างแท้จริง
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก หนังสือพิมพ์มติชน