เมื่อวันที่ 10 กันยายน ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระเมื่อเร็วๆ นี้ ว่าจากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นครู ผู้บริหารสถานศึกษาและกรรมการสถานศึกษาเกี่ยวกับการสอนในโรงเรียนบนพื้นที่สูงบนดอย อ่างขาง จำนวน 5 โรงเรียน ใน 2 อำเภอ ของ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ พบว่าทุกฝ่ายอยากให้โรงเรียนบริหารจัดการในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งนิติบุคคลไม่จำเป็นต้องเป็นโรงเรียนขนาดใหญ่ อาจเป็นโรงเรียนที่มีลักษณะเฉพาะ เช่น อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งโรงเรียนบนดอยอ่างขาง เด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กชาติพันธุ์ มีหลายภาษา ดังนั้นการบริหารในรูปแบบนิติบุคคลจึงอาจแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือเป็นนิติบุคคลระดับโรงเรียน ให้โรงเรียนมีอำนาจในการบริหารจัดการ การจัดการเรียนการสอน หลักสูตร และการคัดเลือกครูด้วยตัวเอง ส่วนงานธุรการ เช่น การบริหารงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง ฯลฯ อาจรวมกลุ่มเป็นนิติบุคคลทำร่วมกัน แต่ทั้งหมดยังไม่ใช่คำตอบ คณะอนุกรรมการฯ ที่เกี่ยวข้องต้องไปศึกษาวิเคราะห์และสรุปข้อมูล เพื่อหารูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสมกับพื้นที่อย่างแท้จริง ทั้งนี้หากได้รูปแบบที่เหมาะสมกับโรงเรียนบนดอยอ่างขางแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้โมเดลนี้กับโรงเรียนในพื้นที่อื่นได้ เพราะแต่ละแห่งมีลักษณะ ไม่เหมือนกัน
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการอิสระฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมโครงสร้าง กล่าวว่า คณะอนุกรรมการเตรียมจัดทำข้อเสนอปรับปรุงโครงสร้างไว้ 2 ส่วน คือ ปรับโครงสร้างการบริหารงานในกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จากเดิมที่นโยบายการกำกับและสั่งการมาจากส่วนกลาง โรงเรียนมีหน้าที่ปฏิบัติเหมือนรูปสามเหลี่ยมหัวตั้ง ทำให้เกิดปัญหา โดยเฉพาะ ศธ. 20 ปี เปลี่ยนรัฐมนตรีถึง 23 คน เฉลี่ยปีละคน เมื่อเปลี่ยนรัฐมนตรี นโยบายก็เปลี่ยน ทำให้
โรงเรียนสับสนเพราะต้องทำตาม นโยบาย โดยจะเสนอให้ปรับมาบริหารแบบสามเหลี่ยมหัวกลับ ซึ่งเป็นการปฏิรูปจากความต้องการของโรงเรียน และให้ส่วนกลางทำหน้าที่สนับสนุนดูแล
"ส่วนที่ 2 การปฏิรูปการศึกษา จะปฏิรูปจากโรงเรียน โดยทุกคนเห็นว่า โรงเรียนควรมีอิสระในการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องหลักสูตร จากการรับฟังความคิดเห็นในหลายพื้นที่ เกิดคำถามว่าทุกแห่งต้องใช้หลักสูตรเหมือนกันหรือไม่ ทั้งที่แต่ละพื้นที่มีบริบทไม่เหมือนกัน ดังนั้นจึงเห็นว่า โรงเรียนควรมีอิสระในการบริหารจัดการเป็นนิติบุคคล ซึ่งใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ เขียนไว้ชัดเจนให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล แต่ไม่มีการบัญญัติอะไรไว้ มีเพียงแห่งเดียวคือ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ ที่บริหารแบบนิติบุคคล ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ยังเห็นว่าการให้อิสระโรงเรียนบริหารงาน ควรเริ่มจากโรงเรียนที่มีความพร้อม ส่วนโรงเรียนขนาดเล็ก อาจจะให้รวมตัวกันเป็นนิติบุคคล ส่วนจะมีแนวทางอย่างไรต้องหารือในรายละเอียด" นายไพรินทร์กล่าว
ด้านนายอดิศร เนาวนนท์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) นครราชสีมา กล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการอิสระที่เห็นชอบในหลักการให้โรงเรียนมีเสรีภาพในการบริหารจัดการในรูปแบบโรงเรียนนิติบุคคล 4 ด้าน ได้แก่ การบริหารจัดการทั่วไป การบริหารบุคคล การบริหารการเงิน และการบริหารวิชาการ ว่าปัจจุบันโรงเรียนเป็นนิติบุคคลตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 ถือเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายมหาชนอยู่แล้ว และมีอำนาจหน้าที่หน้าที่ตาม พ.ร.บ ระเบียบบริหารราชการฯ และกฎหมายอื่น ซึ่งกำหนดสิทธิหน้าที่ของสถานศึกษาไว้โดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีสิทธิหน้าที่เช่นเดียวกับบุคคลธรรมดา สามารถทำนิติกรรมสัญญา มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สิน จดทะเบียนทรัพย์สิน รับบริจาค หรือแม้แต่ดำเนินคดีทางศาลได้เอง แต่เนื่องจาก พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการฯ ไม่ได้กำหนดสิทธิและหน้าที่ และeducation@matichon.co.th อำนาจหน้าที่ในฐานะนิติบุคคลของสถานศึกษาไว้โดยการศึกษา * ศาสนา * วัฒนธรรมเฉพาะ มีระบุไว้ใน พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 59 เฉพาะเรื่องรายได้ ทรัพย์สิน และผลประโยชน์บางประเภทของสถานศึกษาที่เป็นนิติบุคคลเท่านั้น จึงทำให้โรงเรียนปัจจุบันแม้เป็นนิติบุคคลก็ไม่สามารถบริหารจัดการ 4 งานหลัก คือการบริหารจัดการทั่วไป การบริหารบุคคล การบริหารการเงิน และการบริหารวิชาการได้ มติของคณะกรรมการอิสระดังกล่าวจึงน่าจะทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลที่ สมบูรณ์ขึ้น
นายอดิศรกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม ตนยังเป็นห่วงหลายประเด็นที่อยากฝากไปถึงคณะกรรมการอิสระให้พิจารณา อาทิ บทเรียนจากการเป็นนิติบุคคลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีปัญหาการทุจริตมากในเรื่องการบริหารงานบุคคลและงบประมาณ และบทเรียนจากคณะอนุกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (อ.ก.ค.ศ.) เขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญจนทำให้ถูกยุบ รวมทั้งบทเรียนสมัยนายสุขวิช รังสิตพล เป็นรัฐมนตรีว่าการ ศธ.ที่เคยให้อำนาจโรงเรียนบรรจุครูได้เอง แต่กลับมีการทุจริตกันมากเป็นประวัติการณ์ ถ้าจะเดินไปในทิศทางนี้ จำเป็นต้องสร้างระบบตรวจสอบ กำกับติดตามและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างรุนแรง รวดเร็วและจริงจัง ไม่เช่นนั้นวังวนปัญหาเดิมๆ จะกลับมาอีก
"คณะกรรมการอิสระต้องออกแบบระบบการคัดกรองโรงเรียนที่จะเป็นนิติบุคคลให้ชัดเจน ควรเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมโดยเฉพาะเรื่องคน งบประมาณ และกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองสนับสนุน ผมเป็นห่วงโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งเป็นโรงเรียนส่วนใหญ่ของประเทศ หากเป็นโรงเรียนนิติบุคคลที่ไม่มีความพร้อมจะมีปัญหาใหม่ตามมาอีกมาก แค่เรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง โรงเรียนก็ไม่มีคนทำแล้ว หากให้ครูมาทำจะไม่มีเวลาสอน ฉะนั้นควรมีการทดลองนำร่องโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ และโรงเรียนขนาดใหญ่ไปก่อน ไม่ควรทำแบบปูพรม" นายอดิศรกล่าว และว่า การให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคลเป็นทิศทางที่จะช่วยแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้ แต่ไม่ใช่สูตรสำเร็จ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ งบประมาณ ความสามารถของผู้บริหาร การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จึงอยากฝากให้คิดและทำอย่างรอบด้าน
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชน ฉบับวันที่ 12 ก.ย. 2560 (กรอบบ่าย)