เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2560 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา พ.ศ. 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
ว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา
พ.ศ. ๒๕๖๐
โดยที่มาตรา ๒๐ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ กำหนดให้มีการตรวจราชการ ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ประกอบกับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ ๑๙/๒๕๖๐ ลงวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ เรื่อง การปฏิรูปการศึกษาในภูมิภาคของกระทรวงศึกษาธิการ ที่กำหนดให้มีการกำกับ เร่งรัด ติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงานของส่วนราชการหรือหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพเกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ และสอดคล้องกับการบริหารราชการของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเห็นสมควรปรับปรุงระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตรวจ ติดตามประเมินผลและนิเทศการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๘ ประกอบกับมาตรา ๒๐ วรรคห้า แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. ๒๕๔๖ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการจึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐”
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ ๓ ให้ยกเลิก “ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการตรวจ ติดตาม ประเมินผล และนิเทศการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๙”
บรรดาระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือคำสั่งอื่นใดในส่วนที่กำหนดไว้แล้วในระเบียบนี้หรือซึ่งขัด หรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้บังคับใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับแก่ส่วนราชการ หน่วยงานในสังกัดและในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อ ๕ ในระเบียบนี้
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
“ส่วนราชการ” หมายความว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน และหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นที่มีฐานะเทียบเท่า และมีหน้าที่ในการจัดการศึกษา “หน่วยงานการศึกษา” หมายความว่า หน่วยงานการศึกษาตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
“ผู้รับการตรวจ” หมายความว่า หน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่อยู่ในหน่วยงานของรัฐในสังกัด หรือในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ รวมทั้ง โรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน
“เขตตรวจราชการ” หมายความว่า พื้นที่การตรวจราชการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการตรวจราชการ
“ผู้ตรวจราชการ” หมายความว่า ผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
“ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ” หมายความว่า ข้าราชการที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ
ข้อ ๖ ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการรักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจตีความและวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบนี้
หมวด ๑
การตรวจราชการ
ข้อ ๗ การตรวจราชการ มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(๑) เพื่อชี้แจงนโยบาย ประสานงานและเร่งรัดให้ผู้รับการตรวจ นำแผนการศึกษาแห่งชาติ แผนการบริหารราชการแผ่นดิน นโยบายของรัฐบาล และนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ไปจัดทำแผนปฏิบัติราชการให้ครบถ้วน
(๒) เพื่อติดตาม ประเมินผล และเสนอแนะการบริหารงบประมาณการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับหลักการศึกษา แนวทางการจัดการศึกษา และคุณภาพมาตรฐานการศึกษา
(๓) เพื่อศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ติดตามและประเมินผลระดับนโยบาย เพื่อนิเทศให้คำปรึกษา เพื่อการปรับปรุงพัฒนาแก่ส่วนราชการและหน่วยงานการศึกษา
(๔) เพื่อเร่งรัดติดตามความก้าวหน้า ความสำเร็จ ปัญหาอุปสรรค และเสนอแนะในการปฏิบัติงานตามแผนปฏิบัติการ
(๕) เพื่อตรวจเยี่ยม รับฟังหรือสดับตรับฟังทุกข์สุข ความคิดเห็น นิเทศ ช่วยเหลือ แนะนำ ชี้แจงให้เจ้าหน้าที่มีสมรรถนะและขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน
ข้อ ๘ การตรวจราชการ การติดตาม ประเมินผลและนิเทศการศึกษาระดับกระทรวง เป็นการตรวจราชการ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ติดตามและประเมินผลระดับนโยบาย เพื่อนิเทศ ให้คำปรึกษา และแนะนำเพื่อการปรับปรุงพัฒนาเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่ในขอบเขตอำนาจหน้าที่ของกระทรวงศึกษาธิการในฐานะผู้สอดส่องดูแลแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
การตรวจราชการจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่อสาระการบริหารและการจัดการศึกษา ของสถานศึกษาของรัฐที่จัดการศึกษาระดับปริญญาที่เป็นนิติบุคคลที่สามารถดำเนินกิจการได้โดยอิสระ พัฒนาระบบบริหารและการจัดการที่เป็นของตนเอง มีความคล่องตัวมีเสรีภาพทางวิชาการ และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสภาสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งสถานศึกษานั้น
ข้อ ๙ ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการแต่งตั้งผู้ตรวจราชการคนหนึ่ง เป็นหัวหน้าผู้ตรวจราชการ มีหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ตรวจราชการ เพื่อให้การปฏิบัติงานของผู้ตรวจราชการเป็นไปตามระเบียบนี้ และจะให้มีรองหัวหน้าผู้ตรวจราชการด้วยก็ได้
ข้อ ๑๐ ให้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการตรวจราชการมาใช้บังคับกับการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการโดยอนุโลม และให้ผู้ตรวจราชการมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้
(๑) สั่งเป็นลายลักษณ์อักษร ให้ผู้รับการตรวจปฏิบัติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ มติของคณะรัฐมนตรี หรือคำสั่งของนายกรัฐมนตรี
(๒) สั่งเป็นลายลักษณ์อักษรให้ผู้รับการตรวจ ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติงานใด ๆ ในระหว่างการตรวจราชการไว้ก่อน หากเห็นว่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการหรือประชาชน อย่างร้ายแรง และเมื่อผู้ตรวจราชการได้สั่งการดังกล่าวแล้วให้รายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบหรือพิจารณาโดยด่วน
(๓) สั่งให้ผู้รับการตรวจชี้แจง ให้ถ้อยคำ หรือส่งเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติงานเพื่อประกอบการพิจารณา
(๔) สอบข้อเท็จจริง สืบสวนข้อเท็จจริง หรือสดับตรับฟังเหตุการณ์ เมื่อได้รับการร้องเรียน หรือเมื่อมีเหตุอันควร โดยประสานการดำเนินงานกับหน่วยงานตรวจสอบอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนหรือปัญหาอุปสรรคของผู้รับการตรวจ
(๕) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ติดตามและประเมินผลระดับนโยบายเพื่อนิเทศให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อปรับปรุงพัฒนา
(๖) แต่งตั้งบุคคลหรือคณะทำงานเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม
(๗) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
ข้อ ๑๑ ให้ปลัดกระทรวงศึกษาธิการมอบหมายข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ผู้ช่วยผู้ตรวจราชการ โดยให้มีหน้าที่ ดังนี้
(๑) รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำรายละเอียดข้อมูลนโยบาย แผนงาน งาน โครงการ จุดเน้นและประเด็นการตรวจราชการ ในระดับเขตตรวจราชการ
(๒) จัดทำและประสานแผนปฏิบัติการตรวจราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการประจำปี ร่วมกับสำนักงานศึกษาธิการภาคและหน่วยงานสนับสนุนการตรวจราชการ ในระดับเขตตรวจราชการ
(๓) จัดทำแนวทางการตรวจราชการประจำปีในระดับเขตตรวจราชการ
(๔) ประสานและสนับสนุนข้อมูลด้านการศึกษา ระเบียบ กฎหมาย และข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง ประกอบการปฏิบัติราชการของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ
(๕) ร่วมปฏิบัติการตรวจราชการกับผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และประสานการตรวจราชการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๖) จัดทำ รายงานผลการตรวจราชการ หลังการตรวจราชการเสนอผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อรายงานผู้บริหารระดับสูง
(๗) จัดทำรายงานผลการตรวจราชการภาพรวมและรายรอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๘) ติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอแนะ ข้อสั่งการ ของผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารระดับสูงในระดับเขตตรวจราชการ
(๙) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมาย
ทั้งนี้ จำนวน หลักเกณฑ์และวิธีการได้มาซึ่งผู้ช่วยผู้ตรวจราชการตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการกำหนด
ข้อ ๑๒ ให้กระทรวงศึกษาธิการ จัดให้มีสำนักงานผู้ตรวจราชการเป็นที่ปฏิบัติงานประจำของผู้ตรวจราชการ โดยให้มีบุคลากรสนับสนุนในการปฏิบัติงานตามสมควร
ข้อ ๑๓ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ หรือหัวหน้าส่วนราชการ อาจมอบอำนาจการบริหารงานทั่วไป บริหารงานบุคคล บริหารงานวิชาการ บริหารงบประมาณ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ตรวจราชการปฏิบัติราชการแทนในพื้นที่เขตตรวจราชการที่รับผิดชอบตามความจำเป็นและความเหมาะสมได้
ข้อ ๑๔ ให้สำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อ ๑๕ ให้ผู้รับการตรวจ มีหน้าที่ ดังนี้
(๑) อำนวยความสะดวก และให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานแก่ผู้ตรวจราชการ หรือผู้ทำหน้าที่ตามที่ได้รับมอบหมาย
(๒) จัดเตรียมบุคคล เอกสาร หลักฐาน ในการปฏิบัติงานให้ครบถ้วนสมบูรณ์ พร้อมที่จะรับการตรวจ
(๓) ชี้แจงหรือตอบคำถาม พร้อมทั้งให้ข้อมูลใด ๆ อันเป็นประโยชน์ต่อการตรวจราชการ
(๔) จัดให้มีสมุดตรวจราชการตามแบบที่กฎหมายหรือระเบียบกำหนด
(๕) ปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติงานใด ๆ ที่ผู้ตรวจราชการได้ตรวจและแนะนำในระหว่างการตรวจราชการ หากไม่สามารถปฏิบัติได้ ให้รายงานผู้บังคับบัญชาเพื่อทราบหรือพิจารณาและรายงานให้ผู้ตรวจราชการทราบภายในสิบห้าวัน
(๖) รายงานความก้าวหน้า ความสำเร็จของผลการดำเนินงานตามข้อสั่งการหรือข้อเสนอแนะของผู้ตรวจราชการต่อผู้บังคับบัญชา และผู้ตรวจราชการ
(๗) ดำเนินการอื่นใดที่เป็นประโยชน์ในการตรวจราชการ
ข้อ ๑๖ ในระหว่างการตรวจราชการแต่ละครั้ง ถ้าผู้ตรวจราชการพบเห็นปัญหา อุปสรรค หรือแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบต่อการบริหารจัดการศึกษาหรือประเทศโดยส่วนรวม หรือต่อผลสัมฤทธิ์ของนโยบาย โครงการหรือแผนงาน ให้รีบทำรายงานโดยสรุปพร้อมข้อเสนอแนะต่อหัวหน้าหน่วยงาน ผู้รับการตรวจเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ลุล่วงโดยเร็วแล้วแจ้งให้ผู้ตรวจราชการทราบภายในสามสิบวันนับแต่ได้รับรายงานจากผู้ตรวจราชการ
ข้อ ๑๗ ในการตรวจราชการตามข้อ ๑๖ เมื่อเสร็จสิ้นการตรวจราชการแต่ละคราว ให้ผู้ตรวจราชการ รายงานผลการตรวจราชการต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการผ่านปลัดกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อ ๑๘ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้สั่งการหรือมีความเห็นในรายงานผลการตรวจราชการเป็นประการใดแล้ว ให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ และรายงานให้ทราบโดยเร็ว
หมวด ๒
การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา
ข้อ ๑๙ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา มีวัตถุประสงค์ ดังนี้
(๑) เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามภารกิจและนโยบายการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
(๒) เพื่อให้คำปรึกษา แนะนำ และข้อเสนอแนวทางเพื่อการปรับปรุงพัฒนาเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของหน่วยงานและเจ้าหน้าที่
(๓) เพื่อการบริหารงบประมาณในการบริหารจัดการศึกษาของส่วนราชการและหน่วยงานในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการให้มีประสิทธิภาพ
(๔) เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาและข้อเสนอแนวทางการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
ข้อ ๒๐ ให้มีคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนสิบเก้าคน ประกอบด้วย
๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานกรรมการ
(๒) กรรมการโดยตำแหน่ง จำนวนหกคน ได้แก่ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา
(๓) กรรมการที่เป็นผู้แทนผู้ตรวจราชการกระทรวงศึกษาธิการ จำนวนสองคน
(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนเก้าคน ซึ่งแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงในด้านการศึกษาปฐมวัย ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐานด้านการอุดมศึกษา ด้านการอาชีวศึกษา ด้านการศึกษาเอกชน ด้านการวิจัยและประเมินผลด้านการบริหารการศึกษา ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และด้านเศรษฐกิจ การเงินและงบประมาณ ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกัน
(๕) ผู้อำนวยการสำนักตรวจราชการและติดตามประเมินผล เป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาของคณะกรรมการให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น
ข้อ ๒๑ ให้คณะกรรมการตามข้อ ๒๐ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) กำหนดนโยบาย เกณฑ์มาตรฐาน ระบบการติดตามตรวจสอบประเมินผล และแผนการตรวจราชการประจำปี แผนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
(๒) กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
(๓) กำกับ ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการปฏิบัติราชการของส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(๔) กำกับ ดูแล ติดตาม ประเมินผล และเสนอแนะการบริหารงบประมาณของส่วนราชการสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ
(๕) พิจารณาให้ความเห็นชอบ และให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับรายงานผลการตรวจราชการ การรายงานการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา
(๖) ส่งเสริม สนับสนุน การพัฒนาระบบ และการศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเกี่ยวกับการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อดำเนินการใด ๆ ตามที่คณะกรรมการกำหนด
(๘) ดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ
ส่วนที่ ๑
การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ระดับส่วนราชการ
ข้อ ๒๒ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับส่วนราชการ เป็นการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการนั้น ๆ ตามภารกิจและตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการโดยให้ส่วนราชการดำเนินการ ดังนี้
(๑) กำหนดแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา การใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการและหน่วยงานการศึกษาในสังกัด
(๒) ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการบริหารจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในสังกัด
(๓) รายงานผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในสังกัดไปยังคณะกรรมการ
ส่วนที่ ๒
การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ระดับสำนักงานศึกษาธิการภาค
ข้อ ๒๓ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับภาคเป็นการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานศึกษาธิการภาคนั้น ๆ ตามภารกิจและตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการโดยให้สำนักงานศึกษาธิการภาคดำเนินการ ดังนี้
(๑) กำหนดแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา การใช้จ่ายงบประมาณการจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
(๒) ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ วิจัย นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการบริหารจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษา
(๓) ให้คำแนะนำหรือข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงระบบการติดตามประเมินผลการจัดการศึกษา และข้อเสนอเพื่อการพัฒนาระบบการบริหารจัดการศึกษาระดับจังหวัด
(๔) รายงานผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับภาคไปยังคณะกรรมการ
(๕) ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบและรายงานผลกระทบผลการดำเนินการต่อปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
(๖) จัดทำข้อมูลสารสนเทศ เพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาในระดับภาค
(๗) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
ส่วนที่ ๓
การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษา ระดับสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด
ข้อ ๒๔ การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาระดับจังหวัดเป็นการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาและการนิเทศการศึกษาที่อยู่ในจังหวัดนั้น ๆ ตามภารกิจของกระทรวงศึกษาธิการโดยให้สำนักงานศึกษาธิการจังหวัดดำเนินการ ดังนี้
(๑) กำหนดแนวทางการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัด
(๒) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการบริหารจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในระดับจังหวัด
(๓) จัดทำข้อมูลสารสนเทศ เพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาในระดับจังหวัด
(๔) รวบรวม ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์ ผลการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของหน่วยงานการศึกษาในสังกัดและจัดทำรายงานเสนอต่อคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด และสำนักงานศึกษาธิการภาค
(๕) ติดตาม ตรวจสอบ เฝ้าระวังเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่มีผลกระทบและรายงานต่อผู้ตรวจราชการ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง
(๖) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
ส่วนที่ ๔
การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา
ข้อ ๒๕ การติดตาม ประเมินผลและนิเทศการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษาเป็นการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการบริหารและการดำเนินการ โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเตรียมการรับการนิเทศ ติดตาม และประเมินผลจากหน่วยงานภายนอก
ข้อ ๒๖ ให้คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการ กำหนด จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มาของคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
(๑) ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการนำมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มากำหนดเป็นแนวทางในการติดตาม ประเมินผลและนิเทศการบริหารและการดำเนินการของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา
(๒) กำหนดแนวทางการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย การบริหารและการดำเนินการของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา
(๓) พิจารณาแผนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลและนิเทศการศึกษา โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา
(๔) ติดตาม ประเมินผลและนิเทศการบริหารและการดำเนินการตามแผนที่กำหนด
(๕) รับทราบผลการติดตาม ประเมินผลและนิเทศการบริหารและการดำเนินการตามแผน และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
(๖) ส่งเสริมให้มีการประสานงานการติดตาม ประเมินผล และนิเทศการศึกษากับคณะกรรมการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการจัดการศึกษาตามความจำเป็น
(๘) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ ๒๗ ให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการ ดังนี้
(๑) มอบหมายศึกษานิเทศก์ หรือข้าราชการอื่นในสังกัด ทำหน้าที่ติดตาม ประเมินผล และนิเทศการศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษา
(๒) จัดทำแผนการติดตาม ประเมินผลและนิเทศการศึกษาประจำปี ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการของหน่วยงานเสนอขออนุมัติจากคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา แล้วแจ้งให้สถานศึกษาในสังกัดทราบ
(๓) ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย ดำเนินการนิเทศ ติดตามและประเมินผลการศึกษา การบริหารการศึกษา โดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อการเตรียมการรับการนิเทศติดตามและประเมินผลจากหน่วยงานภายในและภายนอก
(๔) รายงานผลการติดตาม ประเมินผลและนิเทศการศึกษาเสนอผู้บังคับบัญชา และคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา
(๕) ประสานให้หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ เพื่อชี้แจง ให้ถ้อยคำหรือส่งเอกสารและหลักฐานเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน
(๖) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย
หมวด ๓
เบ็ดเตล็ด
ข้อ ๒๘ ในกรณีที่บุคคลใดหรือหน่วยงานในสังกัด หรือหน่วยงานในกำ กับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการใด ไม่ปฏิบัติตามมติของคณะกรรมการหรือไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบนี้ ให้ผู้บังคับบัญชารายงานไปยังคณะกรรมการ
ข้อ ๒๙ เพื่อประโยชน์ในการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ให้ส่วนราชการ หน่วยงานการศึกษา หรือผู้รับตรวจราชการ ขอความร่วมมือหรือประสานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้
ประกาศ ณ วันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๐
ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
รายละเอียดเพิ่มเติม : ราชกิจจานุเบกษา