นักวิชาการจี้ สพฐ.ยกเลิกประกาศามาตรฐานการเรียนรู้คณิตศาสตร์ฯ และกลับไปเริ่มกระบวนการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางให้ถูกต้อง จับตาสพฐ.คุยสนพ.เอกชนผลิตตำรา
วันนี้(6 ก.ย.) ผศ.ดร.พัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค รองเลขาธิการศูนย์ประสานงานสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือCHESกล่าวถึงกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ( ศธ.) มีคำสั่ง ศธ.เรื่องให้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551นั้น ตนเห็นว่าเป็นการปรับปรุงหลักสูตรที่ไม่ถูกต้อง ถึงแม้นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) จะชี้แจงว่า สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(สสวท.)เป็นเจ้าภาพในการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี โดยมีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่ในความเป็นจริง สสวท.ได้วิจัยและพัฒนาหลักสูตรกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ฯ มาตั้งแต่ปี 2555 ขณะที่ รัฐบาลกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 มีแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560 – 2579 และกำหนดโครงสร้างประเทศเป็นประเทศไทย 4.0 ซึ่งสิ่งเหล่านี้ควรนำมาเป็นแนวทางในการปรับหลักสูตรแกนกลางให้เป็นปัจจุบัน
" เป็นที่น่าจับตาว่า เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2560 ที่ โรงแรมตรัง กรุงเทพฯ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ได้จัดประชุมร่างมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างความเข้าใจใน หลักสูตรที่ปรับปรุงใหม่ให้สำนักพิมพ์ทราบ เพื่อเตรียมผลิตให้ทันใช้ในปีการศึกษา 2561 จึงเป็นสิ่งที่น่าคิดว่า ทำไม สพฐ.จึงรีบร้อนทำเช่นนี้" ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวและว่า การปรับปรุงหลักสูตรครั้งนี้ยังจะกระทบไปถึงการทดสอบต่าง ๆ เช่น การทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต การทดสอบความถนัดทั่วไปหรือแกต และความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ หรือแพต การทดสอบสามัญ 9 วิชา เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงข้อสอบให้สอดคล้องกับสาระในหลักสูตรที่ได้มีการปรับปรุงใหม่ด้วย ดังนั้นการแก้ปัญหาระบบการศึกษาควรมองทั้งระบบมิใช่มองแค่ด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้นดังนั้นตนจึงเห็นว่าศธ.ควรยกเลิกประกาศศธ.ดังกล่าว และดำเนินการให้ถูกต้องตามกระบวนการปรับปรุงหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน.
ผศ.ดร.พัทธนันท์ กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญในการปรับหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานคือต้องอาศัยกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการจัดการศึกษาไทยมีความแตกต่างกับประเทศอื่นๆ เพราะมีความแตกต่างในด้านภูมิประเทศ เชื้อชาติ สัญชาติ และภาษาในการสื่อสาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการสร้างการเรียนรู้ของเด็กไทย อีกทั้งความพร้อมในด้านบุคลากรของโรงเรียนที่แตกต่างกันทั้งโรงเรียนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ขนาดใหญ่ และขนาดใหญ่พิเศษ รวมถึงโรงเรียนที่อยู่ในเขตท้องถิ่นทุรกันดาร ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณาปัจจัยดังกล่าวเพื่อปรับมาตรฐานและตัวชี้วัดให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพื่อประโยชน์สูงสุดในการจัดการเรียนรู้ของเด็กไทยในอนาคต .
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 6 กันยายน 2560 เวลา 15.11 น.