เมื่อวันที่ 4 กันยายน นายประเสริฐ บุญเรือง รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า ตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นชอบหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ซึ่งขณะนี้มีตำแหน่ง ศธจ.ว่างอยู่ 10 ตำแหน่งนั้น ขั้นตอนจากนี้ต้องรอสำนักงาน ก.ค.ศ. ประกาศหลักเกณฑ์การสรรหาอย่างเป็นทางการ แต่โดยหลักการแม้จะมีการย้ายนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัด ศธ.ไปเป็นเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) นพ. ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการ ศธ.ก็ยังไม่ได้สั่งการให้ชะลอการดำเนินการบริหารงานบุคคลในเรื่องใด ดังนั้นเบื้องต้นกระบวนการสรรหาทุกอย่างคงต้องเป็นไปตามขั้นตอน ขณะเดียวกันคงต้องรอฟังนโยบายจากนายการุณ สกุลประดิษฐ์ รักษาการปลัด ศธ.ด้วยว่าจะมีแนวทางอย่างไร เพราะนอกจากตำแหน่ง ศธจ. 10 ตำแหน่งแล้ว ในอนาคตจะมีตำแหน่งรอง ศธภ.ว่างอีกกว่า 10 ตำแหน่ง เนื่องจากอยู่ในช่วงการสรรหาผู้บริหารระดับสูงและระดับต้น ซึ่งหากตำแหน่งใดว่างลงก็ต้องสรรหามาทดแทนตำแหน่งว่าง ดังนั้นต้องรอฟังนโยบายจากทั้งรัฐมนตรีว่าการ ศธ. และปลัด ศธ.คนใหม่ว่าจะมีทิศทางอย่างไร
รองปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่บุคลากรจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ยื่นหนังสือขอให้ ศธ.ทบทวนกรอบอัตรากำลังในส่วนของเขตพื้นที่ฯ นั้น เป็นกรอบที่ ก.ค.ศ.กำหนด ซึ่งกรณีที่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษลดลง เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ที่กำหนดว่า ใน 1 หน่วยงาน ต้องมีชำนาญการ 4 ตำแหน่ง ถึงจะมีชำนาญการพิเศษได้ 1 ตำแหน่ง ซึ่งทั้งสำนักงาน ศธจ. และสำนักงาน สพท.ยึดหลักเกณฑ์เดียวกัน ไม่ได้แบ่งแยกว่าสำนักงาน ศธจ.ได้มากกว่า หรือน้อยกว่า เพราะบทบาทการทำงานบางอย่างของเขตพื้นที่ฯ ถูกโยกมาที่สำนักงาน ศธจ. อีกทั้งจำนวนคนในเขตพื้นที่ฯ ยังลดลง เมื่อลดลงก็ต้องมีการกำหนดกรอบอัตรากำลังใหม่ คือถ้ามีตำแหน่งชำนาญการ 4 อัตรา ชำนาญการพิเศษ 1 อัตรา หากหน่วยงานใดมีตำแหน่งชำนาญการ 3 อัตรา ก็จะไม่มีตำแหน่งชำนาญการพิเศษ อย่างไรก็ตามกรอบอัตรากำลังดังกล่าวจะใช้ก่อน 1 ปี ซึ่งหากทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เห็นว่าไม่สอดคล้องกับภาระงานก็สามารถเสนอให้คณะกรรมการ ก.ค.ศ.พิจารณาใหม่ได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้ดำเนินการเกลี่ยอัตรากำลังรอบแรกไปแล้วจำนวน 2,600 อัตรา และกำลังจะขออนุมัติขอเกลี่ยอัตรากำลังจากคณะกรรมการ ก.ค.ศ.ในการเกลี่ยรอบ 2 อีกจำนวน 800 กว่าอัตรา
"กรอบอัตรากำลังดังกล่าว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ ก.พ.กำหนด ใช้เหมือนกันทั้งในเขตพื้นที่ฯ และสำนักงาน ศธจ.ไม่ใช่ว่าสำนักงาน ศธจ.จะเอาเปรียบ การกำหนดกรอบอัตรากำลังต้องให้ทุกคนได้รับความเป็นธรรม ไม่มีการแบ่งแยก และไม่ได้ลำเอียง" นายประเสริฐกล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก มติชน ฉบับวันที่ 6 ก.ย. 2560 (กรอบบ่าย)