จี้กระทรวงศึกษาธิการประกาศให้ประเทศไทยมีโครงสร้างผลิตครู 5ปี หลักสูตรเดียว พร้อมพัฒนาผู้สอนเป็นคณาจารย์ 4.0 และปรับปรุงระบบการฝึกสอนของนักศึกษาให้เข้มข้นมากขึ้น
วันนี้(4ก.ย.) ดร.ดิเรก พรสีมา คณบดีวิทยาลัยการฝึกหัดครู มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ในฐานะประธานคณบดีคณะครุศาสตร์ กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) 38 แห่ง เปิดเผยว่า ในการประชุมสภาคณบดีครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ที่ มรภ.อุบลราชธานี เมื่อเร็วๆนี้ รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ คณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ในฐานะประธาน ส.ค.ศ.ท. ได้ผลักดันให้มีหลักสูตรฝึกหัดครู ทั้ง หลักสูตร 4 ปี และ หลักสูตร 5 ปี แต่ คณบดีฯกลุ่ม มรภ. กลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและเทคโนโลยีพระจอมเกล้า ไม่เห็นด้วย อีกทั้งคณบดีในกลุ่มมหาวิทยาลัยดั้งเดิมบางคนก็ไม่เห็นด้วย ซึ่ง รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ ได้ขู่ว่าถึงแม้จะไม่เห็นด้วยอย่างไร นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ก็จะประกาศให้โครงสร้างหลักสูตรครูเป็น 4 ปี และ 5 ปีอยู่ดี ซึ่งที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางจนประธาน ส.ค.ศ.ท. ควบคุมการประชุมไม่ได้ ต้องประกาศปิดการประชุมอย่างกระทันหัน โดยใช้เวลาประชุมเพียง 1 ชั่วโมง วงก็แตก
ดร.ดิเรก กล่าวต่อไปว่า เมื่อ รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ ปิดการประชุม ตนได้ขอทำหน้าที่แทนขอประชุมคณบดีคณะครุศาสตร์กลุ่ม มรภ.ต่อ ซึ่งก็มีคณบดีกลุ่มมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลและเทคโนโลยีพระจอมเกล้า และคณบดีกลุ่มมหาวิทยาลัยดั้งเดิมบางคนอยู่ร่วมประชุมต่อ ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นด้วยว่าควรให้มีการปรับปรุงมาตรฐานหลักสูตรวิชาชีพครู เป็นมาตรฐานสมรรถนะ ควรให้มีการปรับปรุงกระบวนการผลิต ตั้งแต่การรับนักศึกษาครูให้มีคุณภาพมากขึ้น ควรปรับปรุงระบบการเรียนการสอนนักศึกษาครู จากเน้นการบรรยาย มาเน้นการปฏิบัติหรือทำโครงงานให้มากขึ้น ควรพัฒนาคณาจารย์ให้เป็นคณาจารย์ 4.0 ควรปรับปรุงระบบการฝึกสอนของนักศึกษาให้มีความเข้มข้น นิเทศก์อย่างจริงจังมากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีโครงสร้างหลักสูตรการผลิตครูทั้ง 4 ปี และ 5ปี ประเทศไทยควรมีโครงสร้างหลักสูตรเดียว คือ หลักสูตรครู 5 ปี
“ที่ประชุมได้อภิปรายกันว่าหากปรับเป็นหลักสูตรครู 4 ปี จะทำให้นักศึกษาครูจะเรียนหน่วยกิตในวิชาเอกน้อยลง จะทำให้มีความแม่นยำในเนื้อหาวิชาเอกน้อยลง ซึ่งปัจจุบันการเรียนหลักสูตรครู 5 ปี ความแม่นในเนื้อหาวิชาเอกก็มีปัญหาอยู่แล้ว เพราะจากการสอบบรรจุบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ผ่านมา พบว่า ปี 2560 บัณฑิตครูสมัครสอบ 180,000 คน สอบผ่านแค่ 19.56% ซึ่งสาเหตุที่สอบตกก็พบว่าสอบตกในวิชาเอိก แล้วถ้าลดจำนวนปีลง มีเวลาเรียนวิชาเอกน้อย ความเข้มข้นก็จะน้อยลง และส่งผลเสียต่อการสอนลูกศิษย์ในอนาคต ทั้งนี้ ที่ประชุมให้ตนเสนอมติดังกล่าวต่อ รมว.ศธ.ต่อไป" ดร.ดิเรก กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 เวลา 11.32 น.