สพฐ.พัฒนาโรงเรียนต้นแบบสิ่งแวดล้อม 15,000 โรง สร้างจิตสำนึกบริหารจัดการขยะ และลดปริมาณขยะใช้ประโยชน์จากขยะและน้ำเสียจากขยะในสถานศึกษาสู่ชุมชน
วันนี้(4ก.ย.) นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) รักษาราชการแทนเลขาธิการ กพฐ. เปิดเผยว่า เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยกำลังประสบปัญหาปริมาณขยะเพิ่มมากขึ้น ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี 2559 พบว่ามีปริมาณของเสียอันตรายจากชุมชนเกิดขึ้นทั่วประเทศประมาณ 600,000 ต่อตัน เฉลี่ยคนไทยสร้างขยะคนละกว่า 7 กิโลกรัมต่อวัน ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ตระหนักถึงปัญหานี้ จึงมีมติเห็นชอบแผนปฏิบัติการประเทศไทยไร้ขยะ ตามแนวทางประชารัฐระยะที่ 1 (พ.ศ.2559-2560) ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ พ.ศ.2559-2564 และยังเป็นไปตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) ยุทธศาสตร์ที่ 5 ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยสำนักพัฒนานวัตกรรมการจัดการศึกษา จึงได้ทำโครงการสร้างจิตสำนึกด้านการบริหารจัดการขยะการลดปริมาณขยะใช้ประโยชน์จากขยะและน้ำเสียจากขยะในสถานศึกษาสู่ชุมชน ในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาโรงเรียนต้นแบบสิ่งแวดล้อมจำนวน 15,000 โรง
"สำหรับโครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกในการลดปริมาณขยะในสถานศึกษาให้ได้มากที่สุด และสร้างองค์ความรู้รวมถึงจิตสำนึกการนำขยะมาใช้ประโยชน์ โดยจะเป็นการสร้างวินัยด้านการบริหารจัดการขยะในโรงเรียนให้แก่เด็กนักเรียนทุกระดับชั้น อย่างไรก็ตาม สพฐ.ได้เล็งเห็นความสำคัญของการสร้างวินัยในการบริหารจัดการขยะให้แก่เด็กนักเรียนและเห็นความจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนและประชาชนได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม จึงได้มีการสร้างศูนย์การเรียนรู้ลดใช้พลังงานการจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมขึ้น 2 ศูนย์ เพื่อเป็นศูนย์กลางการนำร่องที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา(สพป.)ขอนแก่น เขต 3 และที่สพป.กระบี่ โดยจะมีการเปิดตัวทั้ง 2 ศูนย์ในเร็ว ๆ นี้" นายบุญรักษ์ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 4 กันยายน 2560 เวลา 11.16 น.