“การุณ” ชี้ปรับมาตรฐานการเรียนรู้ผ่านประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องหลายครั้ง มีตัวแทนครูจากทุกภูมิภาคมาให้ความเห็น
วันนี้(28 ส.ค.)นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า หลังจาก นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ ได้ลงนามในคำสั่งกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่ สพฐ. 1239/2560 เรื่อง ให้ใช้มาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และสาระภูมิศาสตร์ในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม (ฉบับปรับปรุง พ.ศ.2560) ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 เมื่อวันที่ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ท้วงติงและตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการดำเนินการโดยขาดการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้อง นั้น เรื่องนี้อาจเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะช่วงระยะเวลาที่มีการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ฐานะเจ้าภาพ ในส่วนของสาระภูมิศาสตร์ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ฐานะเจ้าภาพ ในส่วนของสาระคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ได้มีการจัดสัมมนารับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องหลายครั้งและได้มีการประชาพิจารณ์หลังจากได้ตัวร่างออกมาแล้วด้วย
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า ก่อนที่จะมีคำสั่ง ศธ.คำสั่งนี้ รมว.ศธ.ได้หารือนักกฎหมายแล้วว่าสามารถดำเนินการได้เพราะไม่ได้กระทบโครงสร้างหลักสูตรแกนกลาง แต่เป็นการปรับปรุงมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัด เพื่อให้การนำไปใช้มีความชัดเจนมากขึ้น และรองรับการเป็นไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องมีความทันสมัยและเป็นสากล เช่น การสอนภูมิศาสตร์ของประเทศไทยที่ผ่านมายังเน้นเชิงสังคมอยู่ แต่วันนี้โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปมากการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ควรเน้นความเชื่อมโยงกับชีวิตมนุษย์มากขึ้น และเพิ่มกระบวนการเรียนรู้ทางภูมิศาสตร์หรือ Geo literacy ซึ่งจะทำให้การเรียนวิชาภูมิศาสตร์มีความสนุกมากขึ้น เป็นต้น.
“ที่ว่าไม่ผ่านการมีส่วนร่วมนั้นไม่เป็นความจริง เพราะทั้ง สสวท.และ สพฐ.ได้รับฟังความเห็นหลายรอบ มีการตั้งทีมผู้ทรงคุณวุฒิขึ้นมาปรับปรุง แล้วเปิดรับฟังความคิดเห็นอีก โดยเน้นกลุ่มเป้าหมายที่ผู้ใช้หลักสูตร ซึ่งก็มีตัวแทนครูจากทุกภูมิภาคมาให้ความเห็น ”นายการุณ กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม 2560 เวลา 10.50 น.