เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี 442/2560 เรื่อง รมว.ศธ.พบปะหารือกับบอร์ด กพฐ.ชุดใหม่ โดยมีเนื้อหาและรายละเอียดข่าว ดังนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยภายหลังพบปะหารือกับคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ชุดใหม่ นำโดยนายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานกรรมการ โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมพบปะหารือในครั้งนี้ อาทิ ม.ล.ปริยดา ดิศกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (นายบุญรักษ์ ยอดเพชร, นางสุจิตรา พัฒนะภูมิ, นายณรงค์ แผ้วพลสง) เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมชั้น 9 อาคารสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 5
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า วันนี้เป็นการพบปะเพื่อทำความรู้จักกับ กพฐ. ชุดใหม่เป็นครั้งแรก แต่ยังไม่ได้ลงในรายละเอียดใด ๆ เพียงแต่ฝากแนวคิดเพื่อช่วยขับเคลื่อนงานใน 3 เรื่องหลัก ซึ่งสอดคล้องกับประเด็นที่คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษามองเห็นเช่นกัน คือ 1) โอกาสทางการศึกษา 2) การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา 3) คุณภาพการศึกษา
เนื่องจากบอร์ดชุดนี้ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญชำนาญแตกต่างกันหลากหลาย ทั้งนักวิชาการ ผู้บริหารมหาวิทยาลัย ผู้อำนวยการโรงเรียน ศึกษานิเทศก์ เป็นต้น จึงเสนอแนะให้ทุกคนถอดหมวกใบเดิมออกก่อน เพื่อจะได้มองภาพการศึกษาพื้นฐานของทั้งประเทศแบบองค์รวม มองเห็นเป็นภาพใหญ่ ที่จะสามารถขับเคลื่อนงานเดินหน้าไปได้
สิ่งสำคัญที่บอร์ดจะต้องทำ คือ ทำหน้าที่ตามกฎหมายกำหนด ทั้งในการกำกับ ดูแล ตรวจสอบ ช่วยขับเคลื่อนงาน ตลอดจนเสนอแนะนโยบายต่อรัฐมนตรี และดูแลระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เช่น การจัดสรรทรัพยากรด้านต่าง ๆ ซึ่งผู้ที่เชี่ยวชาญด้าน IT สามารถตรวจสอบการจัดสรรอุปกรณ์ งบประมาณ ว่าถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาพิเศษ ก็สามารถลงไปดูได้ว่ามีการจัดสรรทรัพยากรสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาพิเศษมากน้อยเพียงใด เป็นต้น
การพบปะหารือในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ทำความเข้าใจถึงแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนตรงกัน เพื่อให้บอร์ดทำงานตามกฎหมาย มิใช่ต้องดูแลเรื่องต่าง ๆ มากมายทั้งเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายและเรื่องที่ไม่มีความจำเป็นตามกฎหมายดังเช่นที่ผ่านมา จึงถือเป็นการพลิกโฉมการทำงานของบอร์ด กพฐ. ลบข้อกล่าวหาเป็นเพียง “บอร์ดโลกลืม” ให้หมดไป และเชื่อว่าเมื่อบอร์ดสามารถขับเคลื่อนงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะมีส่วนช่วยลดการทุจริตคอร์รัปชันต่าง ๆ ให้น้อยลง อันจะส่งผลต่อการตรวจสอบ กำกับ และขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นด้วย
คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแต่งตั้ง ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2560 เป็นต้นไป มีจำนวน 17 คน/รูป ดังนี้
1. นายปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานกรรมการ
2. นายพิทักษ์ บัวแสงใส กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรเอกชน
3. นายนุชากร มาศฉมาดล กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
4. นางสาวทินสิริ ศิริโพธิ์ กรรมการที่เป็นผู้แทนองค์กรวิชาชีพ
5. ผู้ช่วยศาสตราจารย์กวิสรา รัตนากร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการประถมศึกษา)
6. นายจงภพ ชูประทีป กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ)
7. นางบุสบง พรหมจันทร์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการมัธยมศึกษา)
8. นางสาวเบญจพร ปัญญายง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษาปฐมวัย)
9. นายพิศณุ ศรีพล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย)
10. ว่าที่ร้อยตรี ไพศาล ประทุมชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการงบประมาณการเงินและการคลัง)
11. รองศาสตราจารย์ยืน ภู่วรวรรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านอุตสาหกรรม)
12. นางศรินธร วิทยะสิรินันท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษาเพื่อคนพิการ)
13. นายสมหมาย ปาริจฉัตต์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านธุรกิจและการบริการ)
14. นางสาวสุรภี โสรัจจกุล กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารงานบุคคล)
15. นางแสงระวี วาจาวุทธ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาส ด้านการศึกษาเอกชน และด้านการศึกษาสำหรับผู้มีความสามารถพิเศษ)
16. รองศาสตราจารย์เอกชัย กี่สุขพันธ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านการบริหารการศึกษา)
17. พระพรหมดิลก กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ด้านพุทธศาสนาและการศึกษา)
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
นวรัตน์ รามสูต: ถ่ายภาพ
24/8/2560
ขอบคุณที่มาและดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 24 สิงหาคม 2560