สับสนกับเมเจอร์ที่เลือก แต่ไม่อยากรีแอดมิชชั่นต้องทำยังไง?
สำหรับเด็กนักเรียนอย่างเรา ๆ การได้สอบเข้าไปยังมหาวิทยาลัยและคณะในฝันก็คือเป้าหมายแรกอันยิ่งใหญ่ในชีวิตเลยก็ว่าได้ เมื่อได้เข้าไปเป็นเด็กคณะในฝัน ในมหาวิทยาลัยที่ชอบแล้ว แต่พอได้เข้าไปสัมผัสจริง ๆ มันอาจจะไม่ใช่อย่างที่เราคิดเลยก็ได้ รู้ไหมว่าการได้เรียนในคณะและสิ่งที่ตัวเองชอบจริง ๆ น่ะมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะน้อยคนนักที่จะรู้ตัวได้แบบเต็มร้อยว่าชอบอะไรจริง ๆ แถมตัวเองก็ยังไม่เคยได้เข้าไปสัมผัสการเรียนในเอกนั้น คณะนั้น มหาวิทยาลัยนั้นมาก่อน ก็คงมีหลายคนเลยทีเดียวที่คิดเสียใจทีหลังว่า ‘ไม่น่าเลือกเข้ามาเอกนี้เลย!’ บางคนอาจจะมีอารมณ์ติสท์ โนสน โนแคร์ ไม่ชอบ ไม่ใช่ ก็ยอมเสียเวลาไปรอรีแอดมิชชั่นใหม่เลย แต่หลาย ๆ คนก็อาจจะเสียดายว่าอุตส่าห์พยายามสอบเข้ามาจนได้แล้ว ไม่อยากจะไปรีแอดมิชชั่นใหม่ให้กลายเป็นพี่ใหญ่สุดในรุ่น แถมยังต้องเสียเวลาไปอีกตั้งปีอีกต่างหาก
การเข้าไปเรียนเอกวิชาที่ดันเลือกไปแล้ว แต่กลับไม่ชอบแล้วก็รู้สึกว่าไม่เป็นตัวเองเอาซะเลยนั้น มันก็น่าเครียดอยู่ไม่น้อย เพราะเวลาที่เข้าเรียนแต่ละครั้ง คงไม่มีความสุขเท่าไหร่นัก แต่จะทำยังไงให้รอดไปได้ตลอด 4 ปีโดยไม่ต้องรีแอดมิชชั่น จริง ๆ แล้วก็มีหลายทางหลายวิธีอยู่เหมือนกัน
1. ลองปรับเปลี่ยนทัศนคติดูสักหน่อยไหม
ทางแก้ทางแรกในการรับมือกับสิ่งที่ไม่ชอบก็คือการปรับทัศนคติที่เรามีต่อวิชาเอกที่เราไม่ชอบนั่นแหละ ใครว่าในสิ่งที่เราเกลียด มันจะมีแต่เรื่องไม่ดีไปซะหมด อย่างน้อยมันก็ต้องมีอะไรดี ๆ อยู่ในนั้นบ้างไม่มากก็น้อย ไม่งั้นแล้วคนอื่น ๆ เขาจะทนเรียนอยู่ได้ยังไง ก่อนที่จะเบือนหน้าหนีให้กับเอกนั้น ๆ ลองหยิบกระดาษกับดินสอขึ้นมาทำเช็กลิสต์ดูสักหน่อยไหม เขียนทั้งข้อดีและข้อเสียจากการเรียนวิชาเอกนี้ บางครั้งเวลาที่เราต้องเจอกับสิ่งที่ไม่ชอบ เราก็มักจะคิดถึงแต่ข้อเสีย ด้านไม่ดีของมัน แต่ไม่เคยหันไปมองข้อดีของสิ่งเหล่านั้นเลย การมานั่งลิสต์ข้อดีข้อเสียของการเรียนวิชาเอกที่เราไม่ชอบ อาจทำให้เราค้นเจอจุดดี ๆ ที่จะทำให้เราอยากไปต่อกับวิชาเอกนี้ก็ได้ ใครจะไปรู้
2. กัดฟันเรียนกันดูสักตั้ง มันอาจจะดีขึ้นมาก็ได้ ใครจะไปรู้
หากไม่อยากไปเสียเวลารีแอดมิชชั่นใหม่ละก็ ลองกัดฟันเรียนกันดูสักตั้งไหมว่าจะอยู่หรือจะไป จริง ๆ แล้วเราก็อาจจะมีดีในวิชาเอกนี้ก็ได้ ดีไม่ดี เรียน ๆ ไปเกิดได้คะแนนดี คะแนนท็อปขึ้นมา เราอาจไม่คิดอยากเปลี่ยนเอกแล้วก็ได้ เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำได้ดี สิ่งที่เราถนัด แล้วจะไปเปลี่ยนทำไม สู้ทำตรงนี้ให้ดีที่สุดไม่ดีกว่าเหรอ แค่ไม่ชอบเอกที่เลือกไม่ได้หมายความว่าจะเรียนไม่ได้เลยสักหน่อย ไม่ใช่ไม่ชอบแล้วก็ไม่ยอมเรียน แต่ต้องลองฮึดสู้ดูสักตั้งก่อน ทำมันให้ดีที่สุด ถ้าทำออกมาแล้วมันไม่ดี อย่างนี้ค่อยมาคิดกันใหม่ว่าควรทำอย่างไรต่อ
3. ปรึกษาอาจารย์และเพื่อน ๆ ในเอก จำไว้คนพวกนี้ช่วยเราได้เสมอ
จะมีใครเข้าใจเราได้มากไปกว่าคนที่ต้องเผชิญกับสิ่งเดียวกันกับเรา เพื่อน ๆ ในเอกที่เรียนเหมือน ๆ กับเรานี่แหละที่จะเป็นได้ทั้งแรงกระตุ้น แรงบันดาลใจให้เราเกิดความอยากเรียนในวิชาเอกนั้นมากยิ่งขึ้น ยิ่งถ้าได้เจอเพื่อนดีที่เป็นได้ทั้งเพื่อนเรียนเพื่อนเที่ยวด้วย การเข้าเรียนวิชาเอกนี้ต่อไปก็ดูจะไม่ใช่เรื่องน่าเบื่ออีกต่อไป มิหนำซ้ำยังอาจทำให้เราอยากไปเข้าเรียนมากขึ้นซะด้วย แต่ถ้ารู้สึกว่ามันยังไม่ใช่อยู่ดีละก็ เข้าไปคุยหาคำปรึกษาคำแนะนำจากอาจารย์ในเอกวิชาได้เลย ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกด่าออกมาหรอก แค่เข้าไประบายความรู้สึก ความอึดอัดใจที่มีกับเอกที่เลือกกับอาจารย์เขาดู เชื่อว่าอาจารย์เขาต้องมีคำแนะนำดี ๆ กลับมาให้แน่ เพราะเราคงไม่ใช่คนแรกหรอกที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนี้
4. ไม่ชอบวิชาเอก ก็เลือกวิชาโทที่ชอบซะสิ
ก็ในเมื่อเอกที่เลือกไม่ใช่ตัวเรา ไม่ใช่สิ่งที่ชอบ แต่อย่าลืมว่าการเรียนในมหาวิทยาลัยก็ยังมีโอกาสให้เราได้เลือกวิชาโทด้วย ทำไมไม่ลองหาสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วไปเลือกสิ่งนั้นเป็นวิชาโทซะละ แม้วิชาเอกที่เราเลือกมันจะไม่ตรงใจเรานัก แต่ถ้ามีวิชาโทที่โดนในเราจริง ๆ ก็ทำให้เรามีกำลังใจที่จะเรียนเพิ่มขึ้นอีกเยอะเลยจริงไหม
5. ย้ายเอกซะเลยสิ (ถ้าย้ายได้นะ)
ถ้าการต้องเรียนในเอกนี้มันทรมานมากนัก ลองเข้าไปคุยกับอาจารย์เลยดีกว่าว่าถ้าเราไม่อยากเรียนเอกนี้แล้ว พอมีทางเป็นไปได้ไหมที่เราจะย้ายไปอยู่เอกอื่นในคณะเดียวกัน บางทีมันอาจจะมีทางก็ได้นะ อย่าคิดในแง่ลบแง่ร้ายอยู่ตลอด ต้องเชื่อว่าทุกอย่างมันต้องเป็นไปได้ แต่ต้องขอย้ำไว้สักข้อหนึ่งคือต้องเลือกให้ชัดเจน คิดให้ถี่ถ้วนว่าเอกที่เรากำลังจะย้ายไปนั้น มันคือเอกที่ใช่สำหรับตัวเราจริง ๆ ไม่ใช่ย้ายไปแล้วก็ไม่ใช่อีก จะให้ย้ายไปเอกไปย้ายเอกมาอย่างนี้ก็คงไม่ไหวนะ
หากว่าทำตามคำแนะนำทั้ง 5 ข้อจาก
iPrice แล้วแต่มันก็ยังไม่ได้มีอะไรดีขึ้นมา เอกที่ไม่ชอบมันก็ยังไม่ใช่อยู่ดี จะเข้าเรียนแต่ละทีก็รู้สึกว่าต้องฝืนใจตัวเองเป็นอย่างมาก เอาจนกระทั่งบางทีก็ยอมขาดเรียนไปเลยก็มี ถ้าถึงขั้นนี้แล้วละก็ ขอบอกไว้เลยว่าคำตอบสุดท้ายคือกลับไปรอรีแอดมิชชั่นใหม่น่าจะดีที่สุดแล้วละ