สถานี ก.ค.ศ.
การประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ตามหลักเกณฑ์ ว21/2560
ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา และผู้สนใจทุกท่าน ตามที่ ก.ค.ศ. ได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีวิทยฐานะและเลื่อนวิทยฐานะใหม่ ตามหนังสือสำนักงาน ก.ค.ศ. ที่ ศธ 0206.2/ว21 ลงวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 นั้น ตามหลักเกณฑ์ได้กำหนดให้มีการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ใน 3 ด้าน 13 ตัวชี้วัด ได้แก่ ด้านการจัดการเรียนการสอน (8 ตัวชี้วัด) ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียน (3 ตัวชี้วัด) และด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพ (2 ตัวชี้วัด) โดยด้านการจัดการเรียนการสอนพิจารณาจาก การสร้างและหรือการพัฒนาหลักสูตร การออกแบบหน่วยการเรียนรู้ การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ แผนการจัดการศึกษาเฉพาะบุคคล (IEP) แผนการสอนเฉพาะบุคคล (IIP) แผนการจัดประสบการณ์ กลยุทธ์ในการจัดการเรียนรู้ การสร้างและการพัฒนา สื่อ นวัตกรรม เทคโนโลยีทางการศึกษาและแหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพผู้เรียน ด้านการบริหารจัดการชั้นเรียนพิจารณาจาก การบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดบรรยากาศการเรียนรู้ การจัดระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน การจัดทำข้อมูลสารสนเทศและเอกสารประจำชั้นเรียนหรือประจำวิชา ด้านการพัฒนาตนเองและพัฒนาวิชาชีพพิจารณาจาก การพัฒนาตนเอและนำผลมาใช้ในการพัฒนาผู้เรียน การพัฒนาวิชาชีพ โดยการมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้นำชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (PLC) จากตัวชี้วัดดังกล่าว จะเห็นได้ว่า ก.ค.ศ. กำหนดเพื่อให้ครูมุ่งเน้นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อันจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนการสอนและคุณภาพผู้เรียน
การปรับระบบการประเมินวิทยฐานะใหม่ มุ่งเน้นให้ครูมีความชำนาญและเชี่ยวชาญในการจัดการเรียนการสอน ไม่ทิ้งผู้เรียนและห้องเรียนเพื่อไปจัดทำผลงานทางวิชาการ เป็นการคืนครูสู่ห้องเรียน สร้างความเข้มแข็งและยกระดับวิชาชีพครู โดยให้มีการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ใน 3 ด้าน เพื่อให้การจัดการเรียนการสอนของครูส่งผลถึงคุณภาพผู้เรียนทั้งด้านความรู้ ทักษะ คุณลักษณะและสมรรถนะที่สำคัญอย่างแท้จริง
พินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์
เลขาธิการ ก.ค.ศ.
เผยแพร่ทางคอลัมน์ “สถานี ก.ค.ศ.” หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันจันทร์ที่ 21 สิงหาคม 2560
ที่มา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา วันอังคาร ที่ 22 สิงหาคม 2560