ยกเลิกหลักสูตรอบรมครู 87 หลักสูตร รองเลขาฯ สพฐ.ยอมรับไม่ได้ตรวจสอบให้ดี บางหลักสูตรไม่ใช่ของสถาบันการศึกษา แต่เป็นของส่วนบุคคล ยันจะกำหนดรายละเอียดให้ชัดเจนขึ้น ผู้ยื่นเสนอหลักสูตรต้องลงทะเบียนกับสถาบันคุรุพัฒนา และผู้ที่เสนอต้องมีสถานะเป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และนิติบุคคลเท่านั้น
นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (รองเลขาฯ กพฐ.) กล่าวภายหลังการประชุมติดตามโครงการพัฒนาครูครบวงจรรูปแบบใหม่ว่า ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่หน่วยงานจัดหลักสูตรอบรมครูตามโครงการดังกล่าวขอยกเลิกการจัดอบรม ซึ่งมีทั้งหมด 22 หน่วยงาน แบ่งเป็น มหาวิทยาลัยของรัฐ 14 หน่วยงาน บริษัทเอกชน 3 หน่วยงาน สมาคม 2 หน่วยงาน มหาวิทยาลัยเอกชน 1 หน่วยงาน โรงเรียน 1 หน่วยงาน และกลุ่มบุคคล 1 หน่วยงาน ที่ผ่านมา โดยทั้ง 22 หน่วยงานนี้มีการจัดอบรมทั้งหมด 87 หลักสูตร จำนวน 210 รุ่น และมีครูลงทะเบียนเพื่อเข้ารับการฝึกอบรม จำนวน 22,349 คน จากนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้มอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) สำรวจกลุ่มครูที่ได้รับผลกระทบจากการยกเลิกหลักสูตรดังกล่าว เพื่อจะดำเนินการติดตามขอคืนเงิน และเยียวยากลุ่มครูเหล่านั้น สำหรับการดำเนินการในปีงบประมาณ 2561 นั้น สพท.จะเป็นหน่วยงานหลักในการการดำเนินการ เริ่มจากการสำรวจความเห็นของครูแบบเปิดกว้าง ว่าครูมีความต้องการจะอบรมเรื่องอะไรบ้าง สถานที่ไหน โดยจำจะแนกเป็นกลุ่มชั้นเรียน กลุ่มสาระวิชาด้วย แล้วก็จะประกาศข้อมูลดังกล่าวให้ผู้จัดการอบรมรับทราบ
รองเลขาฯ กพฐ.กล่าวว่า การเสนอหลักสูตรจะต้องเสนอผ่าน สพฐ. จากนั้น สพฐ.ก็จะเสนอคณะกรรมการสถาบันคุรุพัฒนารับรองหลักสูตร เมื่อหลักสูตรผ่านการรับรองแล้ว สพฐ.จะมีคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งมีครูประกอบอยู่ด้วย ทำหน้าที่กลั่นกรองว่าหลักสูตรใดมีประโยชน์ต่อครูบ้าง แล้วจึงจะขออนุมัติจากเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) และแจ้งข้อมูลหลักสูตรที่ สพฐ.คัดเลือกแล้วให้ครูทั่วประเทศรับทราบ และจากนี้เมื่อครูเข้าสู่ระบบเพื่อเลือกหลักสูตรที่ต้องการอบรม ครูจะมีแพลนไอดีของแต่ละคนที่จะแสดงข้อมูลของครู ทำให้เห็นภาพรวมว่าแต่ละเขตพื้นที่ฯ มีครูอบรมเรื่องใด ที่ไหน ใช้งบประมาณจำนวนเท่าไร ซึ่งจะทำให้ สพฐ.สามารถโอนงบประมาณสนับสนุนได้ตามความต้องการ โดยในส่วนการดำเนินการ ตนมองว่าควรให้เงินแก่ครู คือครูจะได้รับเงินจาก สพท.เป็นเงินที่สำรองให้แก่ครูก่อน เพื่อที่จะลดข้อครหาของ สพท.ในการดำเนินการต่างๆ ซึ่งมั่นใจได้ว่าครูจะใช้เงินอย่างถูกต้องแน่นอน เนื่องจากมีระเบียบกำหนดไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นครูจึงไม่สามารถเบิกเงินเกินได้
"ต้องยอมรับว่าในช่วงที่เราเปิดรับโครงการใหม่ เรามองโลกในแง่ดีมากเกินไป และไม่มีการกำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน เช่น ถ้าเป็นตัวแทนของสถาบันการศึกษาอย่าง มหาวิทยาลัย หรือตัวแทนคณะ ก็ต้องมีมติเห็นชอบจากผู้บริหารของมหาวิทยาลัย ส่งผลให้คนส่วนใหญ่มาในนามตัวเอง แต่ใช้ชื่อสถาบัน เป็นต้น ซึ่งจากนี้ผู้ที่ต้องการจะยื่นเสนอหลักสูตรอบรมจะต้องมีการลงทะเบียนกับสถาบันคุรุพัฒนา และจะต้องมีสถานะเป็นสถาบันการศึกษา หน่วยงาน และนิติบุคคล ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันการศึกษาจะต้องมีหนังสือรับรองจากทางมหาวิทยาลัยด้วย" รองเลขาฯ กพฐ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 17 สิงหาคม 2560