สพฐ.จับปัญหาคูปองอบรมครูขึ้นโต๊ะถก หลังหน่วยจัดแจ้งยกเลิกการอบรม พบสารพัดปัญหา มีทั้งคนลงทะเบียนน้อยและมากเกินไปเป็นเหตุ มอบผอ.เขตพื้นที่เป็นซีอีโอจัดระเบียบอบรมปีหน้า
วันนี้(16 ส.ค.)นายบุญรักษ์ ยอดเพชร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาครูครบวงจร ว่า ที่ประชุมรับทราบกรณีผู้รับผิดชอบหลักสูตรยกเลิกการจัดอบรมจำนวน 87 หลักสูตร 213รุ่น ใน 22 หน่วยงาน โดยเป็นหน่วยงานเอกชน 8 แห่ง และอีก 14 แห่งเป็นมหาวิทยาลัย มีครูที่ลงทะเบียน 22,349 คน สำหรับเหตุผลที่ขอยกเลิกหลักสูตร ได้แก่ กลุ่มเป้าหมายไม่เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนดจึงไม่สามารถจัดอบรมได้ เกิดความล่าช้าในการโอนเงินค่าลงทะเบียนล่วงหน้าของผู้รับการอบรมทำให้ฝ่ายจัดไม่สามารถวางแผนการดำเนินโครงการได้ ต้องปรับปรุงหลักสูตร หรือ มีผู้สมัครจำนวนมากไม่สามารถจัดหาสถานที่รองรับได้ เป็นต้น อย่างไรก็ตามถึงแม้จำนวนหลักสูตรจะถูกยกเลิกค่อนข้างมาก แต่พบว่ามีครูที่สำรองเงินไปแล้วได้รับผลกระทบเพียง 175 คนเท่านั้น ซึ่งสำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) จะประสานเพื่อเรียกเงินคืนต่อไป
"ต้องยอมรับว่า ตอนเริ่มคัดเลือกหน่วยจัดอบรม เรามองโลกในแง่ดีว่า ทุกคนอยากเข้ามาช่วยพัฒนาการศึกษา จึงยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเปิดกว้าง ทำให้บางคนที่จัดอบรมเองและคิดว่าหลักสูตรของตัวเองดี ก็เสนอตัวเข้ามาโดยใช้ชื่อของมหาวิทยาลัย แต่สุดท้ายก็เกิดปัญหา ซึ่งที่ประชุมได้นำปัญหามาพิจารณา และเห็นชอบให้มีการปรับปรุงแนวทางการดำเนินการจัดอบรมในปีงบประมาณ 2561 โดยจะให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพท.) ทำหน้าที่เป็นซีอีโอ เริ่มต้นกระบวนการด้วยการสำรวจความต้องการของครูในพื้นที่ว่า ต้องการอบรมหลักสูตรใด เมื่อได้ข้อมูลแล้วจะประกาศให้หน่วยจัดอบรมรับทราบ และเสนอหลักสูตรเข้ามาให้ สถาบันคุรุพัฒนารับรอง จากนั้นสถาบันคุรุพัฒนาจะส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองหลักสูตรอบรมของสพฐ. คัดเลือกอีกรอบ ก่อนเสนอให้เลขาธิการ กพฐ.ลงนาม ประกาศรายชื่อหลักสูตรที่ผ่านการคัดเลือกต่อไป”รองเลขาธิการ กพฐ.กล่าว
นายบุญรักษ์ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังได้กำหนดให้ครูทำแผนพัฒนาตนเอง หรือ ไอดีแพลน เข้าระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้เขตพื้นที่ฯ ทราบข้อมูลว่า ครูคนนั้นได้อบรมหลักสูตรใดแล้ว ใช้เงินจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะอยู่ในระบบและสามารถตรวจสอบได้ ส่วนงบประมาณที่ใช้ในการอบรมนั้น ยอมรับว่าระยะแรกมีปัญหาติดขัดในเรื่องการเบิกจ่ายบ้าง เพราะใช้เหลือจ่ายจากโครงการต่าง ๆ ส่งลงไปที่เขตพื้นที่ฯ ทำให้เกิดความล่าช้า แต่ปีงบฯ 2561 สพฐ.ได้เตรียมจัดสรรงบฯส่วนนี้ไว้แล้ว สำหรับการเบิกจ่ายงบฯค่าอบรมนั้น โดยนโยบาย สพฐ. ยังให้ครูเป็นผู้ถือเงินไปจ่ายให้แก่หน่วยอบรมเอง โดยใช้วิธียืมเงินจากเขตพื้นที่ฯ แล้วนำใบเสร็จกลับมาเคลียร์ ซึ่งสพฐ.เชื่อมั่นว่าครูทุกคนมีวินัย และหากมีใครคิดที่จะจ่ายเงินทอนครู ก็จะมีครูที่ไม่เห็นด้วยนำข้อมูลมาบอก สพฐ. ให้ตรวจสอบ แล้วหน่วยจัดนั้นก็จะถูกขึ้นบัญชีดำต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ออนไลน์ วันพุธที่ 16 สิงหาคม 2560 เวลา 17.13 น.