เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2560 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี ที่ 421/2560 เรื่อง ผลประชุมผู้บริหารองค์กรหลัก 8 สิงหาคม 2560 โดยมีรายละเอียด ดังนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการ ร่วมประชุมองค์กรหลัก ครั้งที่ 30/2560 เมื่อวันอังคารที่ 8 สิงหาคม 2560 ณ ห้องประชุมสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ เปิดเผยผลการประชุมที่สำคัญโดยสรุป ดังนี้
● แต่งตั้งโฆษกกระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงศึกษาธิการได้เห็นชอบแต่งตั้งนายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ทำหน้าที่โฆษกกระทรวงศึกษาธิการ (หมายเหตุ: แทนนายกมล รอดคล้าย ซึ่งโอนย้ายไปดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)
● หลักเกณฑ์การคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (ผอ.สพท.) และ รอง ผอ.สพท. สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ซึ่งเป็นหลักเกณฑ์ใหม่ที่คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) ได้ประกาศใช้ ขณะนี้ได้ประกาศรับสมัครคัดเลือกบุคคลเพื่อบรรจุและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผอ.สพท.เสร็จสิ้นแล้ว โดยมีผู้สมัครจำนวนทั้งสิ้น 654 คน มีตำแหน่งว่าง 110 ตำแหน่ง แบ่งเป็นสมัครในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) 562 คน มีตำแหน่งว่าง 93 ตำแหน่ง และผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพม.) 92 คน มีตำแหน่งว่าง 17 ตำแหน่ง โดยจะใช้หลักเกณฑ์ 4P's (Performance, Potential, Personality, Perception) ในการคัดเลือก ซึ่งยากมากที่จะวิ่งเต้น ด้วยเหตุผลดังนี้
- ภาค ก นอกจากผู้สมัครจะต้องยื่นประวัติส่วนตัว (Personality) แล้ว จะต้องยื่นเสนอผลงาน (Performance) ไม่เกิน 2 หน้ากระดาษ พร้อมหลักฐานสนับสนุน เพื่อให้กรรมการพิจารณาประเมินผลงานในแต่ละส่วน จากนั้นจึงเป็นการสอบภาค ก ข้อเขียนความรู้ความเข้าใจ (Perception) ด้านการบริหารงานในหน้าที่ การวิเคราะห์กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน และการนำไปใช้ ในวันที่ 26 สิงหาคมนี้
- ภาค ข จะมีการประเมินศักยภาพ (Potential) 360 องศา ทั้งจากผู้ใต้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชาเก่า และผู้บังคับบัญชาใหม่ รวมทั้งสิ้น 25 คน โดยทุกคนสามารถให้คะแนนได้ไม่เกิน 2 คะแนน และกรรมการทั้ง 25 คน จะรู้ตัวล่วงหน้าก่อนวันเดียวเท่านั้น
จากนั้น จึงจะนำคะแนนภาค ก และ ภาค ข ไปรวมกัน เพื่อคัดเลือกจำนวนผู้สมัครให้เหลือ 2 เท่าของตำแหน่งว่าง คือ 220 คน แล้วจึงจะสัมภาษณ์ โดยปลัดกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการสัมภาษณ์
รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ก.ค.ศ.ได้นำหลักเกณฑ์ใหม่นี้มาซักซ้อมความเข้าใจให้ที่ประชุมรับทราบ ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นเกณฑ์การสอบคัดเลือกแบบใหม่ที่ยากมากจะวิ่งเต้น โดยเฉพาะกรรมการ 25 คน ที่ไม่มีใครรู้ล่วงหน้ามาก่อน การสอบครั้งนี้จะมีความโปร่งใสที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากในแต่ละขั้นตอนมีการพิจารณาอย่างรัดกุม จึงอย่าไปเชื่อข่าวลือใด ๆ ที่บอกว่าจะสามารถวิ่งเต้นเข้าสู่ตำแหน่งนี้ได้
● การถ่ายทอดเทคโนโลยีร่วมกับสาธารณรัฐประชาชนจีน
เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนได้แสดงความกังวลว่ามีหลายหน่วยงานไปติดต่อสถานทูตจำนวนมากเกี่ยวกับการถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีของจีนในด้านต่าง ๆ เช่น ICT, รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ อีกทั้งเป็นห่วงเรื่องความพร้อมและความน่าเชื่อถือ ดังนั้น จึงได้กำหนดหน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการที่จะประสานโดยตรงร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตจีน โดยให้หน่วยงานหรือสถานศึกษาต่าง ๆ ประสานโดยตรงผ่านสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา/สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ต้นสังกัด
● การประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร
รัฐบาลจะจัดให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ในช่วงวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้ ที่จังหวัดนครราชสีมา กระทรวงศึกษาธิการจึงมอบหมายให้รัฐมนตรีทั้ง 3 ท่าน และผู้บริหารทุกองค์กรหลักได้ร่วมกันลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามงานการเชื่อมโยงนโยบายรัฐบาลกับการศึกษา
● การพัฒนาแอพ Echo VE และระบบ e-Learning
ก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 สิงหาคม) รมว.ศึกษาธิการ พร้อมด้วย ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการ และนายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ได้นำแอพพลิเคชั่นการผลิตสื่อการเรียนรู้และฝึกทักษะภาษาอังกฤษการสื่อสารเพื่อก้าวสู่อาชีพ (Echo VE) ไปจัดแสดง ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความสนใจและแสดงความพอใจเป็นอย่างมาก และมีข้อเสนอแนะให้รวมแอพพลิเคชั่น Echo English และ Echo VE ไว้ด้วยกัน อาจจะเป็นชื่อ "Echo Cafe" รวมทั้งให้ สพฐ. พัฒนาระบบจัดเก็บและพัฒนา e-Learning ทุกเรื่องทุกวิชาให้อยู่ไว้ด้วยกันโดยใช้งบเหลือจ่าย เพื่อสะดวกต่อการค้นหาและการเรียนรู้ของนักเรียนนักศึกษาและประชาชน
● แผนยุทธศาสตร์การจัดการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษและพื้นที่ชายแดน
รมว.ศึกษาธิการ ได้ขอบคุณและแสดงความชื่นชมการทำงานของ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ ที่ได้ทำงานแบบฝังตัวในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, พื้นที่เมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน, พื้นที่ชายแดน 27 จังหวัดของประเทศ, 10 เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษของประเทศ, ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 3 จังหวัด ซึ่งทำให้มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์จัดการศึกษา ผ่านการขับเคลื่อนของคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ทั้ง 35 จังหวัด มีความชัดเจนเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนกันยายนนี้จะมีการรับฟังและทบทวนแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว เพื่อปรับแผน (AAR) ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับแผนปฏิบัติราชการประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561 และยุทธศาสตร์ชาติให้มีความสมบูรณ์ที่สุด และจะเชิญ กศจ.ใน 42 จังหวัดที่เหลือร่วมสังเกตการณ์ในการจัดทำแผนยุทธศาสตร์ครั้งนี้ด้วย โดยมีผู้บริหารที่เข้าร่วมเป็นวิทยากรและมอบนโยบาย เช่น รมว.อุตสาหกรรม, ประธานสภาพัฒน์, รมช.พาณิชย์ พร้อมทั้งเรียนเชิญนายกรัฐมนตรี ร่วมรับฟังการนำเสนอแผนทั้ง 35 จังหวัด ซึ่งจะจัดขึ้นที่ จ.ชลบุรี
บัลลังก์ โรหิตเสถียร
สรุป/รายงาน
8/8/2560
ที่มา กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 8 สิงหาคม 2560