รศ.ดร.ณมน จีรังสุวรรณ ผอ.สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา หรือ สมศ. เปิดเผยว่า จากการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็น (ร่าง) กรอบมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. และกระทรวงที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำมาปรับปรุงกรอบการประเมินคุณภาพภายนอกให้เหมาะสม เป็นที่ยอมรับของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย โดยจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมการประชุม พบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่มีความพึงพอใจที่มีการบูรณาการการทำงานระหว่าง สมศ.กับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ส่วนประเด็นที่เป็นข้อกังวลมากที่สุดคือ จรรยาบรรณในการประเมินทั้ง 2 ฝ่าย คือ ฝ่ายผู้ประเมินและผู้รับการประเมินที่ส่งผลให้เกิดทัศนคติเชิงลบต่อการประเมินอย่างต่อเนื่อง
ผอ.สมศ.กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดจากผู้ประเมินนั้น สมศ.มีมาตรการตรวจสอบการทำงานและพฤติกรรมของผู้ประเมินผ่านระบบสารสนเทศเพื่อการประเมินคุณภาพภายนอก หรือ Automated QA (AQA) เป็นระบบการตรวจสอบ ติดตาม ผู้ประเมินเป็นรายบุคคล ซึ่งต้องระบุชื่อผู้ประเมินเรียกว่า QC100 ผลการประเมินจะเป็นความลับ กรณีได้รับแจ้งว่าผู้ประเมินคนใดทำผิดจรรยาบรรณ ปฏิบัติตนไม่เหมาะสม จะลงติดตามเชิงลึก หากพบว่า ผิดจริงจะมีมาตรการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ส่วนจรรยาบรรณของผู้รับการประเมิน ซึ่งทั้งสามรอบการประเมินจะพบว่าสถานศึกษาส่วนใหญ่ยังติดกับวัฒนธรรมการต้อนรับเลี้ยงดูปูเสื่อผู้ประเมิน ตามธรรมเนียมปฏิบัติแบบไทยที่ใครมาถึงเรือนชานต้องให้การต้อนรับ แม้ว่า สมศ.จะประชาสัมพันธ์ให้สถานศึกษาไม่ต้องเตรียมการต้อนรับใดๆกับผู้ประเมิน แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีการจัดเตรียมการต้อนรับผู้ประเมินแบบเต็มที่ ในรอบสี่นี้ สมศ.จึงได้วางหลักสูตร การพัฒนาผู้ประเมินแบบเข้มข้น เพื่อปลูกฝังจรรยาบรรณ ส่วนสถานศึกษาต้องลดความสำคัญของเรื่องพิธีการต้อนรับ เน้นให้ข้อมูลตามสภาพจริง.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยรัฐ วันที่ 4 สิงหาคม 2560