สำนักพัฒนาครูฯ สพฐ.ออกแนวปฏิบัติแก้ปัญหาพัฒนาครู พร้อมเสนอสถาบันคุรุพัฒนาเลิกรับรองหลักสูตรผู้จัดอบรมจอมเบี้ยว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา(สพค.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้่นฐาน(สพฐ.) ได้แจ้งไปยัง ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ผอ.สถานศึกษาและครู เกี่ยวกับช่องทางที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการอบรมพัฒนาครูที่มีการจัดงบประมาณหรือคูปองให้ครูคนละ 10,000 บาทต่อปี ดังนี้ กรณีที่เข้าระบบไม่ได้หรือมีปัญหาให้ติดต่อที่ อีเมล์ hrdtrainingobec@gmail.com หรือ ไลน์ @trainingobec หรือ โทร.06-2622-4747 , 0-2288-5634-5 กรณีที่ครูสำรองเงินจ่ายแล้วและถูกระบบยกเลิก เนื่องจากยืนยันการลงทะเบียนไม่ทันตามกำหนดเวลา หรือ มีปัญหาต่อไปนี้ 1.จ่ายค่าอบรมไปก่อนโดยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย 2.จ่ายค่าตั๋วเครื่องบินหรือจองตั๋วรถทัวร์ ล่วงหน้าแล้ว โดยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย3.จ่ายค่าที่พักล่วงหน้า โดยใช้เงินส่วนตัวสำรองจ่าย 4.ยืมเงินจากสถานศึกษา หรือ เขตพื้นที่ จ่ายค่าลงทะเบียน,ค่าที่พัก,ค่าเดินทาง ล่วงหน้าแล้ว ให้กรอกแบบกรอกข้อมูลการอบรมโดยใช้ chrome ที่ https://goo.gl/forms/lzGNXkhp2W4F3XJn2
ส่วนกรณีบางหลักสูตรได้เลื่อนหรือยกเลิกการอบรม ถ้าผู้จัดขอเลื่อนโดยแจ้งมายัง สพค. เจ้าของหลักสูตรจะต้องแจ้งกลับไปยังครูที่ลงทะเบียนไว้ก่อนหน้าทุกคน ถ้าไม่แจ้งให้ครูแจ้งมาทาง ผอ.เขตพื้นที่ฯหาก ผอ.เขตฯสามารถแก้ปัญหาได้ก็ให้ดำเนินการได้เลย แต่ถ้าผู้จัดเลื่อนหรือยกเลิกโดยไม่แจ้งครูก็สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ ซึ่ง สพค.จะนำข้อมูลทั้งหมดที่ครูได้รับความเสียหายส่งไปที่สถาบันคุรุพัฒนาให้ถอนหลักสูตรนั้นออกจากบัญชีที่ได้รับรอง
ด้าน ดร.ศักดิ์สิน โรจน์สราญรมย์ ประธานกรรมการบริหารสถาบันพัฒนาคุณคุณภาพวิชาการ หรือ พว. กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่าเกี่ยวกับปัญหาต่าง ๆ ในการจัดอบรมครู ทั้งกรณีค่าอบรมที่ค่อนข้างสูง หรือ เรื่องการทอนเงินว่า ตนไม่ทราบ แต่สำหรับ พว.ขณะนี้กำลังจัดอบรมหลักสูตร “การพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning สู่ประเทศไทย 4.0 ด้วยกระบวนการ GPAS” เพื่อให้ครูสามารถฝึกกระบวนการคิดและลงมือปฏิบัติอย่างเป็นระบบให้แก่เด็กได้ โดยจัดใน 4 ภูมิภาค 8 จุด จุดละ 400 คน แต่ละจุดจะใช้วิทยากร 9 คน คิดค่าอบรมหัวละ 3,900 บาท โดยการอบรมแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะแรก ณ จุดอบรมใช้เวลา 2 วัน ระยะที่ 2 เป็นการปฏิบัติในโรงเรียน เป็นเวลา 50 ชั่วโมงใช้เวลาประมาณ 3 เดือน โดยมีวิทยากรไปร่วมสังเกตการณ์ 6 ชั่วโมง แต่ระหว่างนั้นครูสามารถสอบซักถามข้อสงสัยและปัญหาในการปฏิบัติมายังศูนย์อบรมได้ตลอดเวลา และระยะที่3 เป็นการสรุปบทเรียนร่วมกับวิทยากร ผ่านระบบออนไลน์ 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ได้จัดอบรมจุดแรกไปแล้วที่จังหวัดขอนแก่น
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 31 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.06 น.