ในปีนี้มีนักศึกษาจบใหม่เกือบ 500,000 คน แบ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีกว่า 337,000 คน และระดับอาชีวศึกษา 131,000 คน ทั้งนั้น เป็นที่น่าสนใจแล้วว่าคนกลุ่มนี้เลือกเส้นทางอาชีพของตัวเองอย่างไร ? หรือเข้าไปร่วมขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยในอุตสาหกรรมใดบ้าง ?
จ๊อบไทยดอทคอม (JobThai.com) เปิดเผยข้อมูลการหางานของนักศึกษาจบใหม่ ปีการศึกษา 2559 ทั้งระดับปริญญาตรีและอาชีวศึกษา โดยเก็บรวบรวมข้อมูลของนักศึกษาสองกลุ่ม ซึ่งใช้งานผ่านเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอมประมาณ 138,000 คน หรือคิดเป็น 30% ของจำนวนนักศึกษาทั้งหมดที่จบในปีนี้ โดยเป็นระดับปริญญาตรี 117,000 คน และระดับอาชีวศึกษา 18,000 คน
ขอบคุณกราฟิกจาก ประชาชาติธุรกิจ
แห่สมัครธุรการ-จัดซื้อ-ผลิต
“แสงเดือน ตั้งธรรมสถิตย์” ผู้ร่วมก่อตั้งและหัวหน้าผู้บริหารด้านปฏิบัติการเว็บไซต์จ๊อบไทยดอทคอม ให้ข้อมูลถึงสาขาอาชีพที่นักศึกษาจบใหม่สมัครงานมากที่สุด ว่ามีความใกล้เคียงกันของกลุ่มปริญญาตรีและอาชีวศึกษา คือมีความสนใจเหมือนกันในงานธุรการ/จัดซื้อ และงานผลิต/ควบคุมคุณภาพ เห็นได้จาก 5 อันดับแรกของอาชีพที่นักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรีสมัครมากที่สุดคือ ธุรการ/จัดซื้อ 15.3%, ผลิต/ควบคุมคุณภาพ และวิศวกรรม 9.2%, บัญชี/การเงิน 8.2% และงานทรัพยากรบุคคล 7.3%
ขณะที่ระดับอาชีวศึกษามีการสมัครงานมากที่สุดในสาขางานช่างเทคนิค 23.3%, ธุรการ/จัดซื้อ และงานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 15.8%, บัญชี/การเงิน 10.9% และโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 7.1%
“หากเทียบกับปีที่แล้ว สาขาอาชีพไม่เปลี่ยนแปลงเท่าไร แต่เป็นการสลับตำแหน่งกัน อย่างวิศวกรรมจากปีที่แล้วมีคนสมัครมากที่สุด ปีนี้ตกมาอยู่อันดับ 2 เป็นเพราะคนเรียนจบด้านวิศวกรรมศาสตร์กระจายตัวไปสมัครงานเกี่ยวกับการผลิต และควบคุมคุณภาพมากขึ้น ที่น่าสนใจคือสาขาโลจิสติกส์และซัพพลายเชนที่เข้ามาติดอันดับเป็นปีแรก โดยอยู่ในอันดับ 6 ของระดับปริญญาตรี และอันดับ 5 ของอาชีวะ ซึ่งการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซเป็นแรงหนุนที่สำคัญ”
เงินเดือนสาขาวิทย์พุ่งแรง
จากการสำรวจเงินเดือนของนักศึกษาจบใหม่ พบว่าสายอาชีวศึกษาได้รับเงินเดือนเฉลี่ยเริ่มต้นที่ 11,000-15,000 บาท ระดับปริญญาตรีได้รับเงินเดือนเฉลี่ยเริ่มต้นที่ 11,000-25,000 บาท โดยงานวิทยาศาสตร์/วิจัยพัฒนา คว้าแชมป์ค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 16,000-25,000 บาท รองลงมาคือวิศวกรรม 15,000-25,000 บาท ส่วนงานผลิต/ควบคุมคุณภาพ, บริการลูกค้าและการตลาด มีเงินเดือนเริ่มต้น
เท่ากันอยู่ที่ 15,000-20,000 บาท จะเห็นได้ว่าอาชีพที่ได้เงินเดือนสูงเป็นสายงานที่เป็นทักษะเฉพาะทาง
และเกี่ยวข้องกับ STEM (Science, Technology, Engineering, Mathematics) อีกทั้งยังเป็นอาชีพที่ตรงกับความต้องการด้านแรงงานของประเทศที่กำลังก้าวสู่ยุค 4.0
อย่างไรก็ตาม หากมีทักษะด้านภาษาเพิ่มเติมจะสามารถอัพเงินเดือนให้สูงขึ้นได้ โดยคนที่มีทักษะด้านภาษาจะมีเงินเดือนเริ่มต้นที่ 30,000 บาท ส่วนนักศึกษาอาชีวะที่มีประสบการณ์การทำงานระหว่างเรียนสามารถเรียกเงินเดือนเพิ่มได้ด้วยเช่นกัน
ตลาดงานขายยังขาดคน
สำหรับสาขาอาชีพที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่มากที่สุด “แสงเดือน” กล่าวว่า งานขายเป็นสาขาที่นายจ้างยังต้องการแรงงานอีกมาก เพราะทุกบริษัทมีตำแหน่งงานนี้ เช่นเดียวกับงานบริการลูกค้าที่บริษัทขาดแคลนคน นอกจากนั้นจากการเติบโตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม กลับทำให้อาชีพนี้เป็นสาขาที่มาแรงและติดอยู่อันดับ 3 ของทั้งสองกลุ่ม รวมถึงงานวิศวกรรมและช่างเทคนิคก็เป็นที่ต้องการของนายจ้างมากขึ้นจากการที่ภาครัฐมีการกระตุ้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมและการเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษ
โดยสาขาที่เปิดรับนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรีมากที่สุด ได้แก่ งานขาย 25.7%, บริการลูกค้า 9.9%, อาหาร/เครื่องดื่ม 8%, วิศวกรรม 7.2% และงานช่างเทคนิค 6.5% ซึ่งข้อมูลใกล้เคียงกับระดับอาชีวศึกษาที่เปิดรับด้านงานขายมากที่สุดอยู่ที่ 29.7% รองลงมาเป็นงานช่างเทคนิค 16.8%, อาหาร/เครื่องดื่ม 12.9%, บริการลูกค้า 7.5% และงานผลิต/ควบคุมคุณภาพ 6.6%
เปิดโผอัตราการแข่งขันสูง-ต่ำ
“แสงเดือน” ให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงอัตราการแข่งขันของแต่ละสาขาอาชีพ ซึ่งการแข่งขันของสายอาชีวศึกษาไม่ดุเดือดเท่าของกลุ่มปริญญาตรี โดยพบว่าสาขาอาชีพที่มีอัตราการแข่งขันสูงสุดในกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรี ได้แก่ งานทรัพยากรบุคคล อยู่ที่ 1:44 อันดับสองคืองานสื่อสารมวลชน 1:25 ถัดมาเป็นงานวิทยาศาสตร์/วิจัยพัฒนา 1:24 งานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 1:15 และงานอาจารย์/วิชาการ 1:13
ขณะที่กลุ่มอาชีวะมีการแข่งขันสูงสุดในงานบัญชี/การเงิน 1:11 งานธุรการ/จัดซื้อ และงานเลขานุการ 1:10 งานคอมพิวเตอร์/ไอที 1:7 งานโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 1:6 และสุดท้ายคือ งานการตลาดอยู่ที่ 1:5
อย่างไรก็ตาม จากการเก็บข้อมูลยังพบอีกว่าสาขาอาชีพที่มีการแข่งขันต่ำที่สุดของระดับปริญญาตรี โดยมีอัตราการแข่งขันไม่เกิน 1:5 ได้แก่ อาหาร/เครื่องดื่ม, งานขาย, งานช่างเทคนิค, สุขภาพ/โภชนาการ และโยธา/สถาปัตย์ ส่วนทางกลุ่มอาชีวะมีอัตราการแข่งขัน 1:3 ซึ่งอยู่ในสาขาสุขภาพ/ความงาม, อาหาร/เครื่องดื่ม, งานขาย, ล่าม/นักแปลภาษา และออกแบบเว็บไซต์ เพราะตลาดมีความต้องการคนด้านนี้มาก แต่แรงงานในตลาดกลับไม่เพียงพอ
“เรายังสำรวจความคิดเห็นของฝ่ายเอชอาร์จำนวน 480 คน จากองค์กรต่าง ๆ พบว่าปัญหาใหญ่ที่เจอจากการทำงานกับคนรุ่นใหม่คือคนรุ่นใหม่ไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่โลกการทำงานได้ มีความมั่นใจในตัวเองเกินไป ไม่อดทนต่อแรงกดดันในการทำงานและคำวิจารณ์ต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการเปลี่ยนงานบ่อย และไม่สามารถอยู่ในระเบียบวินัยขององค์กรได้”
“ดังนั้นนักศึกษาจบใหม่ควรหาทิศทางให้เจอว่าจุดมุ่งหมายของตัวเองนั้นอยากทำอะไร เพื่อจะได้ทำงานอย่างมีความสุข เพราะจะส่งผลต่องานที่จะสำเร็จและมีประสิทธิภาพตามมา”
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 26 กรกฎาคม 2560