"หมอธี" เผยจะผลิตครู 4 หรือ 5 ปี อยู่ที่สถาบันการศึกษา คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ตัดสินใจ ขีดเส้นต้องให้คำตอบภายใน 2 เดือนหลังจากนี้ ย้ำไม่ใช่หน้าที่ของคุรุสภา ขณะเดียวกันบอร์ดคุรุสภาเห็นชอบร่างกรอบมาตรฐานวิชาชีพใหม่ เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ พร้อมอนุมัติงบเหลือจ่ายให้ สพฐ.ใช้อบรมครูแล้ว 1.5 พันล้าน ชี้กระแสข่าวเงินทอนถือเป็นข้อมูลที่ดี หากเกิดขึ้นต้องขึ้นบัญชีดำและแจ้งความดำเนินคดี
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภา ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการอนุมัติร่างกรอบมาตรฐานวิชาชีพทางการศึกษาใหม่ตามที่คุรุสภาเสนอ โดยขั้นตอนต่อจากนี้ก็จะเปิดให้มีการประชาพิจารณ์ก่อนที่จะมีการประกาศใช้ ซึ่งเนื้อหาในรายละเอียดเหมือนว่าเป็นการเสริมมาตรฐานวิชาชีพฉบับเก่า โดยมีการเพิ่มเรื่องสมรรถนะว่าต่อไปครูจะมีความสามารถอะไรบ้าง และทางสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) จะต้องรับนำร่างมาตรฐานดังกล่าวไปหารือร่วมกับสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ต่อไปด้วย ทั้งนี้ ในส่วนของหลักสูตรครูควรจะเป็นหลักสูตร 4 ปีหรือ 5 ปีนั้น ไม่ใช่หน้าที่ของคุรุสภาที่จะต้องไปกำหนด เพราะคุรุสภามีหน้าที่กำหนดปลายทางว่าเป้าหมายคืออะไร แต่ทางคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะต้องไปตกลงกัน ทั้งนี้ หากตกลงกันไม่ได้ก็อาจมีทั้งหลักสูตร 4 ปีและ 5 ปี ซึ่งวิชาชีพอื่นก็มีการดำเนินการในลักษณะนี้คือ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน เพื่อจะได้จัดทำรายละเอียดต่างๆ และแจ้งให้เด็กทราบ ประกอบการตัดสินใจในการเลือกเรียน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2561
นพ.ธีระเกียรติกล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีนโยบายให้สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สพค.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดให้ครูเลือกเข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา โดยมีการจัดงบประมาณในการอบรม หรือคูปองให้ครูคนละ 10,000 บาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีครูสมัครลงทะเบียนเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมาก และเกิดปัญหาการลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมรองรับความต้องการของครู และปัญหาอื่นๆ ตลอดจนมีกระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องบริษัทจัดอบรม มีการทอนเงินให้แก่ใครก็ไม่ทราบนั้น สพค.ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ตนทราบเป็นระยะ โดยในส่วนของระบบลงทะเบียนรองรับนั้น ทาง สพค.ได้มีการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ที่รองรับการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากการวางระบบลงทะเบียนทางออนไลน์ ที่ผ่านมาไม่คิดว่าครูจะให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลมีการลงทะเบียนเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ เกือบ 6 แสนครั้ง โดยครูบางคนลงทะเบียนเข้ารับการอบรมเกือบ 40 หลักสูตร เหมือนลงเผื่อเลือกไว้ เพราะการให้คูปองเข้ารับการอบรมจะให้ตามปีงบประมาณ โดยให้ค่าอบรมทุกปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 นี้ เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน หากใครไม่ลงทะเบียนก็จะถูกตัดและไปเริ่มปีงบประมาณต่อไป เข้าใจว่าครูต้องการใช้สิทธิ์ที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้ สำหรับปีงบประมาณ 2560 ศธ.ได้จัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายให้ สพฐ.ใช้ในการอบรมแล้วประมาณ 1,500 ล้านบาท รวมถึงยังอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์เพื่อรองรับความต้องการของครูอย่างเต็มที่
"สำหรับเรื่องเงินทอนนั้น หากเป็นความจริงก็หลอกทั้งเรา คือสถาบันคุรุพัฒนา และหลอกทั้งครู ซึ่งข่าวที่ออกมาเป็นข้อมูลที่ดี เพราะแสดงว่าครูไม่เห็นด้วยกับเรื่องเงินทอน ถ้าเป็นเมื่อก่อนจะไม่รู้เลยว่ามีเงินทอน แต่ตอนนี้ข้อมูลทุกอย่างจะเปิดเผยต่อสาธารณะ หากทางบริษัททอนเงินให้ครูที่ไปเข้ารับการอบรม เพื่อจูงใจให้ครูเลือกไปอบรมหลักสูตรของบริษัทนั้นๆ ครูที่ได้รับการติดต่อก็แจ้งข้อมูลทันที ซึ่งนอกจากทางบริษัทจะโดนสถาบันคุรุพัฒนาขึ้นบัญชีดำและถอนชื่อออกจากการจัดอบรม อีกทั้งยังจะถูกแจ้งความดำเนินคดีในฐานะให้ข้อมูลเท็จ" รมว.ศธ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 28 กรกฎาคม 2560