รมว.ศึกษาธิการ เชื่อครูไม่เห็นด้วยกับระบบเงินทอนค่าอบรม ลั่นหากพบบริษัท ทำไม่ถูกต้อง ถอนชื่อ-แจ้งดำเนินคดีฐานให้ข้อมูลเท็จ พร้อมขีดเส้น 2 เดือน คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ตัดสินหลักสูตรครูควรเป็นกี่ปี
วันนี้(27ก.ค.) นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการคุรุสภาเมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมเห็นชอบร่างกรอบมาตรฐานวิชาชีพครูใหม่ ตามที่คุรุสภาเสนอ ซึ่ง จะอิงสมรรถนะ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงในส่วนของสภาวิชาชีพครู และหลังจากนี้คุรุสภาจะนำร่างกรอบมาตรฐานวิชาชีพฯ ดังกล่าว ไปประชาพิจารณ์ ก่อนประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ส่วนหลักสูตรครูควรจะเป็นหลักสูตร 4 ปี หรือ 5 ปีนั้น ทางคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์จะต้องไปตกลงกัน ไม่ใช่หน้าที่ของคุรุสภา เพราะคุรุสภามีหน้าที่กำหนดปลายทางว่า เป้าหมายคืออะไร ทั้งนี้หากตกลงกันไม่ได้ก็อาจมีทั้งหลักสูตร4 ปีและ 5 ปี ซึ่งวิชาชีพอื่นก็มีเช่นกัน อาทิ วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้จะต้องให้ได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน เพื่อจะได้จัดทำรายละเอียดต่าง ๆ และแจ้งให้เด็กทราบ ประกอบการตัดสินใจในการเลือกเรียน ซึ่งจะเริ่มดำเนินการรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2561
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวต่อว่า ส่วนกรณีที่ กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.)มีนโยบายให้สำนักพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา (สพค.) ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน( สพฐ.) เปิดให้ครูเลือกเข้ารับการอบรมในหลักสูตรที่ได้รับการรับรองจากสถาบันคุรุพัฒนา โดยมีการจัดงบประมาณในการอบรม หรือ คูปองให้ครูคนละ 10,000 บาทต่อปี ซึ่งที่ผ่านมามีครูสมัครลงทะเบียนเข้ารับการอบรมเป็นจำนวนมากและเกิดปัญหา การลงทะเบียนไม่สมบูรณ์ ไม่พร้อมรองรับความต้องการของครู และปัญหาอื่น ๆ ตลอดจนมีกระแสข่าวเกี่ยวกับเรื่องบริษัทจัดอบรม มีการทอนเงินให้แก่ใครก็ไม่ทราบนั้น สพค. ได้รายงานเรื่องดังกล่าวให้ตนทราบเป็นระยะ โดยในส่วนของระบบลงทะเบียนรองรับนั้น ทางสพค.ได้มีการแก้ไขปัญหาเว็บไซต์ที่รองรับการลงทะเบียนเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากการวางระบบลงทะเบียนทางออนไลน์ ที่ผ่านมาไม่คิดว่าครูจะให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยจากข้อมูลมีการลงทะเบียนเข้ารับการอบรมในหลักสูตรต่างๆ เกือบ 6 แสนครั้ง โดยครูบางคนลงทะเบียนเข้ารับการอบรมเกือบ 40 หลักสูตร เหมือนลงเผื่อเลือกไว้ เพราะการให้คูปองเข้ารับการอบรม จะให้ตามปีงบประมาณ โดยให้ค่าอบรมทุกปี ซึ่งในปีงบประมาณ 2560 นี้ เหลือเวลาอีกแค่ 2 เดือน หากใครไม่ลงทะเบียนก็จะถูกตัด และไปเริ่มปีงบประมาณต่อไป เข้าใจว่า ครูต้องการใช้สิทธิ์ที่ควรจะได้รับ ทั้งนี้สำหรับปีงบประมาณ 2560 ศธ.ได้จัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายให้สพฐ.ใช้ในการอบรมแล้ว ประมาณ 1,500 ล้านบาท รวมถึงยังอนุมัติงบประมาณในการปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์เพื่อรองรับความต้องการของครูอย่างเต็มที่
“สำหรับเรื่องเงินทอนนั้น หากเป็นความจริง ก็หลอกทั้งเรา คือสถาบันคุรุพัฒนาและหลอกทั้งครู ซึ่งข่าวที่ออกมาเป็นข้อมูลที่ดี เพราะแสดงว่า ครูไม่เห็นด้วยกับเรื่องเงินทอน ถ้าเป็นเมื่อก่อน จะไม่รู้เลยว่ามีเงินทอนแต่ตอนนี้ ข้อมูลทุกอย่างจะเปิดเผยต่อสาธารณะ หากทางบริษัททอนเงินให้ครูที่ไปเข้ารับการอบรม เพื่อจูงใจให้ครูเลือกไปอบรมหลักสูตรของบริษัทนั้น ๆ ครูที่ได้รับการติดต่อก็แจ้งข้อมูลทันที ซึ่งนอกจากทางบริษัทจะโดนสถาบันคุรุพัฒนาขึ้นแบล็คลิส หรือขึ้นบัญชีดำและถอนชื่อออกจากการจัดอบรม อีกทั้งยังจะถูกแจ้งความดำเนินคดี ในฐานะให้ข้อมูลเท็จ เช่น ในโครงการเขียนว่า อบรมในราคาหนึ่ง แต่ไปติดสินบนครูให้มาลงทะเบียนอบรมอีกราคาหนึ่ง หากมีข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้องก็จะต้องถูกดำเนินการทางวินัยด้วย ”นพ.ธีระเกียรติ กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพฤหัสบดีที่ 27 กรกฎาคม 2560 เวลา 14.12 น.