การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตเป็น‘ผู้นำสังคม’
กลางเดือนสิงหาคม เข้าสู่โหมดการเปิดเทอม ปีการศึกษา 2561 ของ “สถาบันอุดมศึกษา” หรือ “มหาวิทยาลัย” ทั่วประเทศจากพี่ใหญ่ ม.6 ก็จะกลายมาเป็นน้องใหม่ปี 1 เริ่มมองเห็นอนาคตของตัวเองว่าจะเป็น ครู แพทย์ วิศวะ สถาปัตย์ บัญชี รัฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ พลศึกษา ฯลฯ ที่มหาวิทยาลัยใดบ้าง ผู้ที่โชคดีได้ที่เรียนก็คงสบายใจ ผู้ที่ยังไม่ได้หรือพลาดโอกาสอย่าเสียใจ จะเรียนมหาวิทยาลัยรัฐ หรือเอกชนก็ได้ มีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการ หรือถ้าพลาดปีนี้จริงก็อย่าท้อแท้ ทอดอาลัย ขอให้มุมานะพยายามศึกษาอบรมทบทวนวิชาการใหม่ให้แน่นขึ้น จนมั่นใจแล้วปีหน้าฟ้าใหม่ค่อยว่ากัน หรือจะลองมองสายวิชาชีพก็น่าสนใจไม่น้อย
ว่าด้วยการศึกษาของชาติ นับว่ากระทรวงศึกษาธิการมีการพัฒนาการเรียนการสอนหลักสูตร มีคุณภาพดีมากขึ้นในทุกระดับชั้น ในส่วน “สกอ.” หรือสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ซึ่งมีส่วนรับผิดชอบในระดับอุดมศึกษา สำคัญที่สุด หากเรามาพิจารณาวิชาการที่เรียนในอุดมศึกษา แบ่งเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ 1.วิชาศึกษาทั่วไป 2.วิชาเฉพาะและวิชาชีพต่างๆ มีความสำคัญต่ออนาคตของชาติเพราะเขาจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป
หากมาพิจารณาเรื่อง “วิชาศึกษาทั่วไป” ก่อนนี้เรียกว่า วิชาพื้นฐาน คล้ายกับว่าก่อนจะไปศึกษาวิชาเฉพาะหรือวิชาชีพทั้งหลาย เขาก็ให้ศึกษาวิชาประเภทพื้นฐานก่อนเป็นการเตรียมตัวบุคคลให้พร้อมที่จะไปศึกษาวิชาเฉพาะที่เจาะลึกวิชาชีพทั้งหลายโดยมากจะเป็นวิชาประเภทเฉพาะอย่างเท่านั้น และอีกแง่หนึ่งถ้าเป็นการเตรียม พื้นฐานตัวบุคคลเพื่อให้เป็นคนที่ดี
ถ้าจะพูดสั้นๆ เราอาจจะเปรียบเทียบระหว่างวิชา 2 ฝ่าย คือ วิชาศึกษาทั่วไปนี้ฝ่ายหนึ่ง และวิชาเฉพาะวิชาชีพอีกฝ่ายหนึ่ง วิชาศึกษาทั่วไปมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การ “สร้างคน” คำว่าสร้างคน ถ้าพูดถึงการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัย ก็คือ “การสร้างบัณฑิต” นั่นเอง หมายความว่าวิชาศึกษาทั่วไปมีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสร้างบัณฑิต ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพ เป็นเหมือนการสร้างเครื่องมือให้บัณฑิตทั้งนี้ เพราะว่าคนที่จะไปทำงานทำการได้ ไปดำเนินชีวิตให้ได้ผลดี ก็จะต้องมีเครื่องมือ วิชาชีพวิชาเฉพาะต่างๆ เป็นเหมือนเครื่องมือ แต่คนที่จะไปใช้เครื่องมือนั้น เราต้องการให้เขาเป็น “บัณฑิต” เพื่อว่าเขาจะได้ใช้เครื่องมือนั้นในทางที่ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ เช่น เป็นครู เป็นหมอ เป็นทนาย เป็นวิศวะ เป็นเกษตรกร ฯลฯ เป็นต้น เพื่อความดีงามสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม
ถ้าเราไม่สามารถสร้างคนให้เป็นบัณฑิต แม้ว่าเราจะสร้างเครื่องมือ และพัฒนาเครื่องมืออย่างดีเหลือเกิน มีประสิทธิภาพมาก แต่คนใช้เครื่องมือไม่เป็น บัณฑิตก็อาจจะนำเครื่องมือนั้นไปใช้ในทางที่เป็นโทษ อย่างโบราณกล่าวว่า “ยื่นดาบให้แก่โจร” เพราะฉะนั้น การสร้างคนให้เป็นบัณฑิตจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก และเราก็นำคำว่า “บัณฑิต” มาใช้ผู้สำเร็จการศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยด้วย จบปริญญาตรีเรียกว่าบัณฑิต จบปริญญาโทเรียกว่ามหาบัณฑิต จบปริญญาเอกเรียกว่าดุษฎีบัณฑิต
ความเป็น “บัณฑิต” อยู่ที่ไหน ก็อยู่ในคุณสมบัติในตัวคน และการสร้างคุณสมบัติในตัวคนนี้แหละเป็นเป้าหมายของ… “วิชาศึกษาทั่วไป” เราเอาคำว่าบัณฑิตมาใช้ แสดงว่าเราให้ความสำคัญแก่คุณสมบัติในตัวคนที่จะให้เรา… “เปลี่ยนแปลง” จากคนเปล่าๆ ที่ไม่มีคุณสมบัติ หรือจากคนที่ไม่พร้อมจะอยู่จะทำอะไร มาเป็นคนที่มีคุณสมบัติเป็น “บัณฑิต” เป้าหมายแท้จริงของวิชาศึกษาทั่วไป (general education) คือ “การสร้างบัณฑิต” หรือสร้างคนให้เป็นบัณฑิตหรือที่เราเรียกว่า ศิลปศาสตร์ (Liberal arts) ก็มีหมวดวิชา 3 สาขา คือ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ (the humantics, social science and natural science) ก็ดีถือได้ว่ามีความหมายอันเดียวกัน
ส่วนวิชาชีพทั้งหลาย เช่น ครู หมอ บัญชี นิติศาสตร์ ทหาร ตำรวจ วิศวะ เป็นต้น เป็นการสร้างเครื่องมือให้แก่บัณฑิต และบอกวิธีที่จะทำให้เขาสามารถใช้เครื่องมือได้ คนที่ใช้เครื่องมือต้องเป็นคนดี จะได้นำเครื่องมือไปใช้เพื่อสร้างสรรค์ ทำให้เกิดประโยชน์สูงแก่ชีวิตและสังคม ไม่ใช่นำเครื่องมือไปเพียงเพื่อแสวงหาประโยชน์ส่วนตนด้วยความเห็นแก่ตัว เอาเปรียบผู้อื่นแล้วทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่น หรือก่อความเสียหาย ทำลายผู้อื่น สังคมตลอดจนมนุษยชาติ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญที่เห็นๆ อยู่ในปัจจุบัน
ช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบันเรามักพูดถึงคำว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” ซึ่งมองได้เท่ากับสมัยปัจจุบัน ก็คือ การพัฒนาสังคม หรือพัฒนาประเทศชาติในยุคปัจจุบันนี้ เป็นผลมาจากการพัฒนาในยุคอดีตที่ผ่านมา ซึ่งบัดนี้ยอมรับกันแล้วว่าเป็นการพัฒนาไม่ถูกต้อง เพราะไปเน้นแต่ความมุ่งหมายแต่ทางเศรษฐกิจ มุ่งความเจริญด้านวัตถุมากเกินไป จนเกิดผลร้ายแก่จิตใจและสังคม โดยเฉพาะสิ่งแวดล้อม ปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ความเจริญและพัฒนาเศรษฐกิจ ก็คือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยเราก็มีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เมื่อ 30-40 ปีที่ผ่านมาเช่นกัน แล้วเกิดอะไรขึ้น?
เมื่อเห็นว่าการพัฒนาแบบนั้นผิด ก็เลยหันมาคิดกันใหม่ว่าจะต้องเปลี่ยนแนวคิดในการพัฒนา กระแสโลกได้สร้างให้เกิดแนวคิดใหม่เรียกว่า “การพัฒนาแบบยั่งยืน” หรือ Sustainable Development ปรากฏขึ้นใน พ.ศ.2530 และใกล้กันนั้น ก็มีการประกาศแนวคิดใหม่ริเริ่มตามมา คือ “การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” หรือ Cultural Development ดังที่ได้กำหนดให้ ปี 2531-2540 เป็น “ทศวรรษโลกแห่งการพัฒนาเชิงวัฒนธรรม”
การพัฒนาของแนวคิดนี้เป็นแนวคิดใหม่ในการพัฒนา ซึ่งเปลี่ยนจุดเน้นของการพัฒนาจากเศรษฐกิจไปอยู่ที่จุดอื่น คือ “การพัฒนาแบบยั่งยืน” ก็หันไปเน้นเรื่องการดำรงอยู่ของสิ่งแวดล้อม ให้คู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจ หมายความว่า ให้เป็นการพัฒนาสิ่งแวดล้อมก็อยู่ที่เศรษฐกิจก็ดำเนินการไปได้ หรือเศรษฐกิจก็ไปดีธรรมชาติแวดล้อมก็อยู่ได้ ส่วน “การพัฒนาเชิงวัฒนธรรม” ก็เน้นที่ตัวคน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนกระแสความคิดในการพัฒนา
ประเทศไทยเรามีแผนพัฒนาเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2501-2504 ร่วมเวลา 60 ปี แผนพัฒนาฉบับแรกเป็นแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเดียว ต่อมาก็เติม “และสังคม” เข้าไป พอผ่านมาได้ 4 แผน ก็หันมาเน้นที่จิตใจมากขึ้น แล้วก็เอาเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มเข้ามา ตอนหลังก็เน้นเรื่อง “คน” มากขึ้นๆ จนกระทั่งมาวางแผน 8 เน้นเรื่องคนเป็นพิเศษ จนถึงแผนปัจจุบัน คือ แผนพัฒนาที่ 12
ปัจจุบันนี้พูดกันเรื่องการ “พัฒนาคน” แต่พูดถึงการพัฒนาคนในลักษณะที่พูดกันบ่อยๆ ว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” เรื่องนี้จะต้องมีความชัดเจนว่าเราจะพัฒนาคนในฐานะอะไร คือ ในฐานะเป็น “คน” หรือเป็น “มนุษย์” หรือในฐานะเป็น “ทรัพยากรมนุษย์” สองอย่างนี้คงไม่เหมือนกัน
คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2504 “ยุคผู้ใหญ่ลีตีกลองประชุม” เป็นศัพท์ใหม่ที่เกิดขึ้นในยุคกระแสพัฒนาเศรษฐกิจกำลังแรงตรงกับยุค “เงินผัน”
ของสมัยนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ จนกระทั่งเรามองคนเป็น “ทรัพยากร” หรือทรัพย์สิน เป็นทุน เป็นเครื่องมือ หรือเป็นปัจจัยที่นำไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ ตลอดจนสังคมอีกทีหนึ่ง สาระสำคัญคือ มองคนเป็นทุน หรือเป็นสิ่งที่จัดสรรเอาไปใช้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” นี้ก็ใช้กันติดต่อมาหลายปีจนกระทั่งปัจจุบันนี้ เราเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ เราบอกว่าการพัฒนาที่เน้นเศรษฐกิจนั้นไม่ถูกต้อง คือ บูชาเงินเป็นพระเจ้า แต่ศัพท์คือ คำว่า “ทรัพยากรมนุษย์” ก็ยังติดอยู่ จนกระทั่งเวลานี้เราชักสับสน ทั้งๆ ที่หันมาพัฒนาเน้นที่ตัวคน แต่ศัพท์ที่ใช้ก็อยู่ในสายความคิดนี้เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจ เราชอบใช้ว่า “พัฒนาทรัพยากรมนุษย์” แสดงว่าเรายังติดในแนวคิดมุ่งเอาคน ใช้เป็นทุนในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือสักว่าพูดโดยไม่คิดหรือไม่ก็ใช้โก้ๆ ไปอย่างนั้นเอง โดยไม่มีความชัดเจนอะไรเลย
ในเรื่องนี้ต้องชัดเจน จะต้องมีการแยกว่าจะพัฒนาคนในฐานะที่เป็นมนุษย์ หรือเป็นตัวคน หรือจะพัฒนาคนที่เป็นทรัพยากร สองคำนี้เป็นคนละอย่าง แต่ที่ว่านี้ก็ไม่ใช่ความหมายว่าจะเลิกพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ในแง่หนึ่งนั้นก็เป็นทรัพยากรทางสังคมและเศรษฐกิจ เพราะคนมีคุณภาพดีก็เอาไปใช้พัฒนาเศรษฐกิจและสังคมได้ดี แต่เราคงไม่หยุดแค่นั้น คือ ในพื้นฐานเราต้องพัฒนาในฐานะที่เป็นคนเพื่อ ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์
ความเป็นคนที่สมบูรณ์ หรือมนุษย์ที่สมบูรณ์นั้น อย่างหนึ่งซึ่งจำเป็นต้องเป็นเครื่องมือของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หมายความว่า คนที่สามารถมีความสมบูรณ์ในตัวของเขาเอง การพัฒนาคนหรือการทำให้เขามีชีวิตที่ดี งดงาม ประณีต มีอิสรภาพ มีความสุข มีความเป็นคนเต็มคนในตัว ในการศึกษาเราจะมองเห็นได้ว่า
1.วิชาศึกษาทั่วไป เป็นวิชาสำหรับพัฒนามนุษย์ หรือพัฒนาคนในฐานะเป็นตัวคน จนกระทั่งให้คนนั้นเป็น “บัณฑิต”
2.วิชาประเภทวิชาเฉพาะวิชาชีพ เน้นการพัฒนาคนในฐานะที่เป็นทรัพยากรมนุษย์มีหน้าที่สร้างเครื่องมือและความสามารถจะใช้เครื่องมือนั้นให้แก่คน (ที่จะเป็นบัณฑิต) โดยพัฒนาคนนั้นในฐานะเป็นทรัพยากรของสังคม เพื่อให้เขาเป็นองค์ประกอบหรือเป็นปัจจัยที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ ในการร่วมสร้าง (หรือจะถูกนำไปใช้สร้าง) ความเจริญทางเศรษฐกิจ และความเจริญด้านอื่นๆ ของสังคม
คำว่า “เพิ่มผลผลิต” ในที่นี้มิใช่มีความหมายจำกัดตามตัวอักษรแต่ใช้เชิงตัวอย่าง ให้เป็นคำแทนของการพัฒนาที่มุ่งเน้นเศรษฐกิจเป็นใหญ่ที่เทียบอย่างนี้มิใช่หมายความว่าจะแยกจากกัน หรือเลือกเอาอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ทั้งสองจะต้องประสานเกื้อหนุนกัน โดยที่ว่าการสร้างบัณฑิตเป็นแกน คือ สร้างบัณฑิตผู้ที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ และสามารถใช้เครื่องมือนั้นในการสร้างสรรค์ให้เกิดบางประโยชน์สุขที่แท้จริงแก่ชีวิตและสังคมที่จะดำรงอยู่ด้วยดี ท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์เกื้อกูล การให้การศึกษาเรามองพัฒนาคนเพียงในเง่ของการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ก็แน่นอนจะทำให้เราให้การศึกษาประเภทที่สนองความต้องการของสังคมหรือตามสังคม
แต่การที่จะตามสังคมอย่างเดียวคงไม่ถูกต้อง การศึกษาควรทำหน้าที่ ผู้เขียนและคณาจารย์ทั่วประเทศทั้งหลายคงเห็นพ้องต้องกันว่าควรจะได้ดีและมากกว่านั้น คือ “การศึกษานั้นแท้จริงแล้วต้องนำสังคม” ไม่ใช่คอยตามสังคม หมายความว่า สังคมนี้อาจจะเดินผิดทางก็ได้ ถ้าเราได้แค่ผลิตคนมาสนองความต้องการของสังคมให้ได้กำลังคนมาในด้านนั้นๆ ถ้าสังคมเดินผิดพลาด การศึกษาก็ผิดพลาดด้วย กำลังคนที่ได้มาเป็นผลของการศึกษาที่ผิดพลาด เหมือนอย่างในระยะที่แล้วๆ มา เราก็ผลิตคนฐานะเป็นทรัพยากร และกระแสการพัฒนาผิดพลาดสังคมก็เลยผิดซ้ำบิดเบี้ยวตามที่ปรากฏเป็นข่าวเนืองๆ
“คน” จะต้องมีความพิเศษยิ่งกว่านั้น ต้องมีคุณภาพสูงกว่านั้น ต้องมีสติปัญญาความรู้ความคิดมากกว่านั้น เช่น จะต้องรู้เท่าทันสังคม รู้กระทั่งว่าสังคมเดินทางผิด หรือเดินทางถูก แล้วจะแก้ไขอย่างไร ซึ่งจะทำได้ก็ด้วยการพิจารณาตัวคนให้เป็น “ผู้นำ” การเปลี่ยนแปลงได้ซึ่งเขาจะต้องเก่งกว่าการที่จะเป็นเพียงทรัพยากร แน่นอนและที่กล่าวถึงการพัฒนาตัวมนุษย์แท้ๆ ซึ่งวิชาศึกษาทั่วไป (gen ed. หรือ Liberal art) น่าจะทำหน้าที่นี้ได้ ในขณะวิชาชีพต่างๆ คงทำไม่ได้ เพราะวิชาชีพเฉพาะเหล่านั้นจะทำได้ก็เพียงสนองความต้องการของสังคมด้วยการผลิตกำลังคนให้
จากการเปรียบเทียบสองวิชานี้ เราจะเห็นความสำคัญของวิชาการศึกษาทั่วไปได้มากและมีความสำคัญยิ่ง การหา “ครู” ผู้สอนวิชานี้ให้ได้ผลดีจึงเป็นเรื่องใหญ่มากจึงเคยมีคนพูดไว้ว่าต้องใช้คนที่เป็นปราชญ์ ส่วนวิชาเฉพาะวิชาชีพนั้นให้ใช้ผู้เชี่ยวชาญใครๆ ก็สอนได้ ขอให้ถนัดในเรื่องของตน
ท้ายสุดนี้ผู้เขียนเห็นคล้อยตามกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หรือทั่วโลกว่า ครูผู้ที่จะมาสอนวิชาศึกษาทั่วไป ต้องสอนคนให้เข้าใจสถานการณ์ของโลก รู้โลกและรู้ชีวิต เข้าถึงสัจธรรมความจริง รู้ว่าอะไรเป็นอะไร มีคุณโทษดีเสียเป็นอย่างไร สามารถที่จะนำการเปลี่ยนแปลงได้ อย่างน้อยก็สามารถมีชีวิตที่ดีงาม การที่จะมีชีวิตที่ดีงามสามารถดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง และริเริ่มสร้างสรรค์สังคมได้นั้น
“ครู” คนนั้นต้องมีคุณสมบัติดีจริง และ “ครู” คนที่สอนยังต้องมีคุณสมบัติมากหรือสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นจึงต้องใช้คำว่า “ต้องเป็นปราชญ์” เพราะมันสำคัญยิ่งนัก และต้องมีการยืดหยุ่นไม่ตายตัว มิเช่นนั้นจุดแข็งก็จะกลายเป็นจุดอ่อน ด้วยเหตุนี้ ครูผู้สอนต้องมีสติปัญญาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะปัญหากับสถานการณ์ความเป็นไปของโลกปัจจุบัน ยุคโซเชียล มีเดียสะพัดด้วยแล้ว มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ต้องปรับตัวรู้เท่าทัน ไหวตัวตระหนักในความสำคัญและตั้งใจทำด้วยความรอบคอบ ให้สมกับคำที่ว่า…การศึกษาเพื่อสร้างบัณฑิตเป็น “ผู้นำสังคม” พร้อมการเปลี่ยนแปลงได้เสมอ ทำวันนี้ให้ดีกว่าวันวาน ไงเล่าครับ
นพ.วิชัย เทียนถาวร
ขอบคุณที่มาเนื้อหาบทความจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 23 กรกฎาคม 2560 - 12:00 น.