“หมออาวุธ” ยืนยันจำเป็นต้องใช้โอเน็ตคัดคนเรียนหมอ พร้อมใช้สัดส่วนคะแนนโอเน็ตเท่าเดิม ชี้แต่ละปีมีเด็กไม่ผ่านแค่2-3 คนเท่านั้น
วันนี้(17 ก.ค.) ศ.นพ.อาวุธ ศรีศุกรี เลขาธิการกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย(กสพท) กล่าวถึงกรณีที่มีการขอให้ยกเลิกการนำคะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ โอเน็ต มาใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต ทันตแพทยศาสตรบัณฑิต สัตวแพทยศาสตบัณฑิต และ เภสัชศาสตรบัณฑิต เพราะถ้านักเรียนสอบแล้วแต่โอเน็ตไม่ผ่านตามหลักเกณฑ์จะต้องถูกตัดสิทธิการเรียนหมอ ว่า ทางกสพท ได้พิจารณาข้อเรียกร้องดังกล่าวแล้ว เห็นว่าคะแนนโอเน็ตไม่ได้เป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เด็กเสียสิทธิ และในแต่ละปีก็มีเด็กถูกตัดสิทธิเข้าเรียนหมอ เนื่องจากคะแนนโอเน็ตไม่ผ่านเพียง 2-3 คนเท่านั้น ดังนั้น กสพท ยังยืนยันใช้คะแนนโอเน็ตสัดส่วนเท่าเดิม และในประกาศหลักเกณฑ์การรับเด็กแพทย์ ปี 2561ก็กำหนดชัดเจนว่า ยังคงยึดตามหลักเกณฑ์เดิมคือ ใช้คะแนนโอเน็ตรวม 5 กลุ่มสาระ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม โดยคะแนนรวมต้องเท่ากับหรือมากกว่า 60% ซึ่งคะแนนโอเน็ตจะเป็นเงื่อนไขในการคัดเลือกแต่ไม่นำคะแนนมาคิด
“การที่ กสพท ต้องใช้โอเน็ต เพราะต้องการให้เด็กเรียนในชั้นเรียนจนจบหลักสูตร ขณะเดียวกันเด็กจะต้องมีความมั่นคงในการเรียน ผ่านการเรียนตามกระบวนการอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่เรียนข้ามชั้น เหมือนเด็กที่จบการศึกษานอกระบบ หรือ กศน. เพราะถ้าเด็กมีพฤติกรรมที่เรียนข้ามโน่นข้ามนี่จนติดมาเป็นนิสัย และนำมาใช้ในการทำงานแพทย์จะยุ่งแน่นอน ส่วนประเด็นที่พบว่าเด็กแพทย์บางคนใช้วิชาชีพไปในทางที่ผิด ทำให้ต้องกำหนดคุณสมบัติการเข้าเรียนแพทย์มากขึ้นหรือไม่นั้น ผมเห็นว่าไม่จำเป็น เพราะขณะนี้คุณสมบัติคนเรียนแพทย์ก็เข้มข้นอยู่แล้ว อีกทั้งเรื่องอย่างนี้ก็เกิดขึ้นไม่มาก หากเกิดก็แก้เป็นกรณีไป ถ้ารุนแรงมากก็ไล่ออก ไม่จำเป็นจะต้องกำหนดเป็นกติการวม เพราะไม่มีประโยชน์อะไร” เลขาธิการ กสพท กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 17 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.31 น.