ใช้แต่มือถืออัดเสียง-ถ่ายรูปกำชับศธ.ช่วยดูแล/ฝากประเมินการทำข้อสอบอัตนัยนักเรียนด้วย
นายกฯ ห่วงเด็กรุ่นใหม่จดบันทึกข้อมูลไม่เป็น ใช้แต่มือถือถ่ายรูป-อัดเสียง ศธ.รับลูกกำชับสถานศึกษาเข้มงวดเรื่องการใช้โทรศัพท์ในห้องเรียน "ปลัด ศธ." แนะควรใช้นอกเวลาเรียน พร้อมเร่งดำเนินการให้มีการประเมินการทำข้อสอบอัตนัยทุกระดับชั้น เชื่อช่วยเด็กเขียนและคิดวิเคราะห์เป็น พร้อมกำชับนำพระบรมราโชบายในหลวง ร.10 ด้านการศึกษามาดำเนินการ
นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาการศึกษา หรือซูเปอร์บอร์ดการศึกษา ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยในที่ประชุม นายกฯ ได้ย้ำหลายเรื่อง อย่างเรื่องการจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษในสถานศึกษา ที่ก่อนหน้านี้มีการเพิ่มจำนวนชั่วโมงเรียน ว่าขอให้กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) มีความยืดหยุ่นในการจัดการเรียนการสอน ดูความพร้อมของโรงเรียนและครูของแต่ละพื้นที่ด้วย และยังฝากให้นำความรู้เรื่องภูมิศาสตร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการเรียนการสอนแบบสะเต็มศึกษาด้วย นอกจากนี้ นายกฯ ยังได้พูดถึงเรื่องการประเมินที่มีการออกข้อสอบแบบอัตนัยว่าเป็นเรื่องที่ดี แต่อยากให้มีการประเมินผลในลักษณะนี้กับผู้เรียนในทุกระดับชั้นทุกวิชา และต้องได้รับการประเมินอย่างต่อเนื่อง เพื่อฝึกให้เด็กได้เขียนและคิดวิเคราะห์เป็น อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ได้แสดงความรู้สึกเป็นห่วง เนื่องจากในปัจจุบันการเรียนการสอนในชั้นเรียน เด็กนักเรียน นักศึกษา ไม่นิยมจดบันทึก ทั้งที่การจดบันทึกจะช่วยให้เด็กได้คิดและช่วยจำ แต่ผู้เรียนกลับใช้วิธีการนำโทรศัพท์มือถือมาถ่ายรูปบันทึกเสียงแทนการจด ดังนั้นในส่วนของ ศธ. ตนจะกำชับให้สถานศึกษาทุกระดับเข้มงวดเรื่องการนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องเรียน แต่ส่วนตัวตนเห็นว่าโทรศัพท์มือถือจะเปิดโอกาสให้นักเรียน นักศึกษาใช้ได้เฉพาะนอกเวลาเรียนที่มีความจำเป็นในการติดต่อผู้ปกครองเท่านั้น ซึ่งโรงเรียนบางแห่งเข้มงวดในเรื่องนี้อยู่แล้ว
ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้นายกฯ ยังต้องการให้ ศธ.นำระบบอีเลิร์นนิ่งเข้ามาใช้ในการจัดการเรียนการสอนสำหรับการศึกษาตลอดชีวิต เพื่อนำมาต่อยอดการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย ซึ่ง ศธ.ก็รับไปดำเนินการ โดยจะใช้โครงการสร้างพื้นฐานที่มีอยู่ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) เข้ามาช่วยดำเนินการในเรื่องนี้ แต่ก็ห่วงเรื่องบุคลากรของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ที่อาจจะไม่เพียงพอและไม่มีความเชี่ยวชาญ จึงได้มีการอบรมเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้เข้ามาเป็นผู้ช่วยครู กศน.ในการจัดทำระบบอีเลิร์นนิ่ง ขณะเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ยังได้สอบถามถึงการแต่งตั้งโยกย้ายศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) ว่ามีความเรียบร้อยดีหรือไม่ ซึ่ง ศธ.ได้ชี้แจงไปว่าการดำเนินงานทุกอย่างเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ดังนั้นนายกฯ จึงย้ำว่านโยบายรัฐบาลจะมีรูปแบบการทำงานที่ใช้จังหวัดเป็นฐาน โดยขอให้ ศธ.บูรณาการทำงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย (มท.) ที่ใช้จังหวัด กลุ่มจังหวัดและภาคเป็นฐานในการทำงาน และจากการตรวจสอบข้อมูล ศธ.ก็มีศึกษาธิการภาค (ศธภ.) ตรงกับเขตตรวจราชการของ มท. ดังนั้นจึงสามารถสานต่อภารกิจงานร่วมกันได้
“ในการประชุมซูเปอร์บอร์ดการศึกษา นายกฯ ได้กำชับถึงพระราชดำรัสในหลวงรัชกาลที่ 10 ว่าสิ่งใดที่เป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่นำปรับใช้กับครูให้ดำเนินการต่อไป แต่สิ่งที่ในหลวง ร.10 ทรงห่วงใยคือ การดูแลครูและคุณภาพศึกษา จึงมีพระบรมราโชบายด้านการศึกษาให้แก่ผู้เรียนคือ ทัศนคติที่ดีต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม มีงานทำ มีอาชีพ เป็นพลเมืองที่ดี มีจิตอาสา และเคารพกฎหมาย” ปลัด ศธ.กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 17 กรกฎาคม 2560