ท่องเที่ยววิถีชุมชน “บ้านท่าฉัตรไชย” สัมผัสเมืองภูเก็ตในมุมมองใหม่
ดึงทุนและวัฒนธรรมท้องถิ่นเป็น “จุดขาย” ขยายผลสร้างสุขภาวะยั่งยืน
สำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ “ชุมชนบ้านท่าฉัตรไชยหมู่ที่ 5” ตำบลไม้ขาว อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต จัดทำ “โครงการการจัดการท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านท่าฉัตรไชย” ดึงทุนทางวัฒนธรรมและทรัพยากรธรรมชาติของชุมชนเป็นพัฒนาเป็นจุดขาย พร้อมเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวผ่านศูนย์การเรียนรู้วิถีชุมชนใน 4 มุมมองได้แก่ เมืองหน้าด่าน ตำนานรักสารสิน ถิ่นมอแกล็น และดินแดนวัฒนธรรม
สมพร แทนสกุล ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 5 บ้านท่าฉัตรไชย เปิดเผยว่า ชุมชนแห่งนี้แทบทั้งหมดเป็นที่ราชพัสดุ จึงไม่มีศักยภาพที่จะดึงนักลงทุนมาสร้างกิจการรองรับการท่องเที่ยวได้ ประกอบกับเป็นท่าเทียบเรือประมงและชุมชนของชาวเลมอแกล็น สภาพแวดล้อมจึงเต็มไปด้วยขยะไม่ถูกสุขลักษณะ อีกทั้งเนื่องจากสภาพพื้นที่และภูมิประเทศเป็นชายฝั่งทะเลและป่าโกงกางจึงมีปัญหาการลักลอบขนส่งหรือเป็นจุดพัก ทำให้ยาเสพติดแพร่หลายในหมู่บ้าน และเมื่อร่วมด้วยกับปัญหาความยากจน หมู่บ้านในละแวกนี้จึงกลายเป็นชุมชน “ชายขอบ” ของภูเก็ตโดยแท้จริง
“พื้นที่ 2 พันกว่าไร่ตรงนี้ เป็นที่ราชพัสดุเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงไม่มีนักลงทุนมาสร้างทำธุรกิจ คนในหมู่บ้านใช้เป็นที่พักอาศัย แต่ออกไปประกอบอาชีพที่อื่น เราจึงพยายามทำและปรับเปลี่ยนหมู่บ้านของเราว่าทำอย่างไรชาวบ้านสามารถขายของหน้าบ้านได้ ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในชุมชนได้ จึงกำหนดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว เอาธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชนมาเป็นจุดขาย” ผู้ใหญ่สมพรกล่าว
จากทุนของชุมชนอันประกอบด้วยทุนทางสภาพแวดล้อม มีพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ เป็นเขตอุทยานแห่งชาติที่มีความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศ การเดินทางสะดวก มีสถานที่ท่องเที่ยวและจุดชมหลายแห่ง มีทุนทางด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม จากสะพานสารสินจุดกำเนิดตำนานความเชื่อและความรักไปจนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของชุมชนชาวเลมอแกล็นที่ถ่ายทอดผ่านทางประเพณีและวัฒนธรรม
“เมื่อหมู่บ้านเปิดเป็นเส้นทางการท่องเที่ยว จุดสำคัญคือความสะอาดและความปลอดภัย ที่ทุกคนในชุมชนต้องช่วยกันทำ เมื่อก่อนชาวเลไม่สนใจนักท่องเที่ยว ทำมาหากินตามวิถีชีวิตของตนเอง แต่ปัจจุบันต้องปรับตัว ชาวเลไปหากุ้งหาปูหาหอยอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องออกไปรับจ้าง ขับเรือจ้างบ้าง ทำเกษตรบ้าง หรือแสดงวิถีชีวิตที่ทำจริงๆ ให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ เช่น การแกะหอยขาย เป็นต้น” ผู้ใหญ่สมพรอธิบาย
จากแนวคิดด้านความสะอาดและปลอดภัย ส่งผลให้หมู่บ้านมีถังขยะทุกบ้านและมีการทำความสะอาดบ้านเรือนเสมอ และมีการรณรงค์การเที่ยวในชุมชนโดยปราศจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ ส่งผลให้ชุมชนก้าวหน้าไปในทิศทางเชิงบวกที่ส่งผลดีต่อสุขภาวะของชุมชน ทั้งสภาพสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น และการลดละเลิกบุหรี่ สุรา และยาเสพติด อีกทั้งยังมีรายได้เสริมจากการค้าขายและให้บริการที่เกี่ยวข้องอีกกว่า 300 ครัวเรือน
ผลสำเร็จในการสนับสนุนกระบวนการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้มแข็งของสภาผู้นำสามารถสร้างสุขให้แก่ชุมชนบ้านท่าฉัตรไชยอย่างเป็นรูปธรรม และยังสามารถพัฒนาต่อยอดกิจกรรมไปได้อย่างต่อเนื่องย่อมแสดงถึงแนวโน้มความสำเร็จอย่างยั่งยืนโดยที่ชุมชนสามารถจัดการด้วยตัวเองได้ ซึ่งน่าจะเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในมิติต่างๆ ได้เป็นอย่างดี.