เลิกครู 5 ปี…แก้ทั้งระบบครบวงจร : โดย สมหมาย ปาริจฉัตต์
คณะกรรมการคุรุสภามีมติให้ความเห็นชอบในหลักการให้กลับไปใช้หลักสูตรการผลิตครู 4 ปี และตั้งอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณาจัดทำข้อเสนอการผลิตครูทั้งระบบใหม่
เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่กระทบถึงคุณภาพการศึกษาโดยตรง จึงต้องกลับมาตั้งหลักกันใหม่ สาวหาเหตุผลของความเปลี่ยนแปลง เพราะอะไรจากหลักสูตรผลิตครู 5 ปีที่เป็นอยู่ขณะนี้ (ภาควิชาการ 4 ปี ภาคปฏิบัติฝึกประสบการณ์สอน 1 ปี) กลับไปเป็น 4 ปีเหมือนในอดีต
สถานการณ์ปัจจุบันโดยเฉพาะด้านคุณภาพ มาตรฐาน และจิตวิญญาณของความเป็นครู ของบัณฑิตที่จบจากหลักสูตร 5 ปี เป็นอย่างไร
คณะอนุกรรมการและคณะกรรมการคุรุสภาต้องตอบคำถาม 2 ประการนี้ให้ชัดเจนเสียก่อน ถึงจะเริ่มพิจารณาทบทวน กลับไปผลิตครูตามหลักสูตรเดิม
สาเหตุของความเปลี่ยนแปลงประการหนึ่งสืบเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนครูในบางสาขาวิชาซึ่งหลักสูตรผลิตครู 5 ปี ไม่ได้ผลิตหรือผลิตไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องใช้ครูที่จบจากสาขาวิชาอื่นซึ่งเรียน 4 ปีมาเป็นครู แล้วค่อยสอบให้มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในภายหลัง
เหตุนี้เองทำให้สถาบันผลิตครู นักศึกษาครูตามหลักสูตร 5 ปี คิดว่าไม่เป็นธรรม ทำให้พวกเขาเสียเปรียบ ต้องใช้เวลาเรียนถึง 5 ปี และต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูก่อนถึงจะสอบบรรจุเป็นครูประจำการได้ ขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเรียน 4 ปียังไม่ต้องมีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพก็สามารถสอบเข้ามาเป็นครูได้
เหตุหลักมาจากความคิดที่ว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม และความลักลั่น เลยทำให้ถูกเสนอยุบกลับไปเป็นอย่างเดิม
ส่วนสาเหตุอีกประการหนึ่ง คือ ด้านคุณภาพ มาตรฐาน ซึ่งคุรุสภาอาจเห็นว่า ระยะเวลาในการผลิต 4 ปี กับ 5 ปี ผลที่ได้ไม่แตกต่างกัน
ตรงประเด็นคุณภาพ มาตรฐาน และจิตวิญญาณ นี่แหละครับ มีหลักฐาน งานวิจัยที่เชื่อถือได้รองรับมายืนยันหรือไม่ ก่อนที่จะเดินหน้าต่อไป
นอกจากนี้ ต้องย้อนกลับไปถึงเหตุการณ์ในอดีต ที่มาของความคิดเปลี่ยนจากหลักสูตร 4 ปี มาเป็น 5 ปีเพราะอะไร
เหตุเพราะต้องการให้วิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูง เช่นเดียวกับแพทย์ ทั้งด้านความเชี่ยวชาญพิเศษเนื่องจากเป็นอาชีพสร้างคน ไม่เพียงรักษาชีวิตคนไข้เฉพาะราย ระยะเวลาการฝึกฝนประสบการณ์สั่งสมจิตวิญญาณ และผลตอบแทนควรจะใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นฐานคิดที่มีเหตุผลรองรับชัดเจน
ฉะนั้น แนวทางการแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ แยกแยะทีละประเด็นๆ
ผลิตครูเฉพาะทางในสายที่ขาดแคลนในหลักสูตร 5 ปีให้เพียงพอ แก้ที่ส่วนน้อยง่ายกว่า ไม่กระทบส่วนใหญ่ที่กำลังไปได้ดี
ส่วนปัญหาคุณภาพการเรียนการสอน การฝึกประสบการณ์ จิตวิญญาณความเป็นครู เทียบเคียงกันระหว่าง 4 ปี กับ 5 ปีผลแตกต่างกันอย่างไร
บางท่านบอกว่าระยะเวลาไม่สำคัญ สำคัญที่กระบวนการฝึกและหล่อหลอม ก็ต้องลงไปดูกันในรายละเอียด มีหลักฐาน ผลการศึกษาวิจัยยืนยัน คุณภาพกระบวนการเรียนการสอน การฝึกปฏิบัติ การหล่อหลอมจิตวิญญาณของมหาวิทยาลัยต่างๆ ปัจจุบันเป็นอย่างไร แก้เป็นที่ที่ไป ไม่ใช่พังทั้งระบบ
ปัญหากระบวนการผลิตครู ไม่ได้อยู่เฉพาะที่หลักสูตร และกระบวนการเรียนการสอน เท่านั้น แต่อยู่ที่ระบบผลิตแบบตลาดเสรี ต่างฝ่ายต่างผลิตตามความคิด ความต้องการของตน โดยเฉพาะด้านรายได้มาหล่อเลี้ยงสถาบันและบุคลากร ทำให้การผลิตครูเฟ้อ กระทบถึงคุณภาพ
จึงเกิดคำถามว่า วิธีคิด วิธีการดำเนินงานด้านการศึกษา โดยให้กลไกตลาดแก้ไขปัญหาด้วยตัวมันเอง ถูกต้องหรือ
คุรุสภา และคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการศึกษาที่เพิ่งตั้งใหม่ ต้องหาข้อยุติเรื่องระบบตลาดเสรี น่าจะถูกทิศถูกทาง สอดคล้องกับสถานการณ์มากกว่าเน้นไปแก้ที่หลักสูตร เป็นหลัก
เหตุที่ทำให้เกิดปัญหาการผลิตล้นเกิน บัณฑิตครูตกงานยกเว้นสาขาที่ขาดแคลน เนื่องมาจากขาดองค์กร หน่วยงาน หรือคณะกรรมการกลาง ประสานงาน วางแผนนโยบายร่วม ทำให้ขาดแคลนข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน มหาวิทยาลัยไหนผลิตจำนวนเท่าไร สาขาใด จึงมองไม่เห็นภาพรวมทั่วประเทศ
ขณะที่ฝ่ายผู้ใช้ก็ไม่สามารถให้คำตอบแก่ฝ่ายผลิตได้อย่างครบถ้วน ต้องการสาขาไหน จำนวนเท่าไหร่ เมื่อปีไหน
ทางออกในเชิงระบบที่ต้องรีบคิดรีบทำมากกว่าคือ ปรับระบบการผลิตครูหลักสูตร 5 ปีให้เป็นระบบปิด ขาดที่ไหน ต้องการเท่าไหร่ ผลิตเท่านั้น โดยมีหลักประกันการทำงาน จบแล้วมีงานทำ ไม่ต้องตามแก้ปัญหาทุจริตการสอบบรรจุครูที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกด้วย
เมื่อระบบผลิตมีการวางแผนร่วม สถาบันไหน ผลิตสาขาใด จำนวนเท่าไหร่ กับระบบใช้ และระบบการพัฒนาสอดคล้องไปด้วยกัน ปัญหาคอร์รัปชั่นจากการโอนย้าย บรรจุ แต่งตั้ง ครูกระจุก ครูเกินอยู่ในโรงเรียนที่ไม่ควรอยู่ แต่กระจายไปในจุดที่จำเป็น ที่ครูขาดก็จะลดลงตามไป
สมหมาย ปาริจฉัตต์
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 13 กรกฎาคม 2560 - 13:15 น.