“ม.ล.ปนัดดา"ย้ำการทำงาน ศธจ.ช่วงแรกต้องร่วมกันแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ขณะที่ "ว่าที่ร.ต.ธนุ" เผย ศธจ.มหาสารคาม กำลังเร่งทำข้อมูลสถานศึกษา และแบ่งงานศึกษานิเทศก์ติดตามงานเพื่อขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา
วันนี้( 11 ก.ค.)ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมช.ศึกษาธิการเปิดเผยว่า ในการประชุมการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการในภูมิภาค(คปภ.)ได้มีการพูดคุยเรื่องการเกลี่ยอัตรากำลังที่จะไปทำงานในสำนักงานศึกษาธิการจังหวัด(ศธจ.)กันหลายรอบแล้วว่า ระยะแรกต้องช่วยกันหาวิธีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่ทั้งนี้ในส่วนของผู้ที่จะเป็นศึกษานิเทศก์นั้นควรจะมาจากศึกษานิเทศก์ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ เนื่องจากศึกษานิเทศก์ต้องมีความรู้ความสามารถ เฉพาะทางจริง ๆเพราะต้องดูทั้งนักเรียนและครูและต้องวางแผนด้วย
ว่าที่ร.ต.ธนุ วงษ์จินดา ศธจ.มหาสารคาม กล่าวว่า จังหวัดมหาสารคามมีโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)406 โรงและยังมีสถานศึกษาสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.)สถานศึกษาเอกชนและสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย(กศน.)อีก ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลสถานศึกษาของจังหวัดมหาสารคามว่ามีจำนวนเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามในส่วนของศึกษานิเทศก์นั้นสำนักงาน ศธจ.มหาสารคามได้รับทั้งสิ้น 22อัตรา เพราะเป็นจังหวัดขนาดกลาง ซึ่งตนได้ประชุมแบ่งภารกิจให้ศึกษานิเทศก์รับผิดชอบเรียบร้อยแล้วพร้อมทั้งมอบหมายภารกิจในการตรวจติดตามการดำเนินงานในพื้นที่รับผิดชอบของแต่ละคนเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ
“ในระยะแรกนี้ผมขอให้ศึกษานิเทศก์ไปหาข้อมูลสารสนเทศของอำเภอที่ตนเองรับผิดชอบมาก่อนทั้งจำนวนโรงเรียน ผลการเรียนของเด็กผลการทดสอบแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานหรือโอเน็ต ผลการประเมินนักเรียนนานาชาติหรือพิซาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน โรงเรียนมีปัญหาอุปสรรคหรือมีจุดอ่อนจุดแข็งอะไรบ้าง เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามเจตนารมณ์ของการปฏิรูปการศึกษา”ศธจ.มหาสารคามกล่าวและว่าต้องถือว่าศึกษานิเทศก์มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้อย่างไรก็ตามในส่วนของสำนักงาน ศธจ.มหาสารคามยังไม่มีครูมาเป็นศึกษานิเทศก์จึงไม่มีปัญหาในเรื่องของการเกลี่ยศึกษานิเทศก์
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 11 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.19 น.