‘คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยปีละ 8 บรรทัด’ ‘เด็กๆ อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้’วิกฤตที่เกี่ยวเนื่องกับคุณภาพการศึกษาของเด็กไทยนี้ เป็นหน้าที่ของทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหา
"การพัฒนาและการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพด้านการศึกษาของเด็กๆ มูลนิธิศุภนิมิตฯ จะเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม ทั้งจากสำนักงานพื้นที่การศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน ครู และผู้บริหารสถานศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ ชุมชน รวมถึงผู้ปกครอง ให้ทุกๆ คนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาไปด้วยกัน” จิตรา ธรรมบริสุทธิ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยกล่าว
ปัจจุบันโครงการอุปการะเด็กของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ได้สร้างโอกาสด้านการศึกษาอย่างมีคุณภาพให้แก่เด็กไทยที่อยู่ในภาวะยากจนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ รวมจำนวนกว่า 80,000 คน และเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างสอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
มูลนิธิศุภนิมิตฯ จะนำสิ่งที่ชุมชนสะท้อนปัญหาของพวกเขามาเป็นโจทก์หลักในการทำงาน ซึ่งปัญหาร่วมที่เกิดขึ้นในทุกๆ พื้นที่ดำเนินงาน คือ ปัญหาการอ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ของเด็ก การส่งเสริมด้านการศึกษาเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ จึงถือเป็นหนึ่งในงานหลักที่สำคัญของโครงการอุปการะเด็ก
หนึ่งในพื้นที่โครงการพัฒนาฯ ของมูลนิธิศุภนิมิตฯ ที่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ และการส่งเสริมด้านการศึกษาแก่เด็กๆ จนเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมแล้วในวันนี้ คือ โครงการพัฒนาความอยู่ดีมีสุขของเด็ก ครอบครัว และชุมชน เสิงสาง จ.นครราชสีมา
จงรัก เถาพิลาศ ผู้จัดการโครงการพัฒนาฯ เสิงสาง จ.นครราชสีมา เล่าว่าโครงการดังกล่าวแม้จะดำเนินงานได้เพียง 3 ปี จากการวิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ในพื้นที่ดำเนินงาน พบว่าปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ มีทั้งที่เกิดจากพฤติกรรมของเด็ก การจัดการเรียนการสอนที่ยังไม่เกิดประสิทธิภาพ ครูบางส่วนขาดทักษะ ขาดเทคนิค ขาดสื่อและอุปกรณ์การสอนอย่างเพียงพอ ทำให้เด็กขาดความสนใจในการเรียน ผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจ เด็กบางคนถูกทิ้งให้อยู่กับผู้สูงอายุ ซึ่งไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง ทำให้เด็กไม่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนวัยเรียน
ทุกๆ ปัจจัยดังกล่าว ถูกนำมาออกแบบเป็นกระบวนการเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาการอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ในระดับพื้นที่อย่างเป็นระบบทั้งในโรงเรียน บ้าน และชุมชน โดยเน้นกลุ่มเด็กๆ ระดับปฐมวัยที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เด็กระดับอนุบาล และนักเรียนระดับประถม 1–3
เริ่มต้นการพัฒนาที่โรงเรียนซึ่งเป็นสถานที่บ่มเพาะความรู้แก่เด็กๆ จะดำเนินการด้วยการ‘เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพครูผู้สอน’ ให้เท่าทันนวัตกรรมด้านการศึกษาในปัจจุบัน นำสู่การพัฒนาการจัดการเรียนการสอน การผลิตสื่อประกอบการสอนตามบริบทท้องถิ่น เพื่อให้ครูได้ถ่ายทอดสู่เด็กๆ ต่อไป และยังสนับสนุนสื่อการเรียนการสอนแก่สถานศึกษาให้เกิดสื่อนอกจากตำราเรียนที่เสริมการเรียนรู้แก่เด็กๆ
ณัฐกิตติ์ เหลื่อมล้ำ ครูสอนวิชาภาษาไทย โรงเรียนบ้านโคกไม้งามอ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา เล่าว่าครูได้นำความรู้ที่ได้รับไปพัฒนาการเรียนการสอน โดยเน้นการสอนแบบมีส่วนร่วมกับนักเรียนผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เล่นบทบาทสมมุติการเล่าเรื่องในหนังสือให้เพื่อนฟัง ซึ่งผมจะคอยสังเกตพฤติกรรมของเด็กในชั้นเรียนแต่ละคนว่ามีจุดเด่นอะไร และเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มีโอกาสแสดงความสามารถ ซึ่งเขาจะรู้สึกภาคภูมิใจ
ส่งเสริมให้เด็กนำความรู้ที่ได้รับจากโรงเรียนกลับมาทบทวนที่บ้านด้วย ‘กิจกรรมอ่านหนังสือให้ผู้ปกครองฟัง’ โดยมีการอบรมให้ความรู้แก่พ่อแม่และผู้ปกครองเพื่อพัฒนาการอ่านการเขียนของเด็ก ให้พ่อแม่มีบทบาทในการพัฒนาการเรียนรู้ของลูกๆ ด้วยวิธีการง่ายๆ เช่น การชักชวนกันอ่านหนังสือ หรือช่วยลูกๆ ทำการบ้าน เกิดประโยชน์ทั้งการให้เด็กได้ทบทวนความรู้ สร้างนิสัยรักการอ่านสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว
สมหมาย ซึมกระโทก ย่าของเด็กหญิงปทิตตา บุญพิมพ์เรียนชั้นอนุบาล 2 เล่าว่าพอกลับมาจากโรงเรียนรีบทำการบ้าน ทำเสร็จเขาจะนำมาให้ย่าตรวจทันที และเวลาว่างย่าก็จะชวนเขาให้อ่านหนังสือให้ฟัง ให้น้องคัดลายมือให้ดู”
ขณะที่การต่อยอดสู่ชุมชน จะเป็นสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านออกเขียนได้ รวมถึงการพัฒนาการศึกษาแก่เด็ก โดยจัดเป็น ‘นิทรรศการยอดนักอ่าน สานสัมพันธ์ ปันความรู้’ เปิดโอกาสให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน และตัวแทนจากหน่วยงานท้องถิ่นต่างๆ ร่วมชื่นชมความสามารถของเด็กๆ ผ่านกิจกรรมต่างๆ
เช่น เด็กอนุบาลอ่านได้ การแข่งขันกิจกรรมยอดนักอ่าน ทั้งการอ่านคำ อ่านจับใจความ เขียนตามคำบอก คัดลายมือ และการแต่งเรื่องจากภาพ รวมถึงให้เป็นเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของครูในการพัฒนาผู้เรียน อีกทั้งยังมีการเสวนาความรู้อื่นๆ เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย อาทิ ความรู้เรื่องโภชนาการสำหรับเด็กก่อนวัยเรียน เป็นต้น โดยในปี 2559 ได้จัดนิทรรศการฯ ขึ้น 2 ครั้ง มีผู้ร่วมงานกว่า 1,500 คน
นอกจากนี้ มูลนิธิศุภนิมิตฯยังเดินหน้าการส่งเสริมการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียน ด้วยการลงนามในบันทึกข้อตกลงเพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาการอ่านการเขียนของนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษานครราชสีมา เขต 3 องค์การบริหารส่วนตำบลสระตะเคียน กลุ่มเครือข่ายโรงเรียนในตำบลสระตะเคียน จำนวน 6 โรงเรียน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลสระตะเคียน อ.เสิงสาง จ.นครราชสีมา จำนวน 5 แห่ง ในการประสานความร่วมมือกันสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาการอ่านออกเขียนได้ของนักเรียนต่อไป
ขอบคุณที่มาเนื้อหาจาก คมชัดลึก วันที่ 9 กรกฎาคม 2560