นายรัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) กล่าวถึงข้อเสนอของสภาคณบดีคณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์แห่งประเทศไทย (ส.ค.ศ.ท.) ที่ให้กลับไปผลิตครูในหลักสูตร 4 ปี จากเดิม 5 ปี ว่าคุณภาพการศึกษาไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนปี แต่ขึ้นอยู่กับระบบและกลไกในการผลิตและพัฒนาครู ซึ่งก่อนการเปลี่ยนแปลงใดๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งสถาบันผลิตครู คณะกรรมการคุรุสภา คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ควรต้องหารือร่วมกันพร้อมทั้งนำงานวิจัยมาประกอบการพิจารณาด้วย
"ควรหาโมเดลที่ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพให้ได้ก่อน แล้วค่อยมาหาข้อสรุปว่าหลักสูตรครูควรเป็นกี่ปี ส่วนตัวจะกี่ปีก็ได้ สิ่งสำคัญต้องตอบโจทย์คุณภาพ และต้องตอบสังคมให้ได้ว่าเปลี่ยนแล้วคุณภาพจะดีขึ้นอย่างไร ไม่ใช่ตั้งธง ที่จำนวนปีก่อน" นายรัฐกรณ์กล่าว และว่า ที่ผ่านมาเราใช้หลักสูตรครู 4 ปี มาโดยตลอดจนถึงปี 2547 ได้เปลี่ยนมาผลิตครูพันธุ์ใหม่และยกให้เป็นวิชาชีพชั้นสูง จึงเพิ่มเรื่องฝึกวิชาชีพ 1 ปี รวมเป็น 5 ปี ต่อมาปี 2553 คณะกรรมการบริหารโครงการผลิตครูพันธุ์ใหม่ มีรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธาน มีแนวคิดให้ยกเลิกหลักสูตรครู 5 ปี ในปี 2556 ให้การผลิตครูพันธุ์ใหม่แบ่งเป็น 2 หลักสูตรแทน คือ 1.หลักสูตร 4+2 โดยเปิดให้ผู้มีวุฒิอื่นมาเรียนครู 2 ปี และ 2.หลักสูตรครู 5+1 เพื่อให้ครูมีวุฒิขั้นต่ำเทียบเท่าระดับปริญญาโท แต่แนวคิดดังกล่าวไม่ทันได้ใช้เพราะมีการเปลี่ยนรัฐมนตรีก่อน
นายรัฐกรณ์กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามหลังมีข่าวว่าขณะนี้จะกลับไปใช้หลักสูตรครู 4 ปี ปรากฏว่ามีเสียงสะท้อนทั้งจากบุคลากรครู และนักเรียนผู้ปกครองว่าเปลี่ยนกลับไปกลับมา ส่งผลกระทบต่อผู้เรียนโดยเฉพาะปีการศึกษา 2560 ที่จะยังคงใช้หลักสูตรครู 5 ปี ขณะที่ ปีการศึกษา 2561 จะใช้หลักสูตรครู 4 ปี ซึ่งใช้ระยะเวลาเรียนน้อยกว่า แต่จบพร้อมกันและมาแข่งขันการสอบบรรจุในปีเดียวกัน นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อสถาบันผลิตครูโดยเฉพาะประกาศ ศธ.เรื่องเกณฑ์มาตรฐานหลักสูตรระดับปริญญาตรี พ.ศ.2558 ที่กำหนดว่าแต่ละหลักสูตร/สาขา จะต้องมีอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตร/สาขาอย่างน้อย 5 คน และต้องไม่ซ้ำกัน เท่ากับสถาบันผลิตครูจะต้องหาอาจารย์ผู้รับผิดชอบหลักสูตรครู 4 ปี เพิ่มมาอีกชุด ทุกสถาบันผลิตครูจะต้องเผชิญกับปัญหาการหาอาจารย์มารับผิดชอบหลักสูตรที่ต้องไม่ซ้ำกันในแต่ละสาขา และน่ากลัวว่าจะมีการแก้ไขปัญหาโดยใช้มาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มายกเลิกประกาศดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งส่วนตัวมองว่าถ้าเป็นเช่นนั้น จะเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด ฉะนั้นก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงใดๆ ควรต้องศึกษาความเป็นมาว่าทำไมถึงเปลี่ยนจากหลักสูตร 4 ปี มาเป็น 5 ปี มีผลดีผลเสียอย่างไรบ้าง และนำงานวิจัยศึกษาเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างหลักสูตร 4 ปี และ 5 ปี มาประกอบการพิจารณาด้วย
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน เผยแพร่บนเว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 7 กรกฎาคม 2560