สสส. ผนึก สพฐ. ขยายผลส่งเสริมกิจกรรมทางกายในโรงเรียน แนะใช้สูตรแบ่งเวลาเล่น 10:20:30 แอคทีฟ 60 นาทีทุกวัน เผย โรงเรียนต้นแบบ Active Play Active School ประสบความสำเร็จมาก ช่วยเด็กไทยกระตือรือร้น - ลดเนือยนิ่ง มีสมาธิ พัฒนาการเรียนรู้ เตรียมจัดโรดโชว์ “โครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา” 4 ภูมิภาค หวังเพิ่มกิจกรรมทางกายที่เพียงพอในเด็ก
วันนี้ (5 ก.ค.) ที่คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และ กระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) แถลงข่าว โครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา เพื่อดำเนินส่งเสริมการมีกิจกรรมทางกายอย่างต่อเนื่องในกลุ่มเด็กและเยาวชนไทย อายุระหว่าง 6-14 ปี ให้มีสุขภาวะที่ดีเหมาะสมตามวัย และเป็นการสร้างความรู้ ความเข้าใจให้แก่ครูและผู้ปกครอง ถึงความสำคัญในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้เพิ่มมากขึ้น รวมไปถึงเพื่อสานพลังความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน ขยายผลการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในวงกว้างต่อสังคมไทย โดยจัดกิจกรรมร่วมกับสถานศึกษาในจังหวัดต่างๆ ใน 4 ภาคทั่วประเทศ
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า โครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา ภายใต้แนวคิด “ออกมาเล่น แอคทีฟ 60 นาทีทุกวัน” ถือเป็นโครงการต่อยอดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายให้ขยายไปในวงกว้าง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น เพื่อเน้นย้ำให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ โดยเฉพาะวัยเด็กอายุ 6 - 14 ปี ที่กำลังเติบโตทั้งพัฒนาการทางร่างกายและสมอง ปัจจุบันเด็กไทยมีสิ่งเร้าหรือมีพฤติกรรมที่อาจจะเป็นอุปสรรคในการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสม เช่น เล่นเกม หรือเล่นสมาร์ทโฟนเป็นเวลานาน ประกอบกับภาวะโภชนาการที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลให้เกิดปัญหาระยะยาว เช่น น้ำหนักตัวเกิน
“ข้อมูลจากกรมอนามัย ในปี 2558 พบว่า เด็กวัยก่อนเรียนจะกลายเป็นเด็กอ้วนในสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 5 และเด็กวัยเรียนจะมีสัดส่วนของเด็กอ้วนอยู่ที่ 1 ใน 10 ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่ทุกๆ ฝ่าย ที่มีผลต่อเด็กๆ ควรให้การแก้ไขอย่างเร่งด่วน โดย สสส. ได้ร่วมกับภาครัฐ เอกชน และภาคสังคม เพื่อดำเนินการตามนโยบายในการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ตั้งเป้าว่า ภายในปี 2564 คนไทยอายุ 11 ปีขึ้นไป ควรมีกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และภายในปี 2562 จะลดจำนวนผู้มีน้ำหนักตัวเกิน และภาวะโรคอ้วนในเด็กให้น้อยกว่าร้อยละ 10 นับว่าสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ในการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ซึ่งจะเป็นฟันเฟืองที่จะส่งเสริมให้การดำเนินการในภาพใหญ่มีความเข้มแข็ง และประสบความสำเร็จได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รศ.นพ.ปัญญา กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า ปัจจุบันเด็กรุ่นใหม่กำลังขาดกิจกรรมทางกายอย่างน่าห่วง โดยเฉพาะในเขตเมือง เด็กไทยใช้เวลาอยู่หน้าจอเฉลี่ยวันละ 3.1 ชั่วโมงต่อวัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แถมยังมีภาวะเฉื่อยและเนือยนิ่งมากขึ้น โดยโครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะทางกายในสถานศึกษา จะเน้นส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างเพียงพอ ซึ่งตามข้อเสนอระดับสากลที่แนะนำ เด็กควรมีกิจกรรมทางกายในระดับปานกลางถึงหนักประมาณ 60 นาทีต่อวัน โดยใช้สูตรแบ่งเวลาเล่นแบ่งออกเป็น 10-20-30 คือ 10 นาที ก่อนเข้าเรียน เช่น เดินหรือปั่นจักรยานไปโรงเรียน ออกกำลังกายประกอบเพลง วิ่งไล่จับก่อนเข้าชั้นเรียน ต่อด้วย 20 นาทีระหว่างวัน เช่น วิ่งเล่น เตะฟุตบอล ปีนป่าย กระโดดหนังยาง เล่นเกมที่มีการเคลื่อนไหวร่างกาย และ 30 นาทีสุดท้าย หลังเลิกเรียน เช่น ว่ายน้ำ ปั่นจักยาน เต้น วิ่งจ๊อกกิ้ง เต้นแอโรบิก วอลเลย์บอล
“โครงการ Active Play Active School ที่ สสส. ได้ดำเนินการในโรงเรียนนำร่องทั่วประเทศ 50 โรงเรียน ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริหาร ครู ผู้ปกครองของสถานศึกษานำร่อง มีการนำกิจกรรมทางกาย มาปรับใช้ในการจัดกิจกรรมทั้งในเวลาเรียนและในชั่วโมงการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน - เพิ่มเวลารู้ ส่งผลให้เด็กและเยาวชนมีความกระตือรือร้น ลดภาวะเนือยนิ่ง มีสมาธิ ช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก ยกตัวอย่างกิจกรรม สำหรับเด็กใน 2 ช่วงวัยสำคัญ ทั้งเด็กเล็ก หรือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 และกิจกรรมสำหรับเด็กโต หรือนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 - 3 เช่น ฐานวิ่งลอดเชือก (Jump Loop) ที่บูรณาการความรู้มาจากวิชาคณิตศาสตร์และนันทนาการเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มพัฒนาการทางด้านสมอง การประมาณการ และเพิ่มทักษะการเคลื่อนไหวของเด็กๆ หรือจะเป็น ฐานบอลหรรษา (The Lucky Ball) ที่จะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารการเคลื่อนไหวและทรงตัว การเชื่อมโยงประสาทสัมผัส และสอนให้รู้จักความสามัคคี นอกจากนี้ ยังมี ฐานลำเลียงบอล (Rolling Runner) และ ฐานบันไดงู (Snake Ladder) ซึ่งทั้งหมดนี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการออกกำลังกาย หรือเพิ่มกิจกรรมทางกาย ได้ในชีวิตประจำวัน หรือการออกมาเล่น แอคทีฟ 60 นาที ทุกวัน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
ด้าน นางสาววัลลภา เรือนไชยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนากิจกรรมนักเรียน ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กล่าวว่า ศธ. มีนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” เป็นนโยบายหนึ่งของรัฐบาลที่ใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูปการศึกษาอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเตรียมผู้เรียนให้พร้อมเข้าสู่การเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 โดยมุ่งหวังให้มีการเปลี่ยนแปลงการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน ส่งเสริมให้สถานศึกษามีการพัฒนากิจกรรมเพิ่มเวลารู้ให้เชื่อมโยงกับมาตรฐานการเรียนรู้และตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และยังคงเน้นเป้าหมายการพัฒนา 4H (Head Heart Hand Health) และให้ความสำคัญทั้งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และกิจกรรมเพิ่มเวลารู้ แบบ Active Learning โดยมุ่งเน้นลดเวลาเรียนในลักษณะการรับการถ่ายทอดความรู้ด้วยการบรรยาย/การอธิบาย เพิ่มเวลาและโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจริง มีความสุขกับการเรียนรู้ เช่น ไม่ต้องนั่งกอดอกฟังครูสอนอย่างเดียว แต่มีกิจกรรมที่มีการเคลื่อนไหวในทุกวิชาเรียน มีกิจกรรมหน้าเสาธงทุกเช้า ทั้งแอโรบิก มวยไทย รำประกอบเพลงพื้นบ้าน นอกจากนั้นยั งสนับสนุนการจัดกิจกรรมกีฬาในโรงเรียนหรือกีฬาระหว่างโรงเรียน โดยส่งเสริมให้ใช้กีฬาเป็นเครื่องมือกระตุ้นสร้างคุณธรรมจริยธรรม ความตรงต่อเวลา การทำงานเป็นทีมก็จะเกิดขึ้น
สำหรับ กิจกรรมโรดโชว์ โครงการกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในสถานศึกษา จะจัดขึ้นใน 4 ภูมิภาค คือ ภาคกลาง ระหว่างวันที่ 5 - 7 กรกฎาคม 2560 ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน จังหวัดนครปฐม ภาคเหนือ ระหว่างวันที่ 24 - 26 กรกฎาคม 2560 จังหวัดเชียงราย ภาคตะวันออก ระหว่างวันที่ 31 กรกฎาคม - 2 สิงหาคม 2560 จังหวัดชลบุรี ภาคใต้ ระหว่างวันที่ 16 - 18 สิงหาคม 2560 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระหว่างวันที่ 21 - 23 สิงหาคม 2560 จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดหรือความคืบหน้าของกิจกรรมในโครงการฯ ได้ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ActivePlayActiveSchool
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก MGR Online วันที่ 5 กรกฎาคม 2560