เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 เว็บไซต์กระทรวงศึกษาธิการ ได้เผยแพร่ข่าวสำนักงานรัฐมนตรี กระทรวงศึกษาธิการ ที่ 345/2560 เรื่อง 5 กรกฎาคม 2560 ศธ.ประกาศใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในการประเมินวิทยฐานะ "จากพระราชกระแสฯ สู่การพัฒนาครูทั้งระบบ" โดยมีเนื้อหาข่าว ดังนี้
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานแถลงข่าวการปรับหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะและการพัฒนาข้าราชการครูแนวใหม่ "จากพระราชกระแสฯ ... สู่การพัฒนาครูทั้งระบบ" เมื่อวันพุธที่ 5 กรกฎาคม 2560 ณ หอประชุมคุรุสภา โดยมีผู้บริหารกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมแถลงข่าว อาทิ พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ, นายพินิจศักดิ์ สุวรรณรังค์ เลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีความห่วงใยต่อคุณภาพการศึกษาของชาติ โดยทรงมีพระราชหัตถเลขา เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ความว่า “ปัญหาปัจจุบันคือ ครูมุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ เขียนตำราส่งผู้บริหาร เพื่อให้ได้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้น แล้วบางทีก็ย้ายไปที่ใหม่ ส่วนครูที่มุ่งการสอนหนังสือกลับไม่ได้อะไรตอบแทน ระบบไม่ยุติธรรม เราต้องเปลี่ยนระเบียบตรงจุดนี้ การสอนหนังสือต้องถือว่าเป็นความดีความชอบ หากคนใดสอนดี ซึ่งส่วนมากคือมีคุณภาพและปริมาณ ต้องมี reward” และมีพระราชดำรัสว่าระบบนี้ไม่ยุติธรรม จึงต้องเปลี่ยน โดยทรงเน้นว่าครูที่สอนดีทั้งปริมาณและคุณภาพ ควรจะได้รับการตอบแทน
ประกอบกับที่ผ่านมา เราถูกกล่าวหามาโดยตลอดว่าการประเมินวิทยฐานะเป็นระบบที่ทำให้ครูต้องละทิ้งห้องเรียน เกิดการลอกและจ้างทำวิทยานิพนธ์ หรือแม้กระทั่งมีครูบางคนจ้างนักเรียนทำผลงาน อีกทั้งยังเป็นระบบที่มีหลายขั้นตอนและใช้งบประมาณจำนวนมาก โดยครู 1 คน จะต้องใช้กรรมการผู้ประเมินถึง 3 คน เท่ากับการประเมินข้าราชการครูในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่มีอยู่กว่า 4 แสนคน จะต้องใช้กรรมการผู้ประเมินกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งแน่นอนว่าเรามีบุคลากรไม่เพียงพอ จึงต้องใช้วิธีวนไปมา ทำให้การประเมินไม่ยุติธรรม และใช้งบประมาณสูงมากถึงปีละหลายพันล้านบาท
กระทรวงศึกษาธิการได้ตระหนักและดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยน้อมนำแนวทางพระราชทานของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นแนวทางในการดำเนินการปรับหลักเกณฑ์ประเมินวิทยฐานะใหม่จนประสบความสำเร็จในครั้งนี้ ถือว่าวันนี้เป็นวันครบรอบ 5 ปี เป็นวันประวัติศาสตร์ที่จะเริ่มต้นใช้หลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะใหม่ ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชหัตถเลขาแนะนำทำให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาด้านการพัฒนาครูครั้งใหญ่ ที่มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ที่ให้คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาดำเนินการจัดทำข้อเสนอในเรื่องของการปฏิรูปครู กระบวนการต่าง ๆ สอดคล้องกันทั้งระบบ
เชื่อว่าการประเมินวิทยฐานะแนวทางใหม่นี้ จะช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านมา ทำให้เกิดการประเมินที่เป็นธรรม โดยเฉพาะครูที่อยู่แต่ในห้องเรียน ครูที่ตั้งใจสอน จะได้รับการตอบแทนที่มีความเหมาะสมมากขึ้น ส่วนข้อมูลที่ได้ทราบมาว่า มีครูจำนวนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินวิทยฐานะแบบใหม่ และต้องการจะขอใช้หลักเกณฑ์เดิม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สำนักงาน ก.ค.ศ.) จึงได้จัดทำบทเฉพาะกาล กำหนดรายละเอียดการประเมินวิทยฐานะกรณีผู้ที่บรรจุก่อนวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ให้สามารถยื่นขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะตามแบบเดิมได้เพียง 1 ครั้ง ภายในเวลา 1 ปี ส่วนผู้ที่บรรจุหลังวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 ให้ยื่นขอตามหลักเกณฑ์ใหม่เท่านั้น
แต่สำหรับครูอีกกลุ่มที่จะขอกลับไปใช้เกณฑ์เดิมตลอดไป โดยอ้างว่าเป็นสิทธิที่พึงจะได้รับ จะขอชี้แจงเพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า "วิทยฐานะเป็นเรื่องของค่าตอบแทน ไม่ได้เป็นสิทธิ" ดังนั้นจึงต้องมีมาตรฐาน และหากมาตรฐานที่มีอยู่เดิมไม่ดีก็ต้องมีการทบทวนปรับปรุง ซึ่งการปรับหลักเกณฑ์วิทยฐานะในครั้งนี้ ก็เป็นการทบทวนของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาด้วยกันเอง จึงเป็นเรื่องที่ต้องยอมรับกัน
นพ.ธีระเกียรติ กล่าวด้วยว่า ในวันนี้ยังถือเป็นการเริ่มต้นการอบรมพัฒนาครูแนวใหม่ โดยสถาบันคุรุพัฒนาด้วย ที่จะทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานเชื่อมโยงหน่วยงานผู้จัดหลักสูตรอบรมพัฒนาครูที่มีความเชื่อมโยงกับเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (หลักเกณฑ์วิทยฐานะ) โดย สพฐ.ได้จัดสรรงบประมาณสำหรับอบรมพัฒนาครู จำนวน 10,000 บาทต่อคนต่อปี เพื่อให้ครูได้เลือกหลักสูตรที่จะพัฒนาตนเองได้ตามความต้องการ โดยครูที่มีความสนใจสามารถประสานขอรับงบประมาณสำหรับการอบรม ได้ที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาทุกแห่ง ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
---------------------------
นวรัตน์ รามสูต, บัลลังก์ โรหิตเสถียร: สรุป/รายงาน
อิทธิพล รุ่งก่อน: ถ่ายภาพ
5/6/2560
ขอบคุณที่มาจาก กระทรวงศึกษาธิการ วันที่ 5 กรกฎาคม 2560