"หมอธี" ยกพระราชกระแสฯ ร.9 ปลุกพัฒนาครูทั้งระบบ ชี้เกณฑ์วิทยฐานะใหม่ไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเรื่องของมาตรฐาน หมดอายุโปรโมชั่นจากเกณฑ์เก่า พิสูจน์ครูที่ได้ขั้นไม่ส่งผลต่อคุณภาพผู้เรียน แต่มีบทเฉพาะกาลรองรับกลุ่มค้างท่อ ส่วนผู้มีคุณสมบัติครบยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17/255 ได้อีกคนละ 1 ครั้ง ถามคนขอมีวิทยฐานะชำนาญการและชำนาญการพิเศษภายในปีเดียว มีชั่วโมงบินพอแล้วหรือ พร้อมเปิดงานปฏิรูปการศึกษา แก้เหลื่อมล้ำ ขจัดวิกฤติโรงเรียนไอซียู ปี 61 ตั้งงบช่วยเหลือเพิ่มอีก 1 พันล้าน
ที่หอประชุมคุรุสภา นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน "จากพระราชกระแสฯ...สู่การพัฒนาครูทั้งระบบ" ซึ่งเป็นการเปิดตัวสถาบันคุรุพัฒนา พร้อมประกาศใช้หลักเกณฑ์และวิธีการให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครู มีและเลื่อนวิทยฐานะอย่างเป็นทางการ โดยมีผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และครูเข้าร่วม นพ.ธีระเกียรติกล่าวว่า สืบเนื่องจากพระราชกระแสฯ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2555 ที่ทรงห่วงใยต่อคุณภาพการศึกษาของชาติ ที่ประสงค์ให้ครูที่มุ่งสอนหนังสืออย่างมีคุณภาพ ทั้งปริมาณและคุณภาพได้รับสิ่งตอบแทน ไม่ใช่มุ่งเขียนงานวิทยานิพนธ์ ตำราส่งผู้บริหาร ประกอบกับที่ผ่านมาการประเมินวิทยฐานะไม่ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน ทั้งยังสิ้นเปลืองงบประมาณ ศธ.จึงดำเนินการพัฒนาครูทั้งระบบ โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมินวิทยฐานะครูใหม่ และจัดตั้งสถาบันคุรุพัฒนาเพื่อรับช่วงพัฒนาครูแนวใหม่ โดยจัดหลักสูตรอบรมให้ครูเลือกตามความต้องการ ครูจะได้งบประมาณ 1 หมื่นบาทต่อคนต่อปี ซึ่งขณะนี้จัดสรรงบลงเขตพื้นที่ฯ ไปแล้ว ครูสามารถไปยื่นความประสงค์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
"ส่วนที่มีครูระบุว่าเสียสิทธิและเรียกร้องขอให้ใช้เกณฑ์วิทยฐานะเดิมกับครูเก่าไปตลอดนั้น เรื่องของวิทยฐานะไม่ใช่สิทธิ แต่เป็นเรื่องของมาตรฐาน เมื่อเกณฑ์เก่าไม่ยุติธรรม ไม่มีประสิทธิภาพ ก็ต้องปรับปรุง ขณะนี้โปรโมชั่นเก่าได้หมดลงแล้ว อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา (ก.ค.ศ.) เห็นใจครู เพราะเป็นการเปลี่ยนเกณฑ์กะทันหัน จึงมีบทเฉพาะกาลให้ครูที่ค้างท่อ หรือกำลังเตรียมจะยื่นประเมินวิทยฐานะ รวมทั้งผู้ที่มีคุณสมบัติครบหลังวันที่ 5 กรกฎาคมนี้ สามารถที่จะยื่นขอตามเกณฑ์ ว.17/255 ได้อีกคนละ 1 ครั้ง แต่จะให้ใช้เกณฑ์เก่าถาวรไม่สามารถทำได้ รวมถึงผู้ที่มีวิทยฐานะชำนาญการจะขอชำนาญการพิเศษภายในปีเดียว อยากถามว่ามีชั่วโมงบินเพียงพอหรือไม่” รมว.ศธ.กล่าว
จากนั้น นพ.ธีระเกียรติได้ไปยังบริเวณสนามหญ้าคุรุสภา เพื่อเยี่ยมชมกิจกรรม “ปฏิรูปการศึกษา แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ร่วมทำ ร่วมคิด ขจัดวิกฤติโรงเรียนไอซียู” จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) พร้อมกับกล่าวว่า เป็นการรายงานความก้าวหน้าโครงการโรงเรียนไอซียู ซึ่งเป็นอีกหนึ่งพระราชกระแสฯ ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่ง สพฐ.ได้เดินหน้าช่วยเหลือโรงเรียนไอซียู จำนวน 5,032 โรง แบ่งเป็น โรงเรียนไอซียูกลุ่มฉุกเฉิน 2,259 โรง กลุ่มเร่งด่วน 1,925 โรง และไม่ฉุกเฉิน 848 โรง ระยะแรก สพฐ.ได้ช่วยเหลือไปแล้วกว่า 80 ล้านบาท ส่วนระยะที่สอง จำนวน 500 ล้านบาท และได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนอีกกว่า 30 ล้านบาท และในระยะที่ 3 สพฐ.ได้ตั้งงบประมาณปี 2561 เพื่อช่วยเหลือเพิ่มเติมอีก 1,000 ล้านบาท เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทั้งด้านกายภาพ โครงสร้าง สื่อการเรียนการสอนและครูไม่ครบชั้น ซึ่งสิ่งที่ ศธ.ดำเนินการมาทั้งหมดถือเป็นการปฏิรูปการศึกษาครั้งสำคัญ.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 6 กรกฎาคม 2560