"พัทธนันท์" หนุนผลิตครู 4 ปี ชี้การผลิตครู 5 ปีไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพของเด็กไทยอย่างเห็นได้ชัด ทั้งยังเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น
นางสาวพัทธนันท์ หรรษาภิรมย์โชค อดีตรองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) วิทยาเขตกำแพงแสน กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการคุรุสภามีมติเห็นชอบในหลักการการให้กลับไปผลิตครูหลักสูตร 4 ปี ว่า ตนสนับสนุนมติดังกล่าว เนื่องจากหลักสูตรการผลิตครู 5 ปีที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 ไม่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านคุณภาพของเด็กไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยดูได้จากผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต และโครงการประเมินผลนักเรียนร่วมกับนานาชาติ หรือพิซา ที่มีแนวโน้มลดลงตลอด ขณะที่เวลาในการจัดการเรียนการสอนมากเกินไปเมื่อเทียบกับหลักสูตรการผลิตครูในต่างประเทศ ซึ่งใช้เวลาเพียง 3-4 ปี ก็สามารถผลิตครูที่มีคุณภาพ และคะแนนผลการสอบพิซาของเด็กต่างประเทศก็สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกด้วย ซึ่งสถาบันการผลิตครูต้องตระหนักถึงหลักความคุ้มค่าการลงทุนด้านการผลิตครูว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่
นางสาวพัทธนันท์กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ผู้ที่เรียนวิชาชีพครูหลักสูตร 5 ปี ยังเสียเปรียบด้านเศรษฐกิจเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่นที่ใช้ระยะเวลาเรียนเพียง 4 ปีก็สามารถประกอบอาชีพได้ รวมถึงยังเป็นภาระกับผู้ปกครอง เนื่องจากต้องส่งบุตรหลานเรียนถึง 5 ปี แต่จบออกมาได้รับเงินเดือนไม่แตกต่างกับวิชาชีพอื่น และเมื่อพิจารณารายได้ของครอบครัวนิสิตนักศึกษาที่มาเรียนวิชาชีพครูส่วนใหญ่ก็ประสบปัญหาทางการเงิน จนต้องกู้ยืมเงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่สำคัญหลักสูตรการผลิตครู 5 ปียังไม่ตอบสนองกับความต้องการของโรงเรียนในประเทศอย่างแท้จริง เห็นจากผลการวิจัยการประเมินหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่ระบุถึงปัญหาของครูรุ่นใหม่ที่มีความอดทนน้อย และปรับตัวไม่ได้กับสภาพจริงของโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เพราะการฝึกประสบการณ์วิชาชีพอยู่บนมาตรฐานของโรงเรียนที่มีความพร้อมสูง แต่โรงเรียนไม่ได้มีมาตรฐานเท่าเทียมกันทั้งประเทศไทย
“นักศึกษาครูจะต้องทำวิจัยในชั้นเรียนแบบ 5 บทเหมือนวิทยานิพนธ์ ทั้งที่ความเป็นจริงในโรงเรียนเป็นเพียงแค่การแก้ปัญหากับผู้เรียนเป็นรายบุคคล ซึ่งต้องอาศัยทักษะการแก้ปัญหา หลักจิตวิทยาที่ทันต่อเหตุการณ์ ไม่ใช้ห่วงแต่การทำเอกสารที่สมบูรณ์ รวมทั้งหลักสูตรการผลิตครูก็ยังไม่สอดคล้องกับสภาพของโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ อีกทั้งจำนวนบุคลากรและสิ่งที่สนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนแต่ละขนาดก็ยังแตกต่างกัน ดังนั้นการกลับไปผลิตครูหลักสูตร 4 ปีเป็นเรื่องที่ดีและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก" นางสาวพัทธนันท์กล่าว.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก ไทยโพสต์ วันที่ 6 กรกฎาคม 2560