ประธานคณะกรรมการอิสระฯ มอบการบ้าน ศธ. ปรับระบบประเมินผลของชาติ หวังรู้จุดเด่นเด็กเป็นรายคน เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษา พร้อมจัดทำฐานข้อมูลการศึกษาเพื่อใช้บริหารจัดการการศึกษาของประเทศ
วันนี้ (4 ก.ค.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฎิรูปการศึกษา ได้มาหารือกับตนถึงแนวทางการปฎิรูปการศึกษา โดยฝากการบ้าน ศธ.ให้ช่วยดำเนินการในสองเรื่อง คือ 1.การปรับระบบประเมินผลนักเรียนระดับชาติทุกช่วงชั้นตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 3 และ 6 มัธยมศึกษาปีที่ 3 และ 6 และ 2.การจัดทำระบบฐานข้อมูลนักเรียน ซึ่งในเร็วๆนี้ ศธ.จะนัดองค์กรหลัก ศธ. รวมถึงผู้รับผิดชอบการประเมินผลนักเรียน เช่น สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) มาหารือร่วมกับ ศ.นพ.จรัส เพื่อวางกรอบแนวทางร่วมกัน สำหรับการปรับระบบการประเมินผลนักเรียนระดับชาติทุกช่วงชั้นนั้นจะต้องสอดคล้องใน 3 เรื่องตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้แก่ คุณธรรมจริยธรรม ทักษะในศตวรรษที่ 21 และความรู้พื้นฐานที่จำเป็น โดยระบบการประเมินผลนักเรียนระดับชาติรูปแบบใหม่จะต้องเป็นมาตรฐานกลางในการวัดและประเมินผลเหมือนกับการสอบวัดมาตรฐานด้านภาษาอังกฤษ (โทเฟล) และการสอบเปรียญธรรมของโรงเรียนสงฆ์ ที่มีมาตรฐานกลางเป็นที่ยอมรับ
“ศ.นพ.จรัส มองว่าไม่อยากให้การประเมินผลของนักเรียนเป็นการวัดและประเมินผลว่าใครสอบตกหรือสอบได้ หรือแม้กระทั่งเด็กคนไหนมีคะแนนสอบสูงหรือต่ำ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่การตอบโจทย์ปฎิรูปการศึกษาที่แท้จริง จึงอยากให้การประเมินผลนักเรียนแบบใหม่เป็นการดึงศักยภาพของเด็กแต่ละคนออกมาเหมือนใยแมงมุมที่จะระบุว่าเด็กแต่ละคนมีจุดเด่นจุดด้อยตรงไหน และเลือกศักยภาพของเด็กมาใช้ได้อย่างตรงจุด อีกทั้งจะทำให้ครูผู้สอนได้ทราบถึงทักษะของเด็กแต่ละคนด้วย เพื่อที่จะแก้ปัญหาคุณภาพการศึกษาได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้เมื่อมีการปรับระบบประเมินผลนักเรียนใหม่แล้วการเรียนการสอนในห้องเรียน และหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานจะต้องปรับล้อตามไปด้วยเช่นเดียวกัน” ปลัด ศธ.กล่าว
ดร.ชัยพฤกษ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนการจัดทำระบบฐานข้อมูลนักเรียนนั้นจะนัดหารือร่วมกับฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของ ศธ.ในเร็วๆนี้เช่นเดียวกัน ซึ่งเรื่องนี้ ศ.นพ.จรัส เห็นว่ากำลังเป็นวิกฤตสำคัญ เพราะขณะนี้รัฐบาลได้มีนโยบาย Digital Economy การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมาใช้ ดังนั้นในส่วนของ ศธ.ก็จะต้องมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลการศึกษา เพื่อให้เชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆได้ทั้งในสังกัดและนอกสังกัด ศธ. ซึ่งทางคณะกรรมการอิสระฯ ก็พร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่หากจะต้องมีการผลักดันให้มีกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้เกิดขึ้น โดยระบบฐานข้อมูลการศึกษาจะใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อบริหารจัดการการศึกษาของประเทศ เช่น การของบประมาณ ข้อมูลเด็กตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึงเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา อีกทั้งเด็กคนไหนหลุดออกนอกระบบการศึกษา และจบการศึกษาไปแล้วทำงานที่ไหน โดยข้อมูลเหล่านี้จะเชื่อมโยงไปถึงโรงเรียนด้วย
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม 2560 เวลา 13.36 น.