กลุ่มมรภ.ปรับยุทธศาสตร์ผลิตครูแนวใหม่ เน้นหลักสูตรให้นักศึกษาครูมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ เพื่อตอบโจทย์ท้องถิ่น และตอบโจทย์ครูของประเทศ
วันนี้( 3 ก.ค.) ดร.ชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการหารือร่วมระหว่าง พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศธ. ศ.กิตติคุณ นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา และตน เมื่อเร็วๆนี้ ทราบว่ากลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ที่ทรงมีต่อมหาวิทยาลัยราชภัฏมาอย่างต่อเนื่อง โดย มรภ.จะร่วมกันปรับยุทธศาสตร์การผลิตครูของ มรภ.ใหม่ ให้ครูที่จบจาก มรภ.ออกมาเป็นครูแนวใหม่ที่ตอบโจทย์ท้องถิ่น ตอบโจทย์ครูของประเทศได้
"การปรับภาพลักษณ์ครูที่จบจาก มรภ.และยุทธศาสตร์การผลิตครูแนวใหม่นั้น จะปรับปรุงโดยพิจารณาจากความต้องการ หรือ ความคาดหวังที่มีต่อครูในปัจจุบัน เริ่มตั้งแต่การผลิตครูระบบปิด การพัฒนาครูของครู การปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครู การจัดการเรียการสอนคุรุศึกษา ซึ่งในส่วนของหลักสูตรจะเพิ่มให้นักศึกษาครูมีความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษมากขึ้น สามารถคัดกรองเด็ก จำแนกเด็กปกติ กับเด็กพิเศษได้ มีทักษะในการจัดการเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ หรือแอคทีฟเลินนิ่ง ซึ่งเบื้องต้น ศธ.ได้เห็นชอบในหลักการแล้ว และจะหารือในรายละเอียดกับ มรภ.ต่อไป " ปลัด ศธ.กล่าวและว่า ทั้งนี้ ตนเชื่อว่าไม่เฉพาะ มรภ.เท่านั้น คณะครุศาสตร์/ศึกษาศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ ที่ทำหน้าที่ผลิตครูต่างก็กำลังปรับยุทธศาสตร์การผลิตและพัฒนาครูเช่นกัน โดยคำนึงถึงอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มสถานศึกษา
ปลัด ศธ.กล่าวต่อไปว่า ส่วนการให้มหาวิทยาลัยราชภัฏทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงในการพัฒนาท้องถิ่น นั้น มั่นใจว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏจะทำหน้าที่ได้ดี อย่างไรก็ตามพบว่าหลายมหาวิทยาลัยได้ปรับการทำงานให้เป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการทำงานร่วมกับประชาชนในพื้นที่ และประชาชนได้ประโยชน์โดยตรง โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาอาชีพในท้องถิ่นให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 3 กรกฎาคม 2560 เวลา 10.24 น.