สสค.ชี้ยุทธศาสตร์สู่ประเทศไทย 4.0 ต้องปลดล็อกศักยภาพคนกลุ่ม “Bottom 40%”
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ ธนาคารโลก (World Bank) จัดแถลงข่าว “ถอดรหัสผล PISA 2015 เด็กด้อยโอกาส-ยากจน ความหวังที่คาดไม่ถึง สู่เป้าหมาย Thailand 4.0” หลังพบเด็ก “ด้อยโอกาส-ยากจนไทย” ส่วนหนึ่งมีคะแนนสูงระดับโลก แต่ยังขาดแรงหนุนจากภาครัฐ เสี่ยงสูญเสียคนเก่งระดับหัวกะทิของประเทศไปสู่ตลาดแรงงานไร้คุณภาพ สสค.ชี้ยุทธศาสตร์สู่ไทยแลนด์ 4.0 ต้องปลดล็อกศักยภาพคนกลุ่ม “Bottom 40%” ด้านธนาคารโลกระบุ ความสำเร็จต่างชาติพิสูจน์ชัด ไทยต้องเร่งลงทุนเรื่องการวิจัยพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิจัยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงข้อค้นพบใหม่ที่น่าสนใจจากการวิเคราะห์คะแนน PISA 2015 จากเกณฑ์ชี้วัดตัวหนึ่งของ OECD ที่เรียกว่า Resilient Student หรือเด็กกลุ่ม “ช้างเผือก” ที่พบกว่ามีเด็กจำนวน 30,300 คน ที่สามารถเอาชนะโชคชะตาของตนเองได้ แม้จะมีสถานภาพทางเศรษฐกิจและสังคมยากจนที่สุดของประเทศ แต่สามารถทำคะแนนสอบได้สูงที่สุดในกลุ่ม 25% สูงสุดของโลก ผลประเมินเชิงลึกของ OECD พบว่า เด็กกลุ่มนี้มีทักษะการคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในยุค 4.0 มากกว่านักเรียนที่อยู่ในกลุ่มฐานะเศรษฐกิจสังคมเดียวกัน ถึง 3 ปีครึ่ง มากกว่านักเรียนกลุ่มเฉลี่ยของประเทศถึงเกือบ 3 ปี
“หัวใจสำคัญของการค้นพบนี้อยู่ที่การค้นหาคำตอบว่า ปัจจัยใดบ้างที่ส่งเสริมให้ เด็กช้างเผือกสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเรื่องฐานะและโอกาสทางการศึกษา มาเป็นกลุ่มนักเรียนที่มีคะแนนสอบ PISA สูงในระดับโลกได้ แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่เราค้นพบคือบทบาทของครู โดยจะเห็นว่าครูของเด็กกลุ่มช้างเผือกนั้น จะเป็นครูที่มีคุณสมบัติที่ดีกว่ากลุ่มอื่นๆ มีกระบวนทัศน์แบบพระแสวง หรือ Growth Mindset ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติในการเรียนรู้ของเด็กมาก และส่งผลต่อคะแนนของเด็กในกลุ่มนี้ด้วย โดยสิ่งที่น่าเป็นห่วงจากการศึกษาในครั้งนี้ก็คือ เด็กจำนวน 30,300 คนนี้กลับมีความคาดหวังกับอาชีพของตัวเองน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ทำให้พวกเขาไม่ได้มีโอกาสศึกษาต่อในสาขาอาชีพที่มีความถนัดและต้องการ บางส่วนจบ ม.3 ก็ออกสู่ตลาดแรงงานกลายเป็นผู้ใช้แรงงานด้อยทักษะ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดายสำหรับสังคมไทยที่ต้องสูญเสียคนเก่งที่มีศักยภาพไป”
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ ธนาคารโลก กล่าวว่า จากการศึกษาประเทศที่เป็นผู้นำด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี พบว่าจะต้องมีแรงงานที่อยู่ในกลุ่มมาตรฐานสูง เพื่อไปทำงานด้านการวิจัยและพัฒนาจำนวน 7,000-8,000 คนต่อ 1 ล้านคน แต่ประเทศไทยมี 1,000 คนต่อ 1 ล้านคนเท่านั้น
“ถึงเวลาที่ประเทศไทยต้องลงทุนในด้านวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มากขึ้น จากข้อมูลตลอด 30-40 ปีที่ผ่านมา พบว่าประเทศที่รวยขึ้นมาก มีรายได้สูงขึ้นต่อเนื่องนั้นไม่มีประเทศไหนที่ไม่ลงทุนในเรื่องของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ดังนั้นเราจึงต้องลงทุนทั้งเรื่องของการการศึกษา การวิจัยและพัฒนามนุษย์ควบคู่ไปด้วยกัน เพื่อแรงงานไทยจะมีทักษะและศักยภาพที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม สามารถทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางและก้าวไปสู่เป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ได้” ดร.ดิลกะ ระบุ
ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้ช่วยผู้จัดการด้านวิจัยและนโยบาย สสค.กล่าวว่า เด็กที่มีปัญหาด้านการศึกษาของไทยส่วนใหญ่มาจากกลุ่มประชากรที่ยากจนที่สุดร้อยละ 40 ของประเทศหรือ Bottom 40% หากรัฐสามารถค้นหาและพัฒนาเด็กกลุ่มช้างเผือกและส่งเสริมปัจจัยบวกทางการเรียนรู้ให้กับเด็กกลุ่มนี้และกลุ่มยากจนคนอื่นๆ ไปพร้อมกัน จะทำให้เรามีแรงงานที่ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์และการคิดวิเคราะห์ในระดับสูง เพิ่มมากขึ้น ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่เป็นคอขวดของแรงงานไทยในปัจจุบัน เพราะเรามีประชากรที่มีทักษะและศักยภาพขั้นสูงไม่เพียงพอ
“การที่ประเทศไทยจะก้าวไปสู่ยุค 4.0 ได้นั้น เราจะต้องพาคนทุกกลุ่มรวมไปถึงคนในกลุ่มนี้ที่มีจำนวนมากกว่า 28 ล้านคนไปให้ได้ โดยจะต้องลดความเหลื่อมล้ำและโอกาสทางการศึกษา ด้วยการปลดล็อกให้ทุกโรงเรียนมีคุณภาพที่ดี ภาคส่วนต่างๆ ต้องเห็นความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของเด็กช้างเผือกและคนกลุ่ม Bottom 40% ให้ถึงขีดสุดโดยเฉพาะเรื่องโอกาสทางการศึกษา ทั้งสายอาชีพและสายอุดมศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่เช่นนั้นเราจะสูญเสียโอกาสจากศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวของคนกลุ่มนี้ไปอย่างมหาศาล ซึ่งการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือเด็กเยาวชนยากจนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 54 ก็เป็นอีกหนึ่งมาตรการที่หนึ่งของรัฐบาลที่จะช่วยยกระดับศักยภาพของเด็กและเยาวชนกลุ่มนี้ได้ในอนาคต และส่งผลให้ประชากรกลุ่มนี้สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานที่มีทักษะขั้นสูงได้ ซึ่งหากประเทศไม่ปลดล็อกสิ่งต่างๆ เหล่านี้เราจะไม่มีวันก้าวไปถึงเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0 ได้เลย” ดร.ไกรยส กล่าวสรุป