ส่วนกรณีให้ ผอ.โรงเรียน ดังยื่นบัญชีทรัพย์สิน เป็นเรื่องใหญ่ โยนกลองถาม ปปช.จะทำได้หรือไม่ อย่างไร
วันที่ 26 มิ.ย.60 นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีที่อดีตนายกสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และอาจารย์ด้านครุศาสตร์ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. สั่งการให้มีการแสดงบัญชีทรัพย์สินหนี้สินของระดับ ผอ.โรงเรียน ทั่วประเทศ เพื่อแก้ปัญหาการเรียกรับเงินจากผู้ปกครอง เพื่อแลกกับการให้เด็กเข้าเรียน และกรณีที่เครือข่ายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นของชาติ (ภตช.) และคณะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อเรียกร้องให้ตรวจสอบเอาผิดผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับนักเรียนที่มีเงื่อนไขพิเศษปีการศึกษา 2560 และยกเลิกการรับนักเรียนเงื่อนไขพิเศษว่า
ตนมีนโยบายชัดเจนในเรื่องการรับเด็กเข้าเรียน และตนก็ทำเป็นตัวอย่างว่าไม่มีการฝากเด็กแน่นอน ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยนั้น ได้สั่งการให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เร่งดำเนินการตรวจสอบ จะไม่ปล่อยให้คนทุจริตมาทำลายระบบ ทั้งนี้หากต้องการปรับระบบการรับนักเรียนให้มีความยุติธรรมมากขึ้น ก็ขอให้รวบรวมความคิดเห็นต่างๆ มาเสนอต่อ นายการุณ สกุลประดิษฐ์ เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ส่วนที่จะให้ผู้อำนวยการโรงเรียนยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้น เป็นเรื่องใหญ่ เห็นว่าต้องใช้เกณฑ์ของประเทศ คงต้องไปถามคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ว่าสามารถดำเนินการได้หรือไม่ อย่างไร
นายการุณ กล่าวว่า นายวิโรฒ สำรวล ผอ.โรงเรียนสามเสนฯ จะเข้าไปทำงานในตำแหน่งที่ปรึกษา โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาโรงเรียน ในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา (สพท.) กทม. เขต1 ตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย.60 นี้เป็นต้นไป
ส่วนการสืบหาข้อเท็จจริงก็ดำเนินการต่อไป หากพบว่านายวิโรฒ ไม่มีความผิด ก็ต้องให้กลับไปทำงานที่เดิม ซึ่งเท่าที่ตนได้ตรวจสอบไปยัง สพม.กทม.เขต1 นายวิโรฒ ก็เข้ามารับหน้าที่ด้วยความเต็มใจ ส่วนการบริหารงานภายในโรงเรียนสามเสนฯ นั้นเป็นไปโดยอัตโนมัติคือให้ รอง ผอ.รักษาราชการแทนไปก่อน
"ขั้นตอนต่อไปก็ต้องเร่งดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้องหลายส่วน ทั้งในส่วนที่นายวิโรฒ ไปแจ้งความเอาผิดกับผู้เผยแพร่คลิป ตอนนี้อยากให้ทุกคน
ลองทบทวน นั่งหลับตาดูว่าตอนนี้กำลังอะไร โรงเรียนสามเสนฯ เป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ทำอะไรไม่อยากให้กระทบกับเด็กที่เรียนอยู่ อยากให้ทุกฝ่ายคิดให้ดี นึกถึงเด็กนักเรียน จะทำอะไรอย่าให้เด็กได้รับบาดเจ็บ อย่าให้เด็กรู้สึกไม่ดีกับโรงเรียนของเขา การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ต่าง ๆ ก็ดำเนินการไปตามหน้าที่ทั้ง สพฐ.เขตพื้นที่ฯ รวมถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ซึ่งก็จะพบข้อเท็จจริงลงไปเรื่อย ๆ อยากให้เข้าใจว่า สพฐ. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่การดำเนินการทุกอย่างต้องใช้เวลา เพราะต้องรอข้อมูลจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย” เลขาธิการ กพฐ. กล่าว
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก สยามรัฐออนไลน์ 26 มิถุนายน 2560