คณะกรรมการอิสระฯไม่สนปรับโครงสร้างใหญ่ในการปฏิรูปการศึกษา เน้นกระจายอำนาจให้สถานศึกษา ตั้งเป้าทำข้อเสนอแนะให้เสร็จภายใน1ปีก่อนเสนอรัฐบาล
วันนี้(20มิ.ย.)นพ.จรัส สุวรรณเวลา ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการอิสระฯว่า ที่ประชุมได้รับทราบแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2560-2579 และรายงานการวิเคราะห์ปัญหาการศึกษาไทย ที่มีความวิกฤตทั้งเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ คุณภาพการศึกษา การบริหารจัดการ ทั้งในส่วนของกระทรวงศึกษาธิการและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รวมทั้งการแปลความจากรัฐธรรมนูญว่าจะต้องดำเนินการอะไรต่อไป ดังนั้นข้อมูลที่คณะกรรมการอิสระฯจะนำมาพิจารณาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลจึงไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ขณะเดียวกันยังได้เปิดเฟซบุ๊คและไลน์ เพื่อรับฟังความเห็นร่วมปฏิรูปการศึกษาไทยด้วย อย่างไรก็ตามที่ประชุมได้เลือกรองประธานคณะกรรมการอิสระฯ จำนวน 2 ราย ได้แก่ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รองประธานคนที่ 1 นางดารณี อุทัยรัตนกิจ รองประธานคนที่ 2 พร้อมกันนี้ยังได้ตั้งโฆษกคณะกรรมการอิสระฯอีก 2 ราย คือ นางภัทรียา สุมะโน และนพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ
ประธานคณะกรรมการอิสระฯ กล่าวต่อไปว่า ที่ประชุมยังได้เลือกประธานคณะอนุกรรมการเพื่อดำเนินการตามภารกิจ 5 คณะดังนี้ คณะอนุกรรมการเด็กเล็ก มี รศ.วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ เป็นประธาน คณะอนุกรรมการกองทุน มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล เป็นประธาน คณะอนุกรรมการพัฒนาครู มีนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร เป็นประธาน คณะอนุกรรมการการจัดการเรียนการสอน มีนางยุวดี นาคะผดุงรัตน์ เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการระบบโครงสร้าง มีนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร เป็นประธาน รวมทั้งยังได้ตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นและสื่อสารสังคมขึ้น มีนายตวง อันทะไชย เป็นประธาน ทั้งนี้คณะอนุกรรมการแต่ละชุดจะต้องเชิญบุคคลภายนอกร่วมเป็นกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 1-2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตามคณะกรรมการอิสระฯตั้งเป้าที่จะจัดทำข้อเสนอแนะให้เสร็จภายใน 1 ปี เพื่อนำเสนอรัฐบาล แต่ในระหว่างนี้หากมีประเด็นสำคัญเร่งด่วนหรือจำเป็นต้องออกกฏหมายก็จะนำเสนอต่อรัฐบาลไปก่อน
“คณะกรรมการอิสระฯมีภาระที่ต้องปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้ให้สำเร็จ เพราะอาจจะไม่มีโอกาสอีกแล้ว โดยสิ่งที่กรรมการเห็นตรงกันคือการปรับโครงสร้างใหญ่ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่จะให้ความสำคัญกับการทำโครงสร้างในระดับโรงเรียน เน้นการกระจายอำนาจให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา โดยส่วนกลางปรับบทบาททำหน้าที่เป็นผู้กำกับติดตามให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน” นพ.จรัสกล่าวและว่า ส่วนตัวเห็นว่าประเทศไทยจำเป็นต้องมีสมองของประเทศ โดยมีสภาการศึกษาทำหน้าที่เป็นเสนาธิการด้านการศึกษา เพื่อดูแลการศึกษาชาติ เพราะถ้าไม่มีอาจถอยหลังได้ ส่วนจะเป็นหน่วยงานที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรีหรือไม่นั้นคงต้องรอความชัดเจนจากคณะกรรมการอิสระฯก่อน สำหรับการแยกกระทรวงการอุดมศึกษานั้น ในข้อเท็จจริงได้มีการดำเนินการเรื่องนี้ขึ้นก่อนที่จะมีคณะกรรมการอิสระฯ ดังนั้นคงต้องให้เดินหน้าต่อไป.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันอังคารที่ 20 มิถุนายน 2560 เวลา 17.20 น.