เมื่อเราปิ๊งใครสักคนที่ไม่รู้จักหัวนอนปลายเท้า จะรู้ได้อย่างไรว่าเขา/เธอคนนั้นคือคนที่ “ใช่เลย” หรือ “ไม่ใช่เลย” เชื่อหรือไม่ว่าภายในเวลาแค่ 90 วินาที ถึง 4 นาทีของการพูดคุยกัน ระบบภายในร่างกายจะช่วยเราตัดสินได้ว่า จะ “รุก” ต่อ หรือ จะ “ชิ่ง” ดี เพราะว่าในการพูดคุยอย่างสวีทหวานแหววกับบุคคลเป้าหมาย ความประทับใจและการรับรู้ข้อความจากการสื่อสารนั้น ร้อยละ 55 จะมาจากภาษากาย ร้อยละ 38 มาจากน้ำเสียงและความเร็วในการพูด และแค่ร้อยละ 7 จากสาระที่เราพูดออกไป ซึ่งหมายความว่าเพียงแต่มีลีลาดี ก็จะมีชัยไปกว่าครึ่งแล้ว

การมองตาเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่หนุ่ม/สาวเจ้าเสน่ห์ทั้งหลายยืนยันว่ามีประสิทธิภาพเหลือเกิน เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าดวงตาเป็นหน้าต่างของหัวใจ ศาสตราจารย์อาเธอร์ อรัน นักจิตวิทยาจากนิวยอร์ค ได้ทำการทดลองโดยนำชายหญิงหลายคนมาจับคู่นั่งพูดคุยกันแบบเปิดอกเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวของแต่ละคน นานหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หลังจากนั้น ให้นั่งจ้องตากันเฉยๆ โดยไม่ต้องเอื้อนเอ่ยอะไรทั้งสิ้นอีกสี่นาที ผลคือผู้ที่เข้ารับการทดลองหลายคนยอมรับว่า เกิดความสนใจในตัวของคู่ทดลอง โดยเฉพาะคู่ที่อยู่ในสายงานหรือมีระดับทางสังคมที่ใกล้เคียงกัน และมีคู่หนึ่งก้าวหน้าไปถึงขั้นแต่งงานกันเลย ในประเด็นของความรักที่เกิดจากการมองตานั้น นักวิทยาศาสตร์บอกว่าเมื่อเรารู้สึกสนใจอะไร รูม่านตาของเราจะขยาย นัยน์ตาจะดูกลมโตและเป็นประกาย ซึ่งอาจจะเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้เขา/เธอรู้ตัวก็เป็นได้ หากสาวอิตาเลียนในสมัยกลางได้รู้เรื่องนี้คงจะร้องไห้ เพราะแค่พวกเธอพบเจอคนที่ถูกใจ นัยน์ตาของพวกเธอก็จะกลมโต สวยงาม เหมือนสาวใสไร้เดียงสาได้แบบอัตโนมัติ โดยไม่ต้องเสี่ยงไปใช้น้ำสกัดจากลูกเบลลาดอนน่า (Belladonna) ซึ่งเป็นพืชจำพวกมะเขือพวงและมีพิษ มาหยอดตาเพื่อทำการขยายรูม่านตาอย่างที่นิยมทำกัน

สัญญาณอื่นๆ ที่บ่งบอกให้รู้ถึงรัก ได้แก่ การเลียนแบบ เมื่ออยู่ในโลกแห่งรักของสองเรา คนสองคนนี้ก็จะลอกเลียนแบบทุกสิ่งทุกอย่างจากกันโดยไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นการเดิน นั่ง พูด บุคลิกท่าทางต่างๆ นักวิทยาศาสตร์เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ปรากฏการณ์กระจกเงา การที่คู่รักทำอะไรที่เหมือนกัน แสดงว่าทั้งคู่เปิดใจให้กัน พร้อมที่จะยอมรับซึ่งกันและกัน นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี แต่ถึงกระนั้น ปรากฏการณ์กระจกเงาอาจเป็นอันตรายได้ เพราะมันเกิดขึ้นในกลุ่มของเพื่อนสนิทด้วยเช่นกัน ผู้ที่กำลังแอบรักเขาต้องระวังให้มาก เพราะหากตีความไม่ดีแล้ว อาจจะสับสนระหว่างสัญญาณของความรักกับมิตรภาพได้

มีบางทฤษฎีบอกว่า มนุษย์เราชอบความท้าทาย ยิ่งยากยิ่งอยากพิชิต เหมือนยอดเขาเอฟเวอเรสต์ที่มีคนแวะเวียนไปท้าทายปีนป่ายไม่เคยขาด นักวิทยาศาสตร์ทำการทดสอบเพื่อยืนยันสมมติฐานนี้ (อีกแล้ว) โดยได้ใช้คอมพิวเตอร์หาคู่ (Computer dating experiment) ทดสอบกับผู้หญิงสามคน คนแรก หญิงเอ สาวนักทดลอง อยากจะเดทซะกับทุกคนที่คอมพิวเตอร์สุ่มเลือกมาให้ คนที่สอง หญิงบี ผู้ไร้ความรู้สึก ไม่ยินดียินร้ายกับชายที่คอมพิวเตอร์จัดให้เลยสักคน คนสุดท้าย หญิงซี สาวช่างเลือก ที่กัดฟันเลือกชายผู้โชคดีมาได้หนึ่งคนจากทั้งหมดที่คอมพิวเตอร์จัดให้ จากนั้นถามความเห็นผู้ชายทั้งหมดที่เป็นตัวเลือกในคอมพิวเตอร์ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า สาวขี้เลือกเบอร์สามกับสามจอมหยิ่งเบอร์สองเนี่ย โดนใจที่สุด

เรื่องการผจญภัยก็สำคัญไม่น้อย มีหลายคนบอกว่า ถ้าคนเราผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบาก สยดสยอง โหดร้าย ทารุณมาด้วยกัน จะยิ่งทำให้เข้าใจกันดีขึ้น นักวิทยาศาสตร์ยืนยันว่าจริง แต่ทว่าคนมักจะเข้าใจผิดไปเองว่าความรู้สึกดีๆ ที่เกิดขึ้นหลังผ่านพ้นช่วงเวลาวิกฤตนั้นเป็นความรัก ถ้าการออกเดทที่สวนสนุก (โดยมีข้อแม้ว่าต้องเล่นเครื่องเล่นผาดโผนหวาดเสียวด้วยกัน) จะช่วยกระชับความสัมพันธ์ให้แนบแน่นขึ้นแล้วนั้น การจับคู่กระโดดบันจี้จัมพ์ด้วยกันน่าจะทำให้ความสัมพันธ์ยิ่งแน่นแนบไปถึงขั้นเป็นคู่แท้ตลอดกาลเลยทีเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นคนจะอยู่ด้วยกันได้ ก็ย่อมจะต้องมีอะไรที่คล้ายกันบ้าง คนที่มีระดับความกล้าบ้าบิ่นและชอบอะไรที่สยองๆพอๆกัน ก็เหมาะแล้วที่จะเป็นคู่รักคู่ทรโหด

รักเพราะอะไร

เมื่อคบหากันไปสักระยะ หลายคนเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ฉันประทับใจเขา/เธอคนนี้ที่ตรงไหน รูปลักษณ์ภายนอกเป็นสิ่งแรกที่ทำให้ชาย/หญิงเกิดอาการสะดุดรัก ในขณะที่ยังมีอีกหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้เราเกิดอาการดังกล่าวได้ โดยชายและหญิงก็จะมีกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันอยู่ในใจ บางคนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าตัวเองช่างเลือกขนาดไหน

ความไม่สมดุลเป็นสัญญาณที่แสดงถึงความบกพร่องของยีน ดังนั้นผู้ชายส่วนมากจึงมองผู้หญิงที่รูปลักษณ์ภายนอก เพื่อยืนยันว่าผู้ชายให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก จึงมีคนคิดสูตรคำนวณหาสัดส่วนของผู้หญิงในอุดมคติออกมา โดยยกให้รูปทรงของนาฬิกาทรายที่มีเอวคอดกิ่วเป็นต้นแบบ สูตรคำนวณมีว่า ขนาดรอบเอว ¸ รอบสะโพก ต้องเท่ากับ 0.7 ถ้าได้ค่าประมาณนี้ หญิงผู้นั้นถือว่ามีสัดส่วนที่ได้รับการยอมรับอย่างท่วมท้นจากชายทั้งโลก มีการยืนยันทฤษฏีหุ่นนาฬิกาทรายนี้โดยนำค่าสัดส่วนของผู้ชนะการประกวดมิสอเมริกาแต่ละปีมาคิดและพบว่าได้ 0.7 เกือบทุกคน หลายคนเชื่อว่าหญิงที่มีหุ่นนาฬิกาทรายจะมีคุณสมบัติที่ดีที่เหมาะแก่การสืบพันธุ์ด้วย ในขณะที่ผู้ชายมุ่งมั่นเสาะหาหญิงในฝันจากเปลือกนอก ผู้หญิงเองกลับไม่ได้ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย พวกเธอกลับมองที่ความสามารถในด้านต่างๆ และภาวะผู้นำที่มีอยู่ในตัวของผู้ชายมากกว่า

จุดร่วมของความเหมือนก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ผู้คนพยายามมองหาในตัวของคู่รัก เราเคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า คนเป็นเนื้อคู่กัน จะหน้าเหมือนกัน คำพูดนี้มีความเป็นไปได้ นักวิทยาศาสตร์บอกว่าคนเราจะให้ความสนใจคนที่ดูคล้ายตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นรูปร่าง หน้าตา หรือบุคลิกภาพ และแม้จะไม่มีความใกล้เคียงในสิ่งที่กล่าวมานี้อยู่เลย ก็อย่าเพิ่งหมดหวังว่าเขา/เธอนั้นจะไม่ใช่คู่แท้ของเรา เพื่อช่วยให้คู่รักที่เกือบหมดหวังกลับมามีกำลังใจอีกครั้ง นักวิทยาศาสตร์จึงเสนอจุดสังเกตของความเป็นคู่แท้เพิ่มเติมอีกห้าหกอย่าง ได้แก่ ความยาวของนิ้วกลาง ขนาดของใบหู ความยาวของติ่งหู ขนาดรอบคอและรอบข้อมือ ปริมาตรของปอด และอัตราการเผาผลาญสารอาหาร ซึ่งถ้าจะมาเสียเวลานั่งหาว่าสิ่งนี้เธอมีเหมือนฉัน สิ่งนั้นของฉันเหมือนเธอแล้ว คู่รักควรจะเอาเวลาไปดูแลซึ่งกันและกันเพื่อรักษาความสัมพันธ์ให้ยาวนานจะดีกว่า

กว่าจะรู้ใจกันต้องใช้เวลา ในการพบเจอกันของคนแปลกหน้าสองคน ซึ่งไม่มีแม้เวลาจะให้ทำความรู้จักกัน “หน้าตา” จึงเป็นสิ่งแรกที่ถูกใช้นำมาตัดสินตัวบุคคล เดวิด เพอร์เรตต์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ ในสก๊อตแลนด์ ทำการศึกษาเพื่อที่จะรู้ให้ได้ว่า ต้องมีหน้าตาอย่างไรจึงจะสะกิดใจคน เดวิดได้นำภาพใบหน้าของนักศึกษาที่เข้าทำการทดลองมาทำให้เป็นเพศตรงข้าม แล้วเอาไปปนกับรูปอื่นๆ ก่อนจะให้กลุ่มนักศึกษาเหล่านั้นเลือก พวกเขาส่วนใหญ่เลือกรูปของตัวเองโดยที่ไม่ได้เฉลียวใจเลยว่าหลงรักตัวเองเข้าให้แล้ว เดวิดอธิบายเรื่องนี้ว่า ส่วนหนึ่งอาจมาจากความทรงจำในวัยเด็กที่เห็นภาพใบหน้าเดิมๆ ของบุคคลสองคน คือพ่อและแม่ ซ้ำไปซ้ำมาเป็นประจำทุกวัน จนเกิดเป็นความฝังใจ

การจะรัก จะเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ หลายคนยังยืนยันว่าเรื่องของเหตุผลสำคัญน้อยกว่าจิตใจ แม้เขา/เธอจะรวย เก่ง ดูดี มีตระกูล แต่ถ้าอารมณ์มันไม่ได้ มันก็ไม่ใช่ ในโลกสีชมพูของความรัก นักวิทยาศาสตร์กลับทำลายความโรแมนติกแบบสามัญชนเสียหมดสิ้นด้วยทฤษฎีรักที่โรแมนติกกว่า คือ รักนางให้ดูที่ยีน การเลือกคู่ครองคือการเลือกบุคคลที่มียีนดีเลิศ ดีกว่า หรือ(อย่างน้อย)ดีเท่ากับเรา มาเพื่อร่วมกันผลิตทารกรุ่นใหม่ที่แข็งแรง ฉลาด หน้าตาดี ไม่มีโรค

ยามแรกรัก น้ำต้มผักก็ว่าหวาน แล้วความรักของเราล่ะ จะยาวนานไปถึงเมื่อไหร่? คำถามนี้ตอบยาก แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีเบาะแสเล็กๆ น้อยๆ พอให้นักวิทยาศาสตร์เอามาอ้างอิงประกอบวิชาหลักการเลือกคู่ขั้นสูงได้ โดยหลักการมีว่า ความน่าจะเป็นของการหย่าร้างสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรม เพราะฉะนั้นให้ทำความรู้จักตัวเขา/เธอ และต้นตระกูลของเขา/เธอให้ดีก่อนตัดสินใจ ส่วนผู้ที่คิดจะรักฝาแฝด โปรดจำไว้ว่าชีวิตของฝาแฝดนั้นเป็นแบบแปรผันตรง ไม่ว่าคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จในการใช้ชีวิตคู่มากน้อยแค่ไหน ชีวิตของอีกคนก็จะเป็นไปในทิศทางเดียวกันเสมอ อย่างไรก็ตาม รักยืนยงของแต่ละคู่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นภูมิหลังของการพบรัก การยอมรับและปรับตัวเข้าหากัน หรือความคาดหวังในตัวของแต่ละคน เป็นต้น

เป็นไปได้เพราะรัก

เศร้า เหงา ..เพราะรัก อาการนี้อธิบายได้ด้วยผลการศึกษาจากประเทศอิตาลีที่ระบุว่า คนที่กำลังมีความรักมักจะเป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive Disorder – OCD) อาการคือ สติไม่อยู่กะร่องกะรอย คอยแต่กังวลว่าปิดประตู ปิดหน้าต่างแล้วหรือยัง ชักโครกหรือเปล่า หรือชอบล้างมือบ่อยๆ เพราะคิดว่าไม่สะอาด อะไรทำนองนี้ โรคย้ำคิดย้ำทำมีความสัมพันธ์กับระดับของเซโรโทนิน (Serotonin) แบบปฏิภาคผกผัน ยิ่งเซโรโทนินต่ำ ความเศร้า เหงา โกรธก็จะยิ่งมาก เรื่องนี้ไม่ได้พูดกันลอยๆ มีการวัดระดับเซโรโทนินในกลุ่มทดลองซึ่งเป็นนักศึกษาที่กำลังมีความรัก พบว่าระดับเซโรโทนินในร่างกายของพวกเขาลดลงถึงร้อยละ 40 จากปกติ อย่างไรก็ตาม ผล(เสีย)จากการตกหลุมรักนี้ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งปี (โดยที่นักศึกษาเหล่านี้ยังรักษาความสัมพันธ์ฉันท์คนรักเอาไว้ได้) ระดับเซโรโทนินของพวกเขากลับคืนมาสู่ระดับปกติ ช่างเป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง เพราะหากระดับเซโรโทนินยังต่ำอยู่ โอกาสที่พวกเขาจะเกรี้ยวกราดอาละวาดยิ่งสูง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ชาย ระดับความต้องการมีเพศสัมพันธ์ก็จะมีมากขึ้นด้วยเช่นกัน

แอนเดรียส บาร์เทลส์ และเซเมียร์ เซกี แห่ง University College London ใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า Functional Magnetic Resonance Imaging (fMRI) แสกนและถ่ายรูปสมอง เพื่อศึกษาการทำงานของสมองของผู้ที่กำลังมีความรัก โดยให้ผู้เข้าทำการทดลองทั้งหมดดูรูปของคนรักที่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งและคนที่รู้สึกชอบพอกันฉันท์เพื่อน ทั้งสองคนพบว่าพื้นที่สี่ส่วนของสมองมีการทำงาน และมีเพียงหนึ่งจุดที่ไม่ทำงาน โดยหนึ่งในบริเวณที่สมองทำงานได้แก่บริเวณที่จะมีบทบาทเมื่อเวลาเราเกิดความรู้สึกประหลาดที่ยากจะเข้าใจ และอธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผล หรือที่เรียกว่า Gut feelings และอีกส่วนคือจุดที่จะตอบสนองเวลาร่างกายได้รับสารที่มีฤทธิ์กล่อมประสาท ที่ทำให้รู้สึกสบาย สนุกสนาน เหมือนคนเสพกัญชา ส่วนบริเวณที่ไม่ตอบสนองเลยคือสมองส่วนที่เรียกว่า Prefrontal cortex ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมปฏิกริยาสนองตอบร่างกายเวลาที่จิตใจถูกกระตุ้น ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ก็พบว่าสมองส่วนนี้จะไม่ทำงานเช่นกัน ด้วยเหตุจากการทดลองดังกล่าว คนบางกลุ่มจึงได้ให้นิยามของ “รัก” ว่าเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่ง เมื่อเสพแล้วทำให้สดชื่นรื่นรมย์ เคลิบเคลิ้มเป็นสุข ตื่นตัว มีพละกำลัง การเสพต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะส่งผลข้างเคียงที่รุนแรงพอตัว ทำให้เกิดอาการประสาทหลอน ชอบฟังเพลงรัก ไม่กินอาหาร ไม่หลับไม่นอน และมีความแปรปรวนทางอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ความรุนแรงของอาการที่เกิดจากรัก จะมีมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับปริมาณที่เข้าตรงสู่สมอง โดยอาจจะออกฤทธิ์อยู่ได้นานตั้งแต่ 1 วันจนถึงชั่วชีวิต

ใครที่เกิดมาคู่กับฉัน

นักวิทยาศาสตร์บางคนเชื่อว่าฟีโรโมน (Pheromones) จากตัวเรา เป็นกุญแจสำคัญในการคัดสรรคนที่คู่ควรมาเป็นคู่ชีวิต ในเผ่าพันธุ์สัตว์ฟันแทะ (Rodent) ซึ่งมีอวัยวะสำคัญในจมูกที่เรียกว่า Vomeronasal organ หรือ VNO ฟีโรโมนจากปัสสาวะจะมีความสำคัญมาก เพราะมันเป็นสิ่งที่ชี้นำการใช้ชีวิตในกลุ่มสังคมของพวกมัน เมื่อมันพบปะกับตัวอื่นๆ มันก็สามารถรู้เพศของตัวนั้นๆ ได้ทันที และจะนำมาซึ่งการจับคู่ในลำดับต่อไป สัตว์ฟันแทะจะมีฟีโรโมนที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย เมื่อถึงเวลาเลือกคู่ มันจะหลีกเลี่ยงคู่ที่มีกลิ่นฟีโรโมนใกล้เคียงกับมัน เพราะต้องการให้ลูกๆ ที่เกิดมาแข็งแรง สดใส ห่างไกลโรค (เช่นเดียวกับลูกมนุษย์) อย่างไรก็ตาม ในพวกเราเหล่ามนุษย์ การที่จะประทับใจใครสักคนด้วยการสูดกลิ่นฟีโรโมนจากปัสสาวะเฉกเช่นเดียวกับหนู มันออกจะเกินงามไปสักหน่อย นักวิทยาศาสตร์บอกว่าแค่ฟีโรโมนจากเหงื่อก็สะกิดเราให้รู้ตัวได้แล้ว

เคล้าส์ เวเดไคนด์ จากมหาวิทยาลัยเบิร์น ในสวิตเซอร์แลนด์ ทำการทดลองเพี้ยนๆ ขึ้น โดยขอให้ผู้หญิงกลุ่มหนึ่งสูดดมเสื้อที่ยังไม่ได้ซักและเต็มไปด้วยกลิ่นเหงื่อจากผู้ชายหลายคน ปรากฏว่าผู้หญิงแต่ละคนจะประทับใจในกลิ่นเหงื่อของผู้ชายที่มีระบบภูมิคุ้มกันที่แตกต่างจากพวกเธอ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีที่เกิดขึ้นกับสัตว์ฟันแทะ ผลการศึกษาเสื้อยืดอาบเหงื่อเวอร์ชันของ ดร.มาร์ธา แม็คคลินทอค จากมหาวิทยาลัยแห่งชิคาโก บอกว่าผู้หญิงมักจะสนใจผู้ชายที่มีกลิ่นคล้ายพ่อของตัวเอง ทั้งนี้ด้วยเหตุผล (ที่ไม่ค่อยเห็นแก่ตัวสักเท่าไหร่เลย) ว่าผู้ชายเหล่านี้น่าจะมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดี (เหมือนที่เธอได้รับจากพ่อ) และเขาก็ไม่ใช่คนในตระกูล แม้ว่าเธอจะมั่นใจว่าตระกูลของเธออุดมสมบูรณ์ไปด้วยยีนที่ดีเลิศ แต่การแต่งงานกันในวงศ์ญาตินั้นเสี่ยงเกินไปที่จะเลือกปฏิบัติ เพราะนอกจากจะทำให้ลูกที่เกิดมาอ่อนแอหรือถึงตายได้แล้ว ยังอาจทำให้ลักษณะเด่นบางประการหายไป และยังทำให้ความสมบูรณ์ของพันธุ์ลดต่ำลงได้ในรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นไปตามกฎแห่งพันธุกรรม ดังนั้นการเลือกชายที่มีความใกล้เคียงกับพ่อของเธอจึงเป็นทางออกที่สดใสกว่า เพราะนอกจากจะน่ายินดีที่ได้ยีนดีแล้ว ชายนอกตระกูลผู้นั้นยังน่าจะมียีนดีๆ อื่นๆ อยู่ในตัวอีกด้วย กลยุทธ์นี้ช่วยสร้างสมดุลระหว่างความเสี่ยงของการผสมนอกสายสัมพันธ์และความอันตรายของการผสมในสายสัมพันธ์ได้อย่างลงตัวที่สุด

บทส่งท้าย

มีคน (คาดว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์) ให้นิยามของความรักว่า “ความรักเป็นปฏิกริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเพื่อตอบสนองความต้องการทางพันธุกรรมกับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม” ไม่ว่ารักจะเป็นอะไรก็ตามในความคิดของคน และแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะสรรหาข้อเท็จจริงมากมายมาเฉลยปริศนาแห่งรักให้เรารู้ได้ เราก็ต้องเข้าใจอยู่เสมอว่ารักเกี่ยวพันกับสิ่งต่างๆ มากมาย ไม่ใช่แค่วิทยาศาสตร์ แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม รวมทั้งการเรียนรู้ด้วย ความรักเติบโตขึ้นพร้อมๆ กับเรา โดยประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เรารู้จักเลือกที่จะรัก รู้จักหยุดเพื่อที่จะเริ่มใหม่ และรู้จักสร้างเงื่อนไขเพื่อให้ได้มาซึ่งการดำรงพันธุ์ที่เหมาะสม แม้ว่าปริศนาบางอย่างในโลกแห่งรักจะถูกไขกระจ่างโดยนักวิทยาศาสตร์ ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อจากนี้ไปเราจะรักกันด้วยเทคโนโลยี การปล่อยให้ความรักดำเนินไปตามครรลองของมันน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า