'ธีระเกียรติ' กำชับ ศธภ.และ ศธจ.ทำงานเชิงรุก ลั่นสร้างเกณฑ์ชี้วัดคุณภาพให้ประเมินตนเองได้รู้จุดอ่อน จุดแข็ง การทำงาน ด้าน 'โกศล' ย้ำ อยากเห็น ศธภ.-ศธจ.ยุคใหม่ปราศจากการทุจริต
วันนี้ (14 มิ.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ มีการประชุมพัฒนาผู้บริหารสำนักงานศึกษาธิการภาค (ศธภ.) และ สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.ศธ.) โดย นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การปฎิรูปการศึกษาในระดับภูมิภาคด้วยการมี ศธภ.และ ศธจ.นั้น ตนมีความกังวลเกิดขึ้น เพราะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่าเกิดความแตกแยกกันเองใน ศธ.ระหว่าง สป.ศธ. กับ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) อีกทั้งการมี ศธภ.และ ศธจ.อาจไม่เกิดประโยชน์ต่อการจัดการศึกษา แต่เมื่อเดินหน้ามาถึงจุดนี้แล้วตนเชื่อว่า ศธภ.และ ศธจ.จะร่วมบูรณการการทำงานกับทุกฝ่ายได้อย่างมีคุณภาพ
รมว.ศธ.กล่าวต่อไปว่า ตนมีความคาดหวังต่อ ศธภ.และ ศธจ.ว่าจะต้องสร้างสิ่งใหม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเรื่องการศึกษาให้ได้ ซึ่งจะมีตัวชี้วัดคุณภาพและเกณฑ์การประเมินตนเองให้แก่ ศธภ.และ ศธจ.ด้วย เพราะจะสามารถทราบถึงสมรรถนะ จุดอ่อน จุดแข็ง ของตนเอง สำหรับบทบาทหน้าที่ของ ศธภ.และ ศธจ.นั้นจะต้องติดตาม ประเมินผล และตรวจสอบ พร้อมกับส่งเสริมงานวิชาการ รวมถึงการจัดทำแผนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 อีกทั้งการประเมินคุณภาพภายนอกรอบ 4 ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และการประเมินคุณภาพภายในของสถานศึกษา ซึ่งขณะนี้ ศธ.ได้ร่างแก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพการศึกษา พ.ศ.2553 ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.)แล้ว และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเมื่อผ่านการรับฟังความคิดเห็นก็จะนำเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบและประกาศใช้ต่อไป คาดว่าจะดำเนินการได้ทันในปีงบประมาณ 2561 จึงเท่ากับว่าจากนี้ไป ศธภ.และ ศธจ.จะต้องทำงานหนักขึ้น ต้องทำงานเชิงรุกและเป็นระบบให้มากขึ้น
" สำหรับการประเมินคุณภาพภายในสถานศึกษารูปแบบใหม่ คือ สถานศึกษาจะเป็นผู้กำหนดมาตรฐานที่ใช้ในการประเมินเอง ไม่มีการลงไปประเมินซ้ำซ้อน จาก ศธ. และขอย้ำว่าอย่าไปหลงเชื่อว่ามีการรับจ้างประเมิน เมื่อสถานศึกษาประเมินตนเองแล้วก็จะส่งผลการประเมินมายังคณะกรรมการที่จะลงไปตรวจสอบ โดย ศธ.จะเป็นผู้สนับสนุนและกำกับติดตามเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการที่ลงไปตรวจสอบจะมาจาก 3 กลุ่มใหญ่ คือ ผู้แทนจาก สมศ. ศธภ.และ ผอ.โรงเรียน ที่มีความเป็นอิสระ ซึ่งผลประเมินนอกจากจะเป็นกัลยามิตรแล้ว ยังจะทำให้เกิดการกำกับเกิดขึ้นได้ จะไม่มีการสั่งให้ครูใช้เวลานั่งทำตัวชี้วัด แบบเยอะๆเหมือนที่ผ่านมา นอกจากนี้จะมีการปรับหลักเกณฑ์การสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัด สพฐ. โดยให้มีหน่วยงานกลางออกข้อสอบ เช่นเดียวกับการสอบข้าราชการพลเรือน ของ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน(ก.พ.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ โดยจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2560 เพื่อเริ่มใช้ในการคัดเลือกครูผู้ช่วยในปี 2561 ด้วย" รมว.ศธ.กล่าว
ด้าน พล.ท.โกศล ประทุมชาติ ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวว่า ขอให้ ศธภ.และ ศธจ.ยุคใหม่ ทำงานให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นต้นแบบการปราบทุจริต ต้องเข้ามาไล่คนไม่ดีให้หมดไปจากการศึกษา ดังนั้น ขอให้ทุกคนทำงานอย่างโปร่งใส มีความยุติธรรม และตรวจสอบได้ ซึ่งตนเชื่อว่าหากเราป้องกันการทุจริตได้ตั้งแต่ขั้นตอนนี้หน่วยงานระดับล่างลงไปก็จะไม่มีใครกล้าทำเรื่องทุจริตอย่างแน่นอน อีกทั้งในคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด (กศจ.) มีผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆเข้ามาเป็นกรรมการอย่างหลากหลาย จึงทำให้มีการคานอำนาจกัน ซึ่งไม่เหมือนสมัยก่อนที่มี อ.ก.ค.ศ.เขตพื้นที่การศึกษา จนทำให้มีการทุจริตเกิดขึ้น.
ขอบคุณที่มาเนื้อหาข่าวจาก เดลินิวส์ วันพุธที่ 14 มิถุนายน 2560 เวลา 14.07 น.