บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างและหาค่าประสิทธิภาพของแผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรีให้มีประสิทธิภาพ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา 3) เพื่อเปรียบเทียบพหุปัญญาของนักเรียนก่อนและหลังการสอนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา
ประชากรเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการเรียน ศิลป์ – คำนวณ ปีการศึกษา 2550 จำนวน 10 ห้อง ทั้งหมด 342 คน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 แผนการเรียนศิลป์-คำนวณ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2550 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 1 จำนวน 36 คน ที่ได้จากการสุ่มอย่างง่ายด้วยการจับสลากเลือกห้อง เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบสำรวจพหุปัญญาด้วยตนเองของผู้เรียน และ แบบประเมินความพึงพอใจที่มีต่อการเรียนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีพหุปัญญา เวลาที่ใช้ทำการสอนทั้งหมด 23 ชั่วโมง แบบแผนการทดลองครั้งนี้เป็นแบบ One-Group Pretest-Posttest Design และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยทดสอบค่าสถิติ t-test Dependent
ผลการศึกษาพบว่า
1. แผนการจัดการเรียนรู้ รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี ในภาพรวมมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ 80/80 มีค่าประสิทธิภาพโดยรวมเป็น 87.92/85.91 เป็นไปตามสมติฐานข้อที่ 1
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ ของกลุ่มตัวอย่างก่อนและหลัง ได้รับการสอนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี สูงกว่าก่อนเรียน และมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ไปตามสมมติฐานข้อที่ 2
3. นักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ได้สำรวจตนเองเกี่ยวกับความสามารถ / พหุปัญญา ทั้ง 8 ด้าน ของตนเอง ในภาพรวมประเมิน พบว่า หลังเรียนโดยแผนการจัดการเรียนรู้ ตามทฤษฎีพหุปัญญานักเรียนมีแนวความคิดเกี่ยวกับความสามารถ/ พหุปัญญาในทุกด้านของตนเองเปลี่ยนไปในทิศทางที่ได้รับการพัฒนามากขึ้นกว่าก่อนการเรียน
4. ภายหลังจากได้รับการสอนด้วยแผนการจัดการเรียนรู้รายวิชาการอ่านเชิงวิเคราะห์ โดยใช้ทฤษฎีพหุปัญญา ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในระดับในระดับมากที่สุด (มีค่าเฉลี่ยคิดเป็น 4.79 และมีค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานเป็น 0.41) ภายหลังที่ได้เรียนโดยแผนการจัดการเรียนรู้ตามทฤษฎีพหุปัญญา