เด็กไทยเขียนเรซูเม่ไม่เป็นหรือตลาดแรงงานไม่มีตำแหน่งว่าง
ปัญหาการตกงานที่ต้องแก้ไข
หนึ่งปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขของประเทศไทยที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน คงจะหนีไม่พ้นปัญหาการตกงาน ซึ่งอัตราคนตกงานในปีพ.ศ. 2560 อยู่ที่ 1.2% ของประชากรไทย ซึ่งถือว่ามีจำนวนผู้ตกงานมากกว่า 8 แสนคนทั่วประเทศ
บ่ายวันหนึ่งขณะที่ผมกำลังนั่งทำงานอยู่ที่โต๊ะทำงานที่บริษัท
iPrice ในเมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย คุณปราวีณา ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายบุคคลของบริษัทได้วิ่งเข้ามาถามผมด้วยคำถามที่ผมฟังแล้วก็รู้สึกงงงวย เขาถามว่า“ทำไมเรซูเม่ของนักศึกษาไทยมันง่ายจัง?”ผมยังไม่เข้าใจที่ฝ่ายบุคคลถาม ฝ่ายบุคคลจึงเปิดเรซูเม่ของนักศึกษาที่สมัครเข้ามาทำงานที่บริษัท iPrice ให้ผมดู พวกมันล้วนแล้วแต่เป็นเรซูเม่ที่ไม่มีเนื้อหาใด ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงานได้เลย และที่น่าตกใจก็คือมีใบสมัครเพียง 1.5% ที่มีเนื้อหาครบถ้วนสำหรับการพิจารณาของฝ่ายบุคคล สิ่งที่น่าตกใจไปมากกว่านั้นก็คือนักศึกษาที่ส่งใบสมัครเข้ามาส่วนหนึ่ง พวกเขาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยที่ติดอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย
คุณปราวีณากล่าวว่า “นักศึกษาไทยให้ความสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลส่วนตัวมากเกินไป เช่น ชื่อ, ที่อยู่,งานอดิเรก ข้อมูลเหล่านี้ไม่ใช่ข้อมูลสำคัญที่จะถูกนำมาพิจารณา สิ่งที่บริษัทของเราให้ความสำคัญ คือ ทักษะ, ความสามารถ และความรู้ต่างหาก ”
ข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจ คือ บริษัท Startup ต่างชาติอย่างบริษัท iPrice ซึ่งมีตำแหน่งว่างกว่า 20 ตำแหน่ง แต่ตำแหน่งเหล่านี้ไม่ได้รับการว่าจ้าง ถ้าหากคิดถึงบริษัทที่เป็นองค์กรใหญ่กว่านี้ ตำแหน่งที่รับเข้าทำงานคงมีจำนวนไม่น้อยเช่นกัน หนึ่งเหตุผลที่สามารถอธิบายข้อสันนิษฐานได้เป็นอย่างดี คือ นักศึกษาจบใหม่ที่ส่งใบสมัครเข้าทำงานนั้นไม่สามารถนำเสนอตัวตนและศักยภาพของพวกเขาผ่านทางกระดาษหนึ่งแผ่นได้เลย หรือพวกเขาไม่มีคุณสมบัติมากพอที่จะเข้ามาทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ
“เรซูเม่ที่นักศึกษาไทยส่งมาเมื่อเทียบกับเรซูเม่ของนักศึกษาจากประเทศอื่น ๆ ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นเรซูเม่ของนักศึกษาไทยถือเป็นเรซูเม่ที่ง่ายเกินไป กล่าวคือมีเพียงชื่อของกิจกรรมที่เคยทำเท่านั้น เมื่อเทียบกับนักศึกษาในประเทศอื่น ๆ ซึ่งพวกเขานำเสนอกิจกรรมที่พวกเขาเคยทำได้อย่างน่าสนใจ มีรายละเอียดของกิจกรรมที่เคยทำครบถ้วน และมีการพูดถึงทักษะที่พวกเขาได้รับ”ปราวีณากล่าว
จากประสบการณ์การอ่านเรซูเม่ของผู้สมัครจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราจึงขอแนะนำเคล็ดลับให้กับนักศึกษาไทยที่กำลังจะสมัครงานให้พัฒนาใบสมัครของพวกเขาและวิธีการสมัครดังต่อไปนี้
เขียนเนื้อหาให้ครบถ้วน
รูปแบบการเขียนเรซูเม่ของนักศึกษาไทยที่ไม่สามารถใช้ประกอบการตัดสินใจได้เลย นั่นคือการเขียนประวัติแบบคร่าว ๆ ซึ่งอาจจะเป็นแบบย่อเกินไปจนไม่สามารถที่จะใช้ข้อมูลในการตัดสินใจอะไรได้เลย
ตัวอย่างเช่น ในการนำเสนอความสามารถและทักษะต่าง ๆ นั้น นักศึกษาไทยนิยมเขียนโปรแกรมที่นักศึกษาสามารถใช้ได้ แต่บริษัทไม่อาจเข้าใจได้เลยว่าโปรแกรมที่พวกเขาสามารถใช้ได้นั้นมีความละเอียดมากน้อยเพียงใด เช่น
ทักษะ: Excel, Word, Powerpoint
ภาษา: อังกฤษ, ไทย
จากข้อมูลข้างต้น ทักษะประเภท Excel, Word และ Powerpoint นั้นควรเป็นทักษะพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี ไม่จำเป็นต้องใส่ในเรซูเม่ก็ได้ แต่ถ้าหากคุณมีทักษะขั้นสูงสำหรับ Excel นั่นคือสิ่งที่คุณควรจะใส่ลงไป หรือถ้าหากคุณเรียนรู้โปรแกรมเฉพาะที่พิเศษกว่าคนอื่น ๆ เช่น Google Analytics สิ่งนี้จะช่วยให้เรซูเม่ของคุณโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่น
นอกจากนี้การเขียนกิจกรรมในมหาวิทยาลัยที่พวกเขาได้เข้าร่วมนั้นมีเพียงชื่อของกิจกรรม แต่ฝ่ายบุคคลไม่สามารถรู้ได้เลยว่ากิจกรรมเหล่านั้นพัฒนาศักยภาพของผู้สมัครไปในทิศทางใด ถึงแม้จะมีกิจกรรมเจ๋ง ๆ มากมายบนใบสมัครของคุณ แต่ถ้าหากมันไม่สามารถบอกถึงความสามารถที่คุณมี ใบสมัครก็คงไม่ได้รับการพิจารณาอย่างแน่นอน
ทางบริษัทเข้าใจข้อจำกัดของนักศึกษาไทยคือภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาหลักในการสื่อสาร สิ่งที่นักศึกษาจะต้องทำก็คือการเพิ่มข้อมูลประวัติและกิจกรรมของคุณให้ครบ อย่าวิตกว่าจะใช้ภาษาอังกฤษถูกต้องหรือไม่ อย่าใส่แต่หัวข้อ เช่น ถ้าหากคุณพูดถึงกิจกรรมที่คุณเคยทำในมหาวิทยาลัย คุณจะต้องบอกว่าสิ่งที่คุณทำนั้นพัฒนาทักษะใดของคุณเช่น
· Gold Award Winner of Marketing Research Competition 2016
o Created a marketing research proposal for X company to understand consumer behavior and trends.
o Proposed strategies to improve consumer’s quality of life through a new mobile application channel: shopping-on-the-go.
จากตัวอย่างข้างต้นนี้ บริษัทเห็นว่ากิจกรรมที่คุณทำนั้นทำให้คุณสามารถทำวิจัยการตลาดและเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ที่สำคัญคุณสามารถนำเสนอไอเดียและกลยุทธ์ใหม่ ๆ จากข้อมูลที่คุณวิเคราะห์ไปข้างต้นได้
“นักศึกษาไทย 7 คนจาก 10 คนนิยมส่งเรซูเม่ที่แนบรูปภาพที่ไม่เป็นทางการ อย่างเช่นรูปเซลฟี่หรือรูปขณะไปท่องเที่ยว ซึ่งถ้าหากไม่มีรูปภาพที่เป็นทางการแล้ว นักศึกษาก็ไม่ควรใส่รูปภาพเลยด้วยซ้ำ”นี่เป็นอีกหนึ่งข้อผิดพลาดที่นักศึกษาควรนำไปปรับปรุงเพื่อทำให้เนื้อหาของเรซูเม่ดีขึ้น
การส่งอีเมลที่เหมาะสม
การส่งใบสมัครผ่านทางอีเมลโดยตรงหรือผ่านทางเว็บไซต์สมัครงานจะต้องเขียนเกริ่นนำที่มีความเหมาะสม นักศึกษาไทยจำนวนมากเขียนอีเมลโดยเพียงบอกแต่ว่า “สมัครงานค่ะ ฝากพิจารณาด้วยนะคะ”หรือ “ผมสนใจในตำแหน่งการตลาดครับ ฝากพิจารณาใบสมัครด้วยนะครับ”
การเริ่มต้นอีเมลในรูปแบบนี้คงไม่ดีนัก สิ่งที่ทางบริษัทอยากจะแนะนำกับนักศึกษาคือต้องรู้จักการเขียนอีเมลที่เตะตากรรมการและเป็นมิตรต่อผู้อ่าน อีเมลที่มีเนื้อหาที่เหมาะสมประกอบไปด้วยการบอกจุดประสงค์ของอีเมลและการแนะนำตัว เช่น
หัวข้ออีเมล : สมัครงานตำแหน่งการตลาดออนไลน์
สวัสดีครับ(ชื่อผู้รับสมัครหรือบริษัทที่เปิดรับสมัคร)
สวัสดีครับผมชื่อนายก. เรียนอยู่ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ผมทราบว่าบริษัทของคุณได้เปิดรับสมัครตำแหน่งการตลาดออนไลน์จำนวนหนึ่งตำแหน่งเนื่องจากผมศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 เมเจอร์การตลาดผมจึงมีความสนใจอย่างมากที่จะเข้าร่วมทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของทีมครับ (ในส่วนนี้ให้บ่งบอกถึงความสนใจในตัวงาน)
ผมแนบใบสมัคร,เรซูเม่ และCV ของผมมาพร้อมอีเมลฉบับนี้
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าผมจะได้รับการพิจารณาและได้รับโอกาสได้เข้าพูดคุยกับคุณในโอกาสต่อไป
ขอบพระคุณอย่างสูง
นายก.
เพียงการเขียนอีเมลแนะนำตัวเองง่าย ๆ เท่านี้ ก็จะทำให้บริษัทเห็นว่าคุณสามารถแนะนำตัวเองให้บริษัทจดจำได้ และที่สำคัญบริษัทก็พร้อมที่จะเปิดเรซูเม่ของคุณขึ้นมาพิจารณาอย่างแน่นอน
CV ต้องมีแต่อย่าหว่าน
CV คือหนึ่งสิ่งที่นักศึกษาไทยมักไม่ให้ความสนใจ พวกเขามักคิดว่าเพียงเรซูเม่น่าจะพอสำหรับการใช้ตัดสินใจ เราได้กล่าวไปข้างต้นแล้วว่าเรซูเม่ที่นักศึกษาส่งเข้ามานั้น มีเพียงไม่ถึง 2% ที่จะได้รับการพิจารณาเนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น CV จึงเข้ามามีบทบาทในการช่วยตัดสินใจได้มากขึ้น
จุดประสงค์หลักของ CVคือการบอกเล่าเรื่องราวของผู้สมัครและจุดประสงค์ในการเข้าทำงานในตำแหน่งนั้น ๆ ซึ่งนักศึกษาต้องจำไว้เลยว่า CV ต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับตำแหน่งที่คุณสมัคร ข้อมูลที่สำคัญที่คุณควรจะใส่ใน CV มีดังต่อไปนี้
ย่อหน้าแรกควรบอกเล่าถึงตัวของคุณ เช่น ชื่อ, สถานศึกษา, ตำแหน่งที่สนใจ
ย่อหน้าที่สองต้องเปลี่ยนเนื้อหาให้มีความเหมาะสมกับบริษัทหรือตำแหน่งที่สมัคร ถ้าหากคุณสมัครเข้ามาทำงานในตำแหน่ง Content Marketing คุณจะต้องบอกเล่าประสบการณ์การทำงานในด้านการตลาดที่ผ่านมา และที่สำคัญคือประสบการณ์เหล่านั้นจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทที่คุณสมัครได้อย่างไร
ย่อหน้าสุดท้ายคือการขอบคุณสำหรับเวลาที่บริษัทได้พิจารณาประวัติของคุณ และคุณสามารถลงท้ายด้วยการขอให้พวกเขาพิจารณาอย่างเต็มที่
เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าถ้าหากนักศึกษาไทยสามารถปรับปรุงการเขียนเรซูเม่, CV และอีเมลให้มีเนื้อหาที่เหมาะสมแล้วนั้น โอกาสในการได้รับเข้าสัมภาษณ์งานย่อมเพิ่มขึ้นสูงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากความสามารถและศักยภาพของนักศึกษาไทยนั้นไม่ด้อยไปกว่านักศึกษาในประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เลย
กันต์พจน์ สุริวงศ์ Senior Content Marketing Executive บริษัท
iPrice