“ผู้ที่เป็นครูจะต้องถือเป็นหน้าที่อันดับแรก ที่จะต้องให้การศึกษา คือ สั่งสอนอบรมอนุชนให้ได้ผลแท้จริง ทั้งในด้านวิชาความรู้ ทั้งในด้านจิตใจ และความประพฤติ ทั้งต้องคิดว่างานที่แต่ละคนกำลังทำอยู่นี้คือความเป็นความตายของประเทศ เพราะอนุชนที่มีความรู้ความดีเท่านั้นที่จะรักษาชาติบ้านเมืองไว้ได้”
พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เมื่อปีพุทธศักราช 2515 ที่เปรียบดั่งแสงเทียนนำทางของ “นางเบญจมาศ วัยนิพิธพงษ์” หรือ “ครูต้า” ผู้ที่ไม่เคยคิดอยากจะเป็นครู ได้กลายเป็นแม่พิมพ์เนื้อแท้ผู้ถ่ายทอดความรู้ในตำราและวิชาชีวิตให้แก่ลูกศิษย์มายาวนานถึง 30 ปี อีกทั้งยังได้ตั้งปณิธานไว้ว่า “โรงเรียนบ้านห้วยกบ” ณ อำเภอสังขละบุรีแห่งนี้ นอกจากจะเป็นโรงเรียนแห่งแรกในชีวิตความเป็นครู ที่นี่จะเป็นบ้านหลังสุดท้ายของครูต้าที่พร้อมจะบ่มเพาะเด็กด้อยโอกาสทุกชนชาติด้วยการศึกษาอย่างเท่าเทียมจนกว่าจะถึงวันเกษียณอายุราชการในอีก 8 ปีข้างหน้า
ย้อนไปปีพ.ศ.2529 โรงเรียนบ้านห้วยกบ ตั้งอยู่ชายแดนไทย-เมียนมา ไกลจากตัวเมืองกาญจนบุรีถึง 240 กิโลเมตร ด้วยความทุรกันดาร การคมนาคมที่ไม่สะดวก อีกทั้งมีการสู้รบของชนกลุ่มน้อย และการระบาดของไข้มาลาเรีย ส่งผลให้โรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ประสบกับความยากลำบากในการบริหารงานและการจัดการเรียนการสอน ปัญหาใหญ่คือการขาดแคลนครูมาตลอดนับตั้งแต่จัดตั้ง แต่ในที่สุดปีพ.ศ.2530 โรงเรียนก็ได้เปิดประตูต้อนรับ “ครูต้า” บัณฑิตไฟแรงจากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ซึ่งไม่เคยคิดอยากเป็นครู
“ตั้งแต่เด็กจนกระทั่งเรียนจบมัธยมปลาย ไม่เคยมีความคิดอยากเป็นครูแม้แต่ครั้งเดียว เพราะจากที่ตนเองประสบมา ครูผู้ใหญ่บางคนมักสั่งให้บีบนวด หาผมขาว รูปร่างไม่คล่องตัว ส่วนครูหนุ่มสาวไฟแรงแต่งตัวสวยงาม ก็จะเปลี่ยนหมุนเวียนมาสอนแล้วย้ายจากไป บางท่านก็เหมือนมีภารกิจเร่งรีบตลอดเวลา ส่วนตัวจึงรู้สึกกลัวครู และเห็นว่าครูเป็นบุคคลที่ต้องเคารพไม่สามารถคุยเล่นด้วยได้ แต่ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีได้มีโอกาสร่วมกิจกรรมค่ายอาสาพัฒนามาโดยตลอด ก็พบว่าตนเองมีความสุขกับการช่วยสอนหนังสือให้เด็กด้อยโอกาสที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล เมื่อเรียนจบจึงมุ่งมั่นสอบบรรจุเป็นข้าราชการครูได้เป็นผลสำเร็จ และเลือกมาสอนที่โรงเรียนบ้านห้วยกบทันที เพราะทราบว่าเป็นโรงเรียนชายแดนที่ขาดแคลนครู ทั้งที่ตนเองเป็นคนราชบุรี”
ครูต้าเล่าย้อนถึงบรรยากาศการสอนในปีแรกว่า เป็นช่วงที่ประสบความยากลำบากในทุกเรื่อง ในแต่ละวันจะได้ยินเสียงปืนสู้รบอยู่ตลอด ต้องรับประทานยาเม็ดใหญ่ป้องกันไข้มาลาเรีย นักเรียนก็เป็นเด็กไร้รัฐทั้งชาติพันธุ์กะเหรี่ยง มอญ และผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า ซึ่งล้วนแต่มีวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมที่หลากหลาย และเกือบทั้งหมดมาจากครอบครัวยากจน เพราะผู้ปกครองของเด็กส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้แรงงาน บางคนมีอาชีพหาของป่า ความยากลำบากที่อยู่เบื้องหน้าไม่ทำให้ท้อแท้ถอดใจ แต่กลับเป็นแรงผลักดันให้ครูต้ามุ่งมั่นในความครูยิ่งขึ้น โดยหลังจากที่สอนได้เพียง 3 ปี ครูต้าได้ลาศึกษาต่อที่คณะศิลปะศาสตร์ สาขาภาษาศาสตร์ วิชาเอกภาษาไทย ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทำวิทยานิพนธ์เรื่อง “การใช้โครงสร้างภาษาไทยของเด็กกะเหรี่ยงโป” เพื่อหาหนทางแก้ปัญหาการใช้ภาษาไทยให้แก่เด็กๆ
“เด็กนักเรียนที่นี่มาจากหลากหลายชาติพันธุ์ ไม่ใช้ภาษาไทยในชีวิตประจำวัน ปัญหาเรื่องการสื่อสารจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องรีบแก้ไขเป็นอันดับแรกๆ เพราะหากสื่อสารกันไม่ได้ เด็กก็จะไม่เข้าใจในสิ่งที่ครูสอน แต่ด้วยความที่ครูจบเอกภาษาไทย จึงมีเทคนิคการสอนและฝึกทักษะให้เด็กสามารถสื่อสารภาษาไทยได้ชัดเจนถูกต้องทั้งการอ่าน การเขียนและการพูด เพราะในที่สุดภาษาไทยจะเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองในวิชาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี โดยครูจะจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้แก่เด็กควบคู่ไปกับการปลูกฝังคุณธรรมที่เน้นการปฏิบัติจริงไปพร้อมๆ กัน”
เพื่อให้การศึกษาครอบคลุมถึงเด็กที่บ้านอยู่ไกลติดชายขอบและไม่สามารถไป-กลับโรงเรียนได้ใน 1 วัน ครูต้าจึงได้ผลักดันให้เกิด “ห้องเรียนสาขาบ้านปะไรโหนก” เพื่อแก้ปัญหาเด็กชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งยังเป็นเด็กอายุน้อยที่ไม่สามารถอยู่บ้านพักในโรงเรียนได้เพราะยังเล็กและติดพ่อแม่ โดยให้ครูเดินทางข้ามภูเขาสูงชันไปสอนแทนการให้นักเรียนเดินลงมา ซึ่งปัจจุบันห้องเรียนสาขามีการจัดการศึกษาครบทุกระดับตั้งแต่ชั้นอนุบาล 1 ถึง ป.6 ในขณะเดียวกันที่โรงเรียนยังได้จัดทำบ้านพักภายในโรงเรียนให้นักเรียนบ้านไกลได้อาศัยพักกินนอนโดยมีครูผลัดเปลี่ยนดูแลกันอย่างใกล้ชิด
“โอกาสทางการศึกษาจะช่วยให้ชีวิตของเด็กเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น แต่ความยากจนคืออุปสรรคสำคัญที่ทำให้เด็กหลายคนหมดโอกาสศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ครูจึงเบนเข็มให้เด็กได้มีทักษะในการดำรงชีวิตเพิ่ม โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาบ่มเพาะเด็กๆ ให้มีคุณลักษณะของการอยู่อย่างพอเพียง พร้อมฝึกสอนอาชีพให้เพิ่มเติม เช่น การทำเกษตรกรรม การทำไม้กวาดดอกหญ้า ฯลฯ ช่วยให้เด็กมีภูมิคุ้มกันชีวิต สามารถดำเนินชีวิตได้โดยไม่เป็นภาระสังคม และไม่ต้องระเหเร่ร่อนไปทำงานต่างถิ่น หรือถ้าเด็กคนใดมุ่งมั่นที่จะเรียนต่อแต่ครอบครัวยากจนไม่สนับสนุน ครูก็จะใช้ทุนทรัพย์ส่วนตัวส่งเสียให้เอง” ครูต้าอธิบาย
ด้วยจิตวิญญาณความเป็นครู ครูต้าได้ทุ่มเทชีวิตและจิตใจในการสอนทั้งด้านทฤษฎีและภาคปฏิบัติ อีกทั้งยังให้ความเมตตาศิษย์เปรียบเสมือนมารดาที่รักและดูแลเอาใจใส่ลูกอย่างเสมอภาคเท่าเทียมกัน ไม่เลือกชนชาติ ศาสนา ด้วยความหวังว่าลูกศิษย์จะเป็นคนดี มีความรู้และมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งการครองตน ครองคน และครองงานทั้งหมด ได้ปรากฏเป็นภาพชัดในสายตาของครูและลูกศิษย์หลายคน ในที่สุดแบบอย่างอันงดงามของครูต้า ได้นำพาศิษย์เก่าหลายคนกลับมาทำหน้าที่เรือจ้างลำใหม่เพื่อมอบโอกาสทางการศึกษาให้แก่เด็กรุ่นต่อไปเหมือนอย่างที่ตนเองเคยได้รับโอกาสนั้นมาก่อน
หนึ่งในนั้นคือ นายพอเจต จำปาทอง อายุ 33 ปี ศิษย์เก่าของโรงเรียนบ้านห้วยกบ ที่ปัจจุบันคือ “ครูเจต” ได้ถึงภาพประทับใจที่จำได้ไม่มีวันลืมว่า ครูต้าคือครูหญิงคนแรกที่ฝ่าฟันความลำบากเข้ามาสอนหนังสือให้กับตนเองและเพื่อนๆ ทุกๆ วันครูต้าจะมาถึงโรงเรียนเป็นคนแรกและกลับที่พักเป็นคนสุดท้าย ที่สำคัญคือครูต้าจะเป็นที่ปรึกษาให้กับลูกศิษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องใดก็ตาม แต่หลังจากที่จบชั้นประถมศึกษาและได้เรียนต่อจนถึงระดับปริญญาตรีตนก็เลือกเรียนในสาขาวิชาช่างยนต์ และไม่ได้คิดว่าจะกลับมาเป็นครู
“ช่วงที่กำลังเรียนปริญญาตรีปี 3 เทอมที่ 2 ผมบังเอิญได้พบครูต้า ท่านนั่งอยู่ใต้ต้นไม้กำลังทานข้าวอยู่เงียบๆ ท่านกลางอากาศที่ร้อนมาก ซึ่งในวันนั้นครูต้าได้พาน้องๆ นักเรียนมาออกร้านจำหน่ายไม้กวาดเพื่อหารายได้พิเศษ ซึ่งจริงๆ ท่านแค่สอนหนังสืออย่างเดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมาลำบากขนาดนี้ ผมจึงฉุกคิดได้ว่าท่านเป็นคนมาจากต่างถิ่นแต่กลับทุ่มเทพัฒนาลูกศิษย์อย่างเต็มที่ แล้วตนเองทำไมถึงไม่กลับไปทำประโยชน์ให้กับบ้านของตนเอง เมื่อคิดได้ดังนั้นหลังจากจบปริญญาตรีจึงได้เรียนต่อในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครู และกลับมาเป็นครูอัตราจ้างสอนที่สาขาปะไรโหนก และในที่สุดก็สอบบรรจุได้เป็นข้าราชครูกลับมาสอนเด็กๆ ที่บ้านห้วยกบตามที่ตั้งใจไว้ โดยมีครูต้าเป็นแบบอย่างที่ผมจะดำเนินรอยตามอย่างดีที่สุด” ครูเจตกล่าวความในใจ
ปัจจุบัน ครูต้า ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านห้วยกบมาได้ 2 ปีแล้ว ซึ่งเป้าหมายในการสอบคัดเลือกเป็นผู้บริหารนั้นไม่ใช่เพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน แต่ครูต้ามีความคาดหวังสูงสุดว่า อายุราชการที่เหลือเพียง 8 ปีนับจากนี้ โรงเรียนบ้านห้วยกบจะได้รับการวางรากฐานและแนวทางการบริหารจัดการที่ดี รวมถึงแนวทางการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมไว้เป็นเครื่องมือให้แก่ครูรุ่นหลังได้สืบสานต่อเพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกศิษย์ และในการที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นหนึ่งใน “ครูผู้สมควรได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” ประจำปี 2560 นั้นนับเป็นเกียรติแก่วงศ์ตระกูลของตนเอง รวมถึงครูและเด็กๆ ทุกคนของโรงเรียนบ้านห้วยกบอย่างยิ่ง
“ตลอดชีวิตของการเป็นครูไปจนกว่าจะหมดลมหายใจ ครูจะบำเพ็ญประโยชน์ให้แก่วงการศึกษาในทุกวิถีทางที่ทำได้ ด้วยการบ่มเพาะให้ลูกศิษย์เป็นคนดี ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง รู้จักคิดและปฏิบัติอย่างพอประมาณ โดยเฉพาะเด็กไร้รัฐให้มีจิตสำนึกรักต่อแผ่นดินไทย กตัญญูรู้คุณแผ่นดินที่ตนได้อาศัยพร้อมส่งต่อแนวคิดและการปฏิบัตินี้ให้กับทุกคนในครอบครัวได้มีจิตสำนึกร่วมกัน” นางเบญจมาศกล่าว
รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี จากมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา และ กระทรวงศึกษาธิการ นับเป็นรางวัลระดับนานาชาติเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระปรีชาด้านการศึกษา โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชานุญาตตั้งนาม “รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหาจักรี” เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติครูผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในชีวิตลูกศิษย์ สร้างคุณประโยชน์ต่อการศึกษาในประเทศต่างๆ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และติมอร์ เลสเต รวม 11 ประเทศ ประเทศละ 1 รางวัล โดยจัดมอบรางวัลในทุก 2 ปี ซึ่งในปีนี้นับเป็นครั้งที่ 2 โดยจะพระราชทานรางวัลในวันที่ 11 ตุลาคม 2560
ขอบคุณข้อมูลจาก hommali.p@gmail.com